“เต็งเส่ง” หนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางซูจีนั่งเก้าอี้ ปธน.
เอเอฟพี - ผู้นำพม่าในวันนี้ (2 ม.ค.) กล่าวให้การสนับสนุนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารของพม่า ที่จะยังเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนุญาตให้นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน สามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้
เต็งเส่ง อดีตนายพลที่ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศนับตั้งแต่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2554 กล่าวว่า การอภิปรายโต้เถียงกันอย่างแข็งขันเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายแสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น
“ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่ดีต้องได้รับการแก้ไขจากช่วงเวลาหนึ่งสู่ช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อสนองตอบความต้องการของชาติ เศรษฐกิจ และสังคมของสังคมเรา” หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์รายงานคำกล่าวของประธานาธิบดีเต็งเส่ง
ผู้นำพม่ายังสนับสนุนให้มีการแก้ไขบทบัญญัติที่ระบุห้ามบุคคลที่มีคู่สมรส หรือบุตรเป็นพลเมืองต่างชาติขึ้นเป็นประธานาธิบดี ซึ่งบทบัญญัตินี้เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่ามีเป้าหมายอยู่ที่นางอองซานซูจี ซึ่งมีบุตรชายเป็นชาวอังกฤษ
“ผมไม่ต้องการข้อกำหนดที่จำกัดสิทธิพลเมืองไม่ว่าบุคคลใดก็ตามในการขึ้นเป็นผู้นำประเทศ” เต็งเส่ง กล่าว
ซูจี รณรงค์อย่างหนักให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ซึ่งกันที่นั่ง 1 ใน 4 ของที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภาให้แก่นายทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ประเด็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพิ่มสูงขึ้นเมื่อพม่าเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งรัฐสภาปี 2558 ซึ่งถูกมองว่าเป็นการทดสอบว่าทหารจะคลายอำนาจหรือไม่
เมื่อวันเสาร์ (29 ธ.ค.) พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางซูจี ประกาศว่าจะไม่คว่ำบาตรการเลือกตั้งปี 2558 แม้จะยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ซูจีขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ก็ตาม
ซูจี ถูกควบคุมตัวภายในบ้านพักนาน 15 ปี ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ก่อนที่จะได้รับอิสระหลังการเลือกตั้งปี 2553 ที่พรรค NLD คว่ำบาตร
นับตั้งแต่นั้น เต็งเส่ง ได้ผลักดันการปฏิรูปอย่างมาก ที่รวมทั้งการเข้าสู่สภาของซูจี และพรรคของนาง หลังการเลือกตั้งซ่อมในปี 2555
ในคำกล่าวสุนทรพจน์ของเต็งเส่ง ระบุว่า เขามีความพยายามที่จะส่งเสริมความสามัคคีขณะอยู่ในตำแหน่ง แต่เตือนว่า พม่าเสี่ยงที่จะเกิดภาวะชะงักงันทางการเมืองหากความต้องการของประชาชนมากกว่าสิ่งที่ระบบการเมืองในปัจจุบันสามารถรองรับได้
“หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เราอาจสูญเสียเสรีภาพทางการเมืองทั้งหมดที่เรามีจนถึงตอนนี้” เต็งเส่ง กล่าว
คณะทำงานของรัฐสภาในเวลานี้กำลังพิจารณาตรวจสอบรัฐธรรมนูญ และคาดว่าจะรายงานคำแนะนำจากการตรวจสอบได้ในช่วงปลายเดือน ม.ค.
ขอขอบคุณที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์
- สื่อจีนเดือดแนะรัฐให้บทเรียนเวียดนาม เหตุขัดแย้งแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลจีนใต้
- จีน-ลาวหารือสร้างทางรถไฟ
- จีนไม่ล้มแผนส่งแพนด้าให้มาเลย์ แม้เสียงโห่ร้องวิกฤต MH370 ดังกึกก้อง
- จีนสกัดเรือฟิลิปปินส์-อ้างล้ำน่านน้ำ
- 'ฟิลิปปินส์' ยื่นฟ้อง 'จีน' ต่อศาลUNแล้ว หนึ่งวันหลังกองกำลัง 2 ฝ่าย 'เผชิญหน้า' ในทะเลจีนใต้