‘จีน-อาเซียน-ไทย’โวยUS-ออสซี่ใช้‘สถานทูต’ดักฟังทั่วทั้งเอเชีย

     เอเจนซีส์ - จีน ไทย มาเลเซีย รวมถึงอินโดนีเซีย เรียกร้องอเมริกาและพันธมิตรให้ความกระจ่าง หลังมีรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตของสหรัฐฯและของออสเตรเลียในเอเชีย ถูกใช้เป็นศูนย์สอดแนมดักฟังการติดต่อสื่อสารระบบอิเล็กทรอนิกส์

     ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาเล่นงานแดนอินทรี เพราะนอกจากยังแก้ตัวไม่ขึ้นเรื่องดักฟังโทรศัพท์ของผู้นำชาติต่างๆ รวม 35 ชาติแล้ว นิตยสารแดร์ ชปีเกล ของเยอรมนี ยังแฉซ้ำด้วยการเสนอรายงานข่าวในวันอังคาร (29 ต.ค.) ซึ่งอ้างอิงเอกสารลับที่ เอดเวิร์ด สโนว์เดน นำออกมาเปิดโปง พูดถึงโปรแกรมสอดแนมที่ใช้ชื่อรหัสว่า “สเตทรูม” (STATEROOM) โดยมีการใช้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของสหรัฐฯทั่วโลกเป็นสถานที่ในการปฏิบัติการใช้โปรแกรมดักจับสัญญาณวิทยุ, โทรคมนาคม, และอินเทอร์เน็ตนี้ ไม่เพียงเท่านั้น สถานเอกอัครราชทูตและสำนักงานการทูตของอีก 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, อังกฤษ, แคนาดา, นิวซีแลนด์ ซึ่งจับมือเป็นพันธมิตรทางด้านข่าวกรองกับสหรัฐฯ โดยขนานนามว่า “ไฟฟ์ อายส์” (Five Eyes) ก็มีการปฏิบัติการดักฟังด้วยโปรแกรมนี้เช่นกัน

 

     หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิ่งเฮรัลด์ ของออสเตรเลีย ได้เสนอรายงานข่าวในวันอังคารเช่นกัน เปิดโปงขยายเพิ่มเติมว่า เว็บไซต์ของ แดร์ ชปีเกล นั้น ยังได้ตีพิมพ์แผนที่ลับสุดยอดระบุศูนย์สอดแนมอิเล็กทรอนิกส์ที่ตั้งอยู่ตามที่ทำการทางการทูตของสหรัฐฯ 90 แห่งทั่วโลก โดยที่ทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีทั้งที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในกรุงเทพฯ, กัวลาลัมเปอร์, จาการ์ตา, พนมเปญ, และย่างกุ้ง ขณะที่ในเอเชียตะวันออกนั้น สหรัฐฯให้ความสำคัญกับการหาข่าวกรองในจีนเป็นอย่างยิ่ง โดยที่มีศูนย์สเตทรูม ทั้งที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในปักกิ่ง และสถานกงสุลอเมริกันในเซี่ยงไฮ้ และเฉิงตู ตลอดจนในที่ทำการทางการทูตอย่างไม่เป็นทางการของสหรัฐฯที่ไทเป บนเกาะไต้หวันด้วย

     ซิดนีย์มอร์นิ่งเฮรัลด์ ซึ่งเป็นกิจการในเครือ “แฟร์แฟกซ์มีเดีย” ระบุด้วยว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในกรุงเทพฯนั้นยังมีทีมสนับสนุนทางเทคนิค (สำหรับโปรแกรมสเตทรูม) ส่วนที่สถานกงสุลอเมริกันในจังหวัดเชียงใหม่ ก็มีศูนย์ปฏิบัติการสอดแนมอิเล็กทรอนิกส์แบบควบคุมทางไกล

     ต่อมาในวันพฤหัสบดี (31 ต.ค.) ซิดนีย์มอร์นิ่งเฮรัลด์ได้เสนอรายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งอ้างข้อมูลจาก “จอมแฉ” สโนว์เดน และอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของออสเตรเลียรายหนึ่ง บอกว่าสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียหลายแห่งในเอเชีย ก็กำลังถูกใช้เป็นที่ดักจับสัญญาณโทรศัพท์และข้อมูล โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายตามโปรแกรมสเตทรูม เป็นต้นว่า สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียในจาการ์ตา, กรุงเทพฯ, ฮานอย, ปักกิ่ง, และ ดิลี ในติมอร์ตะวันออก รวมทั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ในกัวลาลัมเปอร์, และใน พอร์ต มอร์สบี ในปาปัวนิวกินี

     ภายหลังรายงานข่าวเหล่านี้แพร่ออกไป หลายชาติเอเชียก็ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจ มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ออกคำแถลงในวันพุธ (30 ต.ค.) ระบุว่า อินโดนีเซียรับไม่ได้และคัดค้านอย่างรุนแรงต่อการติดตั้งอุปกรณ์ดักฟังในสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำจาการ์ตา ซึ่งหากเป็นจริง จะถือเป็นการละเมิดความมั่นคง บรรทัดฐานและจรรยาบรรณทางการทูต รวมทั้งจิตวิญญาณของมิตรภาพระหว่างประเทศ

     ขณะที่ หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงในวันพฤหัสบดี (31 ต.ค.) ว่า ปักกิ่งกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับรายงานนี้ และเรียกร้องให้ประเทศที่มีรายชื่อในข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง

     ทางด้าน อาหมัด ซาฮิด ฮามิดี รัฐมนตรีมหาดไทยมาเลเซียกล่าวว่า รัฐบาลกังวลอย่างมากกับรายงานนี้ และจะสอบสวนว่า สถานเอกอัครราชทูตอเมริกันในกัวลาลัมเปอร์ถูกใช้เป็นศูนย์จารกรรมจริงหรือไม่ ขณะที่ฝ่ายค้านแดนเสือเหลืองเรียกร้องให้รัฐบาลยื่นเอกสารประท้วงต่อสถานทูตอเมริกันและออสเตรเลีย

     สำหรับไทย พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงระบุว่า รัฐบาลไทยแจ้งกับอเมริกาว่า การสอดแนมเข้าข่ายผิดกฎหมายของไทย และไทยจะไม่ให้ความร่วมมือหากได้รับการร้องขอให้ช่วยในการดักฟัง

     อย่างไรก็ดี พลโทภราดรไม่เชื่อว่า สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียมีความสามารถในการดำเนินการสอดแนมที่ต้องใช้เทคโนโลยีซับซ้อนได้

 

     ทั้งนี้ตามเอกสารลับ ซึ่ง สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) นำออกมาแฉนั้น มีการระบุว่า ในการแอบสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ในสถานที่ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ทำการทางการทูตนั้น มีการซุกซ่อนอุปกรณ์ดักฟังในรูปแบบต่างๆ เช่น เสาอากาศที่ซ่อนอยู่ในโครงสร้างปลอม และศูนย์ปฏิบัติการก็มักใช้ห้องขนาดเล็กที่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนน้อย โดยเจ้าหน้าที่ในที่ทำการทางการทูตเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ล่วงรู้ภารกิจสอดแนมนี้ด้วยซ้ำ

     ด้าน เดส บอลล์ ศาสตราจารย์จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการทหาร มหาวิทยาลัยแห่งชาติของออสเตรเลีย เผยว่า เคยเห็นเสาอากาศที่ว่าซ่อนอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตของทั้ง 5 ประเทศตามที่ถูกระบุ แต่ปฏิเสธที่จะระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นสถานทูตในประเทศใด บอกเพียงว่า หลายประเทศใช้สถานทูตเป็นฐานดักฟังโทรศัพท์กันมานานแล้ว

     ส่วนนายกรัฐมนตรีโทนี แอ็บบอตต์ของออสเตรเลียกล่าวถึงเรื่องนี้เพียงว่า หน่วยงานทุกแห่งและเจ้าหน้าที่ทุกคนของรัฐบาลออสเตรเลียไม่ได้ละเมิดกฎหมายใดๆ

     ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์รายงานในวันพุธ (30 ต.ค.) ว่า เอ็นเอสเอร่วมกับ จีซีเอชคิว ที่เป็นหน่วยงานความมั่นคงของอังกฤษ ได้แอบแฮกศูนย์ข้อมูลทั่วโลกของยาฮูและกูเกิล ภายใต้โปรแกรมที่ใช้ชื่อว่า “มัสคูลาร์” (MUSCULAR) ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลจากเครือข่ายใยแก้วนำแสงที่บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของอเมริกา 2 รายนี้ใช้อยู่ได้โดยตรง

     รายงานยังระบุว่า โปรแกรมมัสคูลาร์นี้ต่างจาก “ปริซึม” (PRISM) ซึ่งเป็นโปรแกรมสอดแนมระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเอ็นเอสเอที่สโนว์เดนเปิดโปงตั้งแต่เมื่อหลายเดือนที่แล้ว ตรงที่ปรึซึมต้องอาศัยคำสั่งศาลเพื่อเข้าถึงข้อมูลของบริษัทไฮเทค

     จากเอกสารลับลงวันที่ 9 มกราคม 2013 ที่วอชิงตัน โพสต์อ้างอิง มัสคูลาร์ได้เก็บบันทึกการสื่อสารถึง 181 ล้านรายการในช่วง 30 วันก่อนหน้านั้น ซึ่งมีทั้งข้อมูลอีเมล เสียง และวิดีโอ

     หลังจากข่าวนี้แพร่ออกมา สองยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตต่างแสดงความไม่พอใจ โดยผู้บริหารกูเกิลชี้ว่า ข่าวนี้ตอกย้ำความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการปฏิรูปปฏิบัติการข่าวกรองของรัฐบาล

     ขณะที่ พล.อ. คีธ อเล็กซานเดอร์ ผู้อำนวยการเอ็นเอสเอ ตอนแรกกล่าวแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า เท่าที่รู้ เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้น ทว่า ในคำแถลงของเอ็นเอสเอที่ออกตามมาเมื่อค่ำวันพุธระบุว่า เอ็นเอสเอมีอำนาจในลักษณะต่างๆ เพื่อให้ภารกิจในการปกป้องประเทศลุล่วง และเป้าหมายของเอ็นเอสเอคือ การค้นหาและพัฒนาข่าวกรองเกี่ยวกับเป้าหมายด้านข้าวกรองที่แท้จริงของต่างชาติเท่านั้น

     วอชิงตันยังตีหน้าไม่ถูก หลังจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงเมื่อวันพุธว่า ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของอเมริกาว่า จะไม่ดักฟังการสื่อสารในยูเอ็นในอนาคต

     วันเดียวกัน เอ็นเอสเอยังต้องออกมาแก้ข่าวของสื่อแดนมักกะโรนีที่ว่า เอ็นเอสเอดักฟังการสื่อสารในสำนักวาติกัน ของพระสันตะปาปา ประมุขคริสตจักรคาทอลิก

 

 

ขอขอบคุณที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thaizhong.org ดูทั้งหมด

293

views
Credit : thaizhong.org


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน