พัฒนาเกษตรกรสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน - เกษตรทั่วไทย
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนกำลังตื่นตัวและเตรียมการรับมือ ด้วยการพัฒนาศักยภาพให้เหนือคู่แข่ง เพราะเป็นเขตการค้าเสรี ที่มีภาษีเป็นศูนย์ สำหรับเกษตรกรไทยนับจากนี้ก็จะมีเวลาเพียงไม่ถึง 2 ปี ในการเตรียมความพร้อมเพื่อการนี้
ล่าสุดทาง สภาเกษตรกรแห่งชาติ (สกช.) ที่ถือเป็นองค์กรของภาคการเกษตร ด้วยมีผู้แทนเกษตรกรเข้ามาเป็นสมาชิก และเป็นกระบอกเสียง เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางพร้อมสรุปเป็นข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆของเกษตรกรเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล ได้ใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายแก้ไขความเดือดร้อนในการทำมาหากินของพี่น้องเกษตรกร และพัฒนาภาคการเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน โดยร่วมมือกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้นำเกษตรกร และสมาชิกสภาจังหวัดทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อพร้อมรับมือการเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง รู้เขารู้เราให้กับเกษตรกรได้รับรู้ ตลอดถึงการลดต้นทุนด้านการผลิตอันเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นกับขบวนการผลิตของเกษตรกรไทย
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า บทบาทของสภาเกษตรกรฯ สำหรับการส่งเสริมเกษตรกรในการพัฒนาเพื่อรองรับการเปิดการค้าเสรีนั้น สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการคือ การวิเคราะห์เพื่อแยกระหว่างสินค้าที่เป็นคู่แข่งและคู่ค้าของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพราะเกษตรกรเกือบ 100 % ไม่มีความรู้ว่าอาเซียนคืออะไร หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพัฒนา และตื่นตัวตลอดเวลา ซึ่งประเทศไทย ยังขาดการวางรากฐานที่เป็นระบบอย่างชัดเจน หากมีการเปิดอาเซียนไทยจะเสียเปรียบประเทศอื่น ซึ่งที่ผ่านมาไทย จะมองเฉพาะสินค้าที่ไทยได้เปรียบ แต่ไม่เคยพูดถึงเรื่องที่เสียเปรียบ เช่น การนำเข้ากระเทียมจากจีน ซึ่งทำให้ผู้ปลูกกระเทียมของไทยได้รับผลกระทบ ราคาตกต่ำ จนต้องรวมตัวประท้วงเพื่อหาทางออก แต่สภาเกษตรกรฯ ได้เข้าไปประสานเพื่อช่วยเหลือโดยการเจรจากลุ่มผู้ค้าจนสามารถหาข้อยุติได้ในที่สุด
ทั้งนี้ เกษตรกร ต้องมีการพัฒนาหรือปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่ประมาท อาทิ การผลิตข้าว ปัจจุบันข้าวจากประเทศเวียดนาม และพม่า นับวันมีการผลิตที่สูงขึ้น และมีการพัฒนาคุณภาพ ฉะนั้น เกษตรกรไทย ต้องมีการกระตุ้นเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตข้าวให้ได้มาตรฐาน เพื่อหนีคู่แข่งให้ไกล โดยการหาเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรทดลองปลูก หรือมีการขยายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดผู้ส่งออก โดยเฉพาะนโยบายโซนนิ่งภาคเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นจุดแข็งในการที่จะพัฒนาการทำเกษตรกรรม ทั้งพืช สัตว์ ประมง โดยการวิเคราะห์พื้นที่เหมาะสมในการทำการเกษตร เช่น พื้นที่นา ถ้าทำการปลูกข้าวไม่ได้คุณภาพ ควรจะเปลี่ยนแนวคิดโดยการหันปลูกพืชชนิดอื่นๆ หรือการเลี้ยงสัตว์ทดแทน แต่ต้องมีการศึกษาข้อมูล และวางแผนการผลิต เชื่อว่าสามารถสู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้
“การปรับตัวเพื่อเข้าสู่การค้าเสรี เกษตรกรต้องไม่หยุดนิ่ง หาข้อมูลแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในเครือข่ายเกษตรกร หากเกษตรกรคนใดไม่มีข้อมูลสามารถติดต่อสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรที่ถูกต้องและถูกวิธี ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงองค์ความรู้เหล่านี้ ” นายประพัฒน์ กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติในปี 2557 ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จะเร่งดำเนินการจัดทำแผนแม่บท เพื่อพัฒนาเกษตรกรรม โดยเริ่มตั้งแต่ระดับล่าง คือ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดองค์ความรู้ จากนั้นก็บูรณาการเป็นแผนแม่บทของชาติ พร้อมผลักดันสร้างหลักประกันแก่อาชีพเกษตรกรให้เป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่จะต้องดำเนินการพัฒนา ภายใต้แนวทางเกษตรกรต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ ในสังคม และสามารถต่อสู้บนถนนตลาดอาเซียนในอนาคตได้ ทั้งหมดนี้คือยุทธศาสตร์ที่จะเร่งขับเคลื่อนเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บเกษตรกรไทยเตรียมพร้อมเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในอีก2ปีข้างหน้านี้
ขอบคุณที่มา : เดลินิวส์
- สื่อจีนเดือดแนะรัฐให้บทเรียนเวียดนาม เหตุขัดแย้งแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลจีนใต้
- จีน-ลาวหารือสร้างทางรถไฟ
- จีนไม่ล้มแผนส่งแพนด้าให้มาเลย์ แม้เสียงโห่ร้องวิกฤต MH370 ดังกึกก้อง
- จีนสกัดเรือฟิลิปปินส์-อ้างล้ำน่านน้ำ
- 'ฟิลิปปินส์' ยื่นฟ้อง 'จีน' ต่อศาลUNแล้ว หนึ่งวันหลังกองกำลัง 2 ฝ่าย 'เผชิญหน้า' ในทะเลจีนใต้