สนามบินอาเซียนขาดแคลนระบบปลอดภัย
ในการนำเครื่องบินลงจอดตามแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สิ่งที่สร้างความวิตกให้กับบรรดานักบินเกือบทุกราย คือ ศัตรูที่มองไม่เห็นอย่าง "วินด์เชียร์" เพราะสนามบินตามเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็นในอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์ ล้วนแต่ไม่มีระบบเตือนภัยภาคพื้นดินให้นักบินได้รับรู้เวลาที่เกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นมา
วินด์เชียร์ เป็นปรากฎการณ์ที่ลมเกิดการเปลี่ยนแปลงความแรง และทิศทางอย่างกระทันหัน ถือเป็นสถานการณ์ที่อันตรายอย่างมากในขณะนำเครื่องลงจอด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตามสนามบินท้องถิ่นเหล่านี้ ชี้ว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร
นักบินเครื่องบินโบอิง 737 ลำใหม่ของสายการบินไลออน แอร์ ที่ประสบอุบัติเหตุตกที่เกาะบาหลี อินโดนีเซียเมื่อเดือนที่แล้ว บอกกับเจ้าหน้าที่สอบสวนว่า เครื่องบินของเขาโดยลมกระชากให้ร่วงต่ำลงไปในทะเล ทั้งที่อีกนิดเดียวจะถึงสนามบินแล้ว โชคดีที่อุบัติเหตุครั้งนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต
ริชาร์ด วูดเวิร์ด นักบินเครื่องบินแอร์บัส เอ380 ของสายการบินแควนตัส แอร์เวย์ส สายการบินรายใหญ่ของออสเตรเลีบ ระบุว่า การมีระบบภาคพื้นดินดีตรงที่ว่า เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินจะสามารถบอกให้นักบินรู้ล่วงหน้าได้หากเกิดปรากฎการณ์วินด์เชียร์ขึ้นมา
การจัดทำระบบเตือนภัยภาคพื้นดิน ที่มีค่าใช้จ่ายราว 1 ล้านดอลลาร์นั้น จะสามารถช่วยระบุตำแหน่งการเกิดกระแสลมอันตรายในเส้นทางบินของเครื่องบินได้ ทำให้นักบินมีเวลามากขึ้นที่จะหาทางเลี่ยงกระแสลมดังกล่าว
แต่แม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีการสร้าง หรือมีแผนก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่จำนวนมาก แต่สนามบินบนเกาะบาหลี เกาะสมุย ของไทย เกาะลังกาวี ในมาเลเซีย และเกาะเซบู ของฟิลิปปินส์ ต่างไม่มีแผนการติดตั้งอุปกรณ์ภาคพื้นดิน เพื่อตรวจจับวินด์เชียร์แต่อย่างใด
สนามบินจาการ์ตา และบาหลีของอินโดนีเซีย อาจมีการติดตั้งระบบตรวจจับดังกล่าวในปีหน้า ซึ่งไซอัมซุล ฮูดา ผู้อำนวยการฝ่ายการบิน และอุตุนิยม สำนักงานอุตุนิมยมวิทยา อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการออกค่าใช้จ่าย สำหรับการติดตั้งระบบดังกล่าว ระบุว่า การที่อินโดนีเซียยังไม่มีการติดตั้งระบบดังกล่าว อาจเป็นเพราะติดขัดในเรื่องงบประมาณ
ทั้งนี้ การขยายตัวของชนชั้นกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินเพิ่มมากขึ้น โดยที่สายการบินต้นทุนต่ำ อย่าง ไลออน แอร์ ของอินโดนีเซีย และแอร์เอเชีย ของมาเลเซีย ครองส่วนแบ่งตลาดการบินในภูมิภาคสูงถึง 52% หรือสูงกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วเกือบ 2 เท่า
แต่ท่ามกลางการขยายตัวอย่างมากของอาคารผู้โดยสารนั้น สนามบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนเครื่องตรวจวัดสภาพอากาศ รันเวย์ เจ้าหน้าที่หอควบคุมการจราจรทางอากาศ และนักบิน ซึ่งล้วนแต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการเดินทางด้วยเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในภูมิภาคที่มีประชากรอยู่มากถึง 600 ล้านคน
ที่มาโดย http://www.bangkokbiznews.com
- สื่อจีนเดือดแนะรัฐให้บทเรียนเวียดนาม เหตุขัดแย้งแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลจีนใต้
- จีน-ลาวหารือสร้างทางรถไฟ
- จีนไม่ล้มแผนส่งแพนด้าให้มาเลย์ แม้เสียงโห่ร้องวิกฤต MH370 ดังกึกก้อง
- จีนสกัดเรือฟิลิปปินส์-อ้างล้ำน่านน้ำ
- 'ฟิลิปปินส์' ยื่นฟ้อง 'จีน' ต่อศาลUNแล้ว หนึ่งวันหลังกองกำลัง 2 ฝ่าย 'เผชิญหน้า' ในทะเลจีนใต้