โลว์คอสต์แอร์ไลน์เดือด "เวียดเจ็ท-ไลอ้อนแอร์-แอร์เอเชียเอ็กซ์" รุมทึ้งไทย

     โลว์คอสต์อาเซียนไล่ผนึกสายการบินในไทย หนุนภาพสมรภูมิแอร์ไลน์สครึ่งปีหลังระอุ ล่าสุด เวียดเจ็ทแอร์ร่วมทุนกานต์แอร์ เปิดตัว "ไทยเวียดเจ็ทแอร์" ชิมลางตลาด ตามหลัง "ไลอ้อนแอร์" จากอินโดนีเซีย ด้าน "ไทย แอร์เอเชีย" ไม่หวั่นเสียฐานตลาด มุ่งเพิ่มเส้นทาง-เที่ยวบินต่อเนื่อง จากแผนรับมอบเครื่องบินปี"60 มีฝูงบินทั้งหมด 61 ลำ "ทัศพล" เผย "แอร์เอเชียเอ็กซ์ไทยแลนด์" แจ้งเกิดในไทยได้แน่ หลังเห็นเทรนด์ตลาดโลว์คอสต์เที่ยวบินระยะไกลดีมานด์พุ่ง คนไทยรอบินอยู่มาก

 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ตลาดการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ในไทยรุนแรงมากขึ้นอีกระดับในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เนื่องจากมีสายการบินในภูมิภาคอาเซียนทยอยผนึกกับสายการบินในไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เล่นในตลาดนี้อีกอย่างน้อย 3 ราย ประกอบด้วย 1.สายการบินไทยเวียดเจ็ทแอร์ เป็นการร่วมทุนกันระหว่างเวียดเจ็ทแอร์กับกานต์แอร์ของไทย ในสัดส่วน 49 : 51 เริ่มบินปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า 2.สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เป็นการร่วมทุนระหว่างไลอ้อนแอร์ของอินโดนีเซียและบริษัทไทยสกายล์ เริ่มบินประมาณสิงหาคมนี้ และ 3.สายการบินแอร์เอเชียเอ็กซ์ไทยแลนด์ ซึ่งจะเพิ่มฐานการบินที่เมืองไทย เริ่มบินปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพราะเห็นศักยภาพของตลาดการบินในไทย ซึ่งได้รับอานิสงส์จากยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติแห่เข้ามามาก โดยปีนี้คาดแตะที่ 25 ล้านคน

 

     นายลู ดึ๊ก ขัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวียดเจ็ทแอร์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จึงตัดสินใจร่วมทุนกับกานต์แอร์ และเลือกฮับบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อตอบโจทย์แผนขยายธุรกิจและเชื่อมต่อเที่ยวบินระยะไกล โดยปัจจุบันบริษัททำการบินด้วยเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 และมีแผนเพิ่มฝูงบินรวม 10 ลำภายในปีนี้ รองรับเส้นทางบินภายในประเทศเวียดนาม 11 เส้นทาง และเส้นทางระหว่างประเทศสู่กรุงเทพฯอีก 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ และกรุงเทพฯ-ฮานอย รวม 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ มีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบินแฟกเตอร์) 90% และในปี 2557 จะขยายฝูงบินเพิ่มเป็น 18 ลำ

"เราจะมุ่งเชื่อมต่อไปยังเมืองต่าง ๆ ในไทย และชูเรื่องความปลอดภัย ความตรงเวลาสู้กับจุดขายของสายการบินอื่น ๆ ที่เน้นเรื่องตั๋วบินราคาประหยัด ซึ่งเราเองก็มีแผนออกโปรโมชั่นราคาตั๋วบินเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยเช่นกัน"

 

     ทั้งนี้ สายการบินไทยเวียดเจ็ทแอร์จะเริ่มทำการบินในปลายปีนี้ ด้วยเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 จำนวน 3 ลำ นอกจากนี้ เวียดเจ็ทแอร์ยังมีแผนร่วมลงทุนกับบริษัทในพม่าเพื่อเปิดสายการบินใหม่ หลังเห็นศักยภาพด้านท่องเที่ยวของพม่าที่มีแนวโน้มเติบโตสูง และรองรับขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้นหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558

ด้านร้อยเอกสมพงษ์ สุขสงวน ประธานบริษัท กานต์นิธิ เอวิเอชั่น จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินกานต์แอร์ เสริมว่า สำหรับเงินทุนจดทะเบียนของไทยเวียดเจ็ทแอร์อยู่ที่ 200 ล้านบาท มีแผนเพิ่มเส้นทางบินในประเทศจากสุวรรณภูมิไปเชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ เตรียมให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ไปจีน และเที่ยวบินปกติไปพม่า โดยเส้นทางที่จะคิกออฟให้บริการในปีนี้คือ เชียงใหม่-ภูเก็ต และกรุงเทพฯ-จีน

 

     ส่วนกานต์แอร์ ปัจจุบันมีฝูงบิน 2 ลำ ให้บริการเส้นทางภายในประเทศ 6 เส้นทาง และเตรียมเปิดอีก 3 เส้นทาง นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของสนามบินเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดเปิดประมาณปลายปี 2557 โดยมีแผนเพิ่มเครื่องบิน เอทีอาร์ 42-320 ขนาด 50 ที่นั่ง จำนวน 2 ลำมาให้บริการ

ขณะที่นายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทย แอร์เอเชีย กล่าวว่า ทางกลุ่มแอร์เอเชียเองก็มีแผนนำสายการบินแอร์เอเชียเอ็กซ์ไทยแลนด์ เปิดให้บริการภายในปลายปีนี้หรือไตรมาสแรกปีหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตประกอบการเดินอากาศ (AOC) กับกรมการบินพลเรือน ซึ่งภายในกันยายนนี้น่าจะแล้วเสร็จ โดยเชื่อว่าตลาดโลว์คอสต์เส้นทางระยะไกลมีดีมานด์มากพอที่จะทำให้บริษัทตั้งสายการบินใหม่ในไทยได้

 

     "ทั้งนี้ ไม่วิตกกับการแข่งขันรุนแรงในตลาดโลว์คอสต์ หลังไทยไลอ้อนแอร์และไทยเวียดเจ็ทแอร์เตรียมบินภายในประเทศมากขึ้น เพราะตลาดบ้านเราเป็นเค้กก้อนใหญ่ แต่อาจจะได้ตารางการบิน (สลอตบิน) ที่ไม่ดีพอ เพราะสลอตดี ๆ เจ้าเดิมในตลาดได้ไปหมดแล้ว โดยไทย แอร์เอเชียเองก็เตรียมแผนรับมือเรื่องโปรโมชั่นราคา เชื่อว่าจะรักษาฐานตลาดไว้ได้ และเราก็มีแผนขยายเส้นทางบินและเที่ยวบินต่อเนื่อง เช่น กรุงเทพฯ-เนย์ปิดอว์ (พม่า) ในเดือนตุลาคมนี้ และกรุงเทพฯไปจีนเพิ่มอีก 2 เส้นทาง" นายทัศพลกล่าวและว่า ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจคาดว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโต 20-25% มีผู้โดยสารเพิ่มจาก 8 ล้านคนเป็น 10 ล้านคน เคบินแฟกเตอร์เฉลี่ยที่ 82%

 

     นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ตลาดสายการบินโลว์คอสต์ในอาเซียนขยายตัวสูงมาก ปัจจุบันมีส่วนแบ่งมากถึง 51% แล้ว ทั้งไทยเองก็เป็นจุดที่มีศักยภาพในการเชื่อมต่อการเดินทางอากาศ ทำให้สายการบินโลว์คอสต์ต่าง ๆ เตรียมแจ้งเกิดในไทยมากขึ้น ดังนั้น ธุรกิจการบินในไทย เช่น การบินไทย การบินไทยสมายล์ รวมถึง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) จำเป็นต้องเร่งปรับตัวรับกับขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้นและคู่แข่งที่มากขึ้น เพราะแค่ในปัจจุบันก็มีผู้โดยสารมาใช้บริการที่สุวรรณภูมิและดอนเมืองกว่า 60 ล้านคนต่อปีแล้ว

 

     สอดคล้องกับนายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากเทรนด์สายการบินโลว์คอสต์ที่เพิ่มจำนวนผู้เล่นมากขึ้นแล้ว ตลาดชาร์เตอร์ไฟลต์เองก็ขยายตัวเช่นกัน โดยเมื่อปีที่แล้วมีผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตกับ บพ.แล้วประมาณ 20 สายการบิน และเพิ่งอนุมัติเพิ่มไปอีก 4 สายการบิน

 

ขอบคุณที่มา  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thaizhong.org ดูทั้งหมด

312

views
Credit : thaizhong.org


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน