"อาเซียน" เตรียมหาข้อสรุปกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้

     ชาติอาเซียนเตรียมเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน ในเรื่องสนธิสัญญาทางทะเล ระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ หลังมีความขัดแย้งกันในเรื่องพื้นที่ทางทะเล

 

     ในการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่จะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า เหล่าผู้นำประเทศอาเซียนเตรียมจะหารือกันถึงเรื่องข้อพิพาทเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ที่หลายประเทศในอาเซียนขัดแย้งกันเอง และขัดแย้งกับจีน ซึ่งในพักหลัง จีนมีท่าทีที่ก้าวร้าวต่อสถานการณ์ดังกล่าวมากขึ้น

 

     เมื่อปีที่แล้ว การประชุมไม่ได้ข้อสรุปเนื่องจากฟิลิปปินส์และเวียดนาม ไม่เห็นด้วยกับกัมพูชาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ว่ากัมพูชาเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับจีน และยังเป็นประธานการประชุมอาเซียนในปี 2555

 

     มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวว่า ชาติสมาชิกอาเซียนต้องร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว ในเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

 

     ขณะเดียวกัน บรูไนก็ออกมาแสดงความเห็นว่า สิ่งที่สำคัญในปีนี้คืออาเซียนต้องพยายามหาข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ระหว่างประเทศสมาชิก และจีนภายในปีนี้

 

     โดยผู้นำฟิลิปปินส์ นายเบนิกโน อากิโนเตรียมที่จะใช้การประชุมครั้งนี้ในการผลักดันข้อสรุปเบื้องต้นของข้อตกลง ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจเพื่อให้สอดคล้องกับคำบอกเล่าของนายนาตาเลกาวา ที่เคยระบุว่าจีนและอาเซียนจะเข้าร่วมการประชุมพิเศษ เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว

 

     ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเชื่อว่าข้อตกลงไม่น่าประสบผลสำเร็จ เนื่องจากจีน นิยมหารือกับประเทศข้อพิพาทเป็นรายประเทศมากกว่า

 

     ทั้งนี้ ความขัดแย้งกับจีนนั้นส่งผลถึงการประชุมในกลุ่มประเทศอาเซียน เห็นได้จากการประชุมอาเซียน ซัมมิทในปีที่แล้วที่กัมพูชา เป็นครั้งแรกที่ชาติอาเซียนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงอะไรได้เลยในรอบ 45 ปี


     อนึ่งทะเลจีนใต้นั้นมีความสำคัญในฐานะพื้นที่ในการสัญจรและการขนส่งทางทะเลที่สำคัญ และจีนได้อ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งกินพื้นที่ทางทะเลของประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซียและบรูไนด้วย

 

     โดยเมื่อปี 2517 และปี 2531 ได้มีการเผชิญหน้ากันทางทหารระหว่างเวียดนามและจีน และเมื่อปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์ก็ได้อ้างว่าจีนเข้ามายึดครองพื้นที่ใกล้พรมแดนของตน ราว 220 กิโลเมตรจากเกาะลูซอน

 

     จีนยังทำตัวก้าวร้าวมากขึ้นโดยอ้างว่าได้จัดกองกำลังที่มีศักยภาพโจมตีระยะไกลในพื้นที่ดังกล่าว และกองกำลังดังกล่าวนั้นอยู่ห่างจากชายฝั่งของมาเลเซียเพียงราว 80 กิโลเมตร

 

     ทั้งนี้ เรื่องอื่นที่คาดว่าจะมีการหารือในการประชุมอาเซียนซัมมิทในปีที่ได้แก่คสามพยายามในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) ในปี 2558

 

     นอกจากนี้ นายนาจิ๊บ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ แต่จะส่งเจ้าหน้าที่ระดังล่างเข้าร่วมแทน เพื่อที่เขาจะได้ทุ่มเทกับการหาเสียงเลือกตั้งในประเทศอย่างเต็มที่ ก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้

 

 

ขอขอบคุณที่มา : มติชนออนไลน์

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thaizhong.org ดูทั้งหมด

600

views
Credit : thaizhong.org


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน