ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ 2 กับนโยบาย 10+6 ร่วมสร้างกรุงเทพฯ นโยบายเพ้อฝันให้ดูดีหรือแค่ขอแข่งผลงานกับรัฐบาล

ทีมข่าว กทม. ขุนเวียงวัง...รายงาน
ผลงาน 1 ปีผ่านไปของผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ชูนโยบายหาเสียงกับชาวกรุงเทพฯ สมัย 2 เมื่อต้นปี 2556 ที่ผ่านมา โดยชู 10 มาตรการเร่งด่วน และ 6 นโยบายหลัก ร่วมสร้างกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางมหานครแห่งอาเซียน จนได้รับ การเทคะแนนจากชาวกรุงเทพฯ แบบถล่มทลายถึง 1,200,000 กว่าคะแนน ให้เป็นผู้ว่าฯ สมัย 2


 
ทันทีที่ได้รับชัยชนะก็ต้องเจอกับมรสุมอย่างหนักตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่ง เริ่มตั้งแต่การถูกกล่าวหาเรื่องการต่อขยายสัญญารถไฟฟ้าบีทีเอสออกไปอีก 17 ปี โดยถูกดีเอสไอตั้งข้อกล่าวหากระทำการโดยมิชอบ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเจอข้อกล่าวหากระทำการทุจริตอีกหลายโครงการ มีทั้งโครงการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล อารีน่า หนองจอกล่าช้าจนไม่สามารถใช้ในการเปิดและปิดการแข่งขันได้ โครงการติดตั้งกล้องซีซีทีวี คดีการบริหารงานบุคคล ที่ทำเอาบานปลายเป็นปัญหาใหญ่โต ที่หาทางออกและแนวทางการแก้ไขไม่เจอ จนถึงขั้นถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ ป.ป.ช. ไล่ดะตั้งแต่ตัวผู้ว่าฯ ลงไปยันปลัด กทม. รองปลัด กทม. และข้าราชการระดับสูงอีกหลายคน จากผลการวินินิจฉัยของ ก.พ.ค.กทม. ทำให้การบริหารงานบุคคลของ กทม.ตกอยู่ในสภาพล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ส่งผลให้การบริหารราชการกรุงเทพมหานครพลอยสะดุดลงและเกิดความแตกแยกอย่างไม่เคยมีปรากฏมาก่อน

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จากการตรวจสอบ 10 มาตรการเร่งด่วน ที่ผ่านมามีอะไรที่ทำเสร็จเป็นชิ้นเป็นอันไปบ้าง

มาตรการติดตั้งกล้องซีซีทีวีและไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่ม มีการดำเนินการตามงบประมาณประจำปีที่ได้รับการจัดสรรในงบปี 56 มีการตรวจพบว่ากล้องซีซีทีวีที่ติดตั้งบางส่วนตามเงินงบประมาณ กลับไม่มีการต่อระบบไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ มาตรการนี้ยังต้องมีการติดตามแก้ไขต่อไป

มาตรการสร้างอาสาชุมชนเพื่อเฝ้าระวังภัยและยาเสพติด มาตรการนี้จัดทำได้เพียงแค่มีการออกคำสั่งจากส่วนกลางไปยังสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นเพียงแค่ว่าได้สนองนโยบายผู้บริหารแล้ว แต่ไม่มีดัชนีในการวัดผลได้ ก็ยังเป็นนโยบายที่ล้มเหลว

มาตรการโรงรับจำนำ กทม.ดอกเบี้ย 1 สลึง 5,000 บาทแรก ได้ดำเนินการแล้ว แต่ผู้ต้องการที่เดือดร้อนต้องการใช้เงินมากกว่านี้ ไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้

มาตรการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสกับรถบีอาร์ที ได้ดำเนินการแล้ว แต่จากการตรวจสอบก็เป็นเพียงการลดค่าโดยสารบีทีเอส ในส่วนของกรุงเทพมหานครเท่านั้น ส่วนในสัมปทานของเอกชนกลับขึ้นราคา ส่วนบีอาร์ที เป็นโครงการที่ล้มเหลวไม่คุ้มค่าการลงทุน จะให้บริการฟรีเสียเลยน่าจะเหมาะสมกว่า จะได้ไม่ต้องหาเหตุผลว่าขาดทุน หรือไม่ก็ยกเลิกโครงการไปซะเลย เพื่อให้การจราจรคล่องตัวไม่เสียช่องทางรถ

มาตรการเพิ่มทักษะอาชีพ พร้อมสอนภาษาอังกฤษ จีน มลายู กรุงเทพมหานครได้มีการทุ่มงบประมาณลงไปแล้ว แต่ยังไม่มีดัชนีชี้วัดผลออกมาเลยว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

ปรับตำแหน่งและเพิ่มเงินเดือนให้กับอาสาสมัครผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็ก ได้มีการดำเนินการไปแล้วเพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท แต่ก็ยังมีเรื่องร้องเรียนไม่ขาดว่าได้รับเงินไม่ตรงเวลา คงต้องมีมาตรการเร่งด่วนซ้อนมาตรการเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนให้ทันเวลา

เพิ่มให้การบริการงานทะเบียนราษฎรในห้างสรรพสินค้า เป็นมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่มีเสียงสะท้อนกลับมาว่า ลงทุนไปทำไมเพราะปัจจุบันการให้บริการงานทะเบียนที่สำนักงานเขตก็สามารถดำเนินการได้ทุกสำนักงานเขตอยู่แล้ว เนื่องจากกรอบอัตรากำลังมีขอบเขตจำกัดการเพิ่มจุดบริการเพิ่มขึ้นจะทำให้งานบริการจุดอื่นสูญเสียบุคลากร การให้บริการด้อยลง

มาตรการโรงรับจำนำ กทม.ดอกเบี้ย 1 สลึง 5,000 บาทแรก ได้จัดทำแล้วผู้มีทรัพย์สินไม่ได้รับอานิสงส์ไม่สามารถไปใช้บริการโรงรับจำนำได้

ฟรี Hi-speed Wi-Fi MB 5,000 จุด เป็นมาตรการที่ได้ทำแล้วเช่นกัน แต่ก็มีคำถามกลับไปว่าทำไปทำไม ใครได้รับประโยชน์บ้าง

เพิ่มการจัดเก็บขยะไม่ให้ตกค้างในชุมชน จากการสำรวจตรวจสอบพบว่า ที่พักอาศัยชุมชนและบ้านจัดสรรพบว่ายังมีปัญหาขยะตกค้าง เพราะมีการจัดเก็บขยะเพียงแค่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง มาตรการเร่งด่วนเรื่องนี้คงต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ ไม่ใช่ดูแต่รายงานจากฝ่ายรักษาความสะอาดที่รายงานว่าไม่มีขยะตกค้าง ต้องเพิ่มมาตรการตรวจสอบด้วย

มาตรการเพิ่มแท็กซี่เพื่อคนพิการและสูงอายุ มาตรการนี้ก็เช่นกัน ไม่มีดัชนีชี้วัดว่าได้ผลแค่ไหนที่ได้จัดทำไปแล้ว ทั้ง 10 มาตรการเร่งด่วนที่ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้หาเสียงไว้กับชาวกรุงเทพฯ ก็ถือว่าได้ทำตามสัญญาทั้งหมดแล้วในรอบ 1 ปีที่เข้ามาบริหารงานสมัย 2 สรุปได้ว่ามีทั้งสัมฤทธิผลและล้มเหลว ก็เป็นอันปิดจ๊อบลงในปี 2556

6 นโยบายหลัก ร่วมสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางมหานครแห่งอาเซียน
นโยบายมหานครแห่งความปลอดภัย มีการจัดทำไว้เป็น 6 แผนงาน ขยายการติดตั้งกล้องซีซีทีวี เพิ่มอีก 50,000 ตัว เชื่อมโยงกับเครือข่ายของเอกชน 200,000 ตัว ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ขยายโครงการ "ชุมชนร่วมใจ ระวังภัยยาเสพติด" จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการภัยพิบัติเร่งด่วน (OEM) เพื่อแจ้งเตือนภัย เพิ่มประสิทธิภาพดับเพลิงอาคารสูง จัดตั้งชุดปฏิบัติการดับเพลิงขนาดเล็กสำหรับชุมชน และสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ 6 แห่ง ระบบตรวจสภาพและเตือนภัยน้ำท่วม

นโยบายมหานครแห่งความสุข มีการจัดทำแผนงานไว้ 2 แนวทาง การเดินทางสะดวก การจราจรคล่อง

ตัว ด้วยการเพิ่มรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทุกประเภท เพิ่มทางเลือกการเดินทางด้วยเรือโดยสารเริ่มที่คลองภาษีเจริญ เพิ่มเส้นทางจักรยาน 30 เส้นทาง เพิ่มรถจักรยานให้เช่า 10,000 คัน ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสภาพการจราจรที่เป็นปัจจุบันด้วยระบบ MBA Live Traffic Applicatiom  หรือก็คือระบบขนส่งมวลชนย่อย ซึ่งหากมีการนำมาใช้ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาจราจรอย่างแท้จริงและถูกต้อง เพราะระบบขนส่งมวลชนย่อยนี้ในต่างประเทศจะใช้ในย่านธุรกิจแคบๆ เท่านั้น การทำอุโมงค์ลอดทางรถไฟ ทางร่วม ทางแยก และเส้นทางลัดก็ยังเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูงทางออกของปัญหา ย้อนกลับมาพิจารณาที่ระบบผังเมือง การบังคับใช้กฎหมาย สร้างวินัยรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถส่วนตัว หันมาใช้บริการรถสาธารณะให้มาก ส่งเสริมการใช้จักรยาน เพิ่มจุดจอดรถและการควบคุมอาคารให้รัดกุมชัดเจนน่าจะดีกว่า

ด้านสุขภาพ มีการวางแผนงานไว้ 5 แผน ไม่ป่วยทั้งปี รับฟรี 1,000 บาท ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร ยกระดับศูนย์บริการสาธารณะสุขใกล้บ้าน เพิ่มบริการสุขภาพ 24 ชม. ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุทุกพื้นที่ สร้างศูนย์กีฬาทันสมัยครบวงจร 4 มุมเมือง พร้อมยกระดับลานกีฬาเดิม 200 แห่ง

มองแผนงาน 5 แผนด้านสุขภาพต้องขอบอกเป็นแผนงานที่ดูดี แต่คงไม่ง่ายที่จะบรรลุผลในการให้บริการและบริหารจัดการในการควบคุมการทุจริตในการจ่ายเงินแก่ผู้ไม่ป่วย 1,000 บาท ในการดูแลผู้สูงอายุครบวงจร สิ่งที่ควรดูแลเร่งด่วนคือ การปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุขที่หลายแห่งที่ชำรุดทรุดโทรม และการให้บริการที่มีรอยยิ้ม

นโยบายมหานครสีเขียว มีการจัดทำแผนเอาไว้ 7 แผน  เพิ่มพื้นที่สีเขียว 5,000 ไร่ พร้อม 10 สวนสาธารณะขนาดใหญ่ จะมีการสร้างสวนลอยน้ำ สวนสุนัข (Dog park) ส่งเสริมสวนบนอาคารสูง (Green Roog) และสวนแนวกำแพง เพิ่มระบบการจัดการขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนมาเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีทันสมัยสะอาด เพิ่มโรงงานบำบัดน้ำเสียอีก 5 แห่ง ปรับภูมิทัศน์ถนนสายหลักย้ายสายไฟสายโทรศัพท์ลงดิน และสร้างห้องน้ำสาธารณะสะอาด

ทั้ง 7 แผนงานของนโยบายมหานครสีเขียว ดูเหมือนจะมีเพียง 3 แผนงาน ที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ ส่วนอีก 4 แผนงาน ดูยังไงก็ไม่รู้ว่ามหานครแห่งนี้จะเป็นสีเขียวได้อย่างไร

นโยบายมหานครแห่งการเรียนรู้ มีการจัดทำแผนงานไว้ 10 แผนด้วยกัน
นโยบายเรียนฟรี นักเรียน กทม. "อิ่มท้อง สมองดี มีวินัย" โตไปไม่โกง นักเรียนโรงเรียน กทม. ภาษาอังกฤษแข็งแรงพร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กวดวิชาให้นักเรียน ม.3-ม.6 ครบทุกโรงเรียน บริการหมวกกันน็อกสำหรับนักเรียน กทม.ฟรี ส่งเสริมศักยภาพมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานครในการผลิตบัณฑิต และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกในต่างประเทศ ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เปิดห้องสมุด บ้านหนังสือและสร้างศูนย์เยาวชนฯลฯ ส่งเสริมการอ่านตามโครงการของ UNESCO "กรุงเทพเมืองหนังสือโลก 2556" ติดตั้ง Hi-Speed Wi-Fi HB 5,000 จุด เพิ่มโรงเรียนรองรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษรวมถึงเด็กออทิสติกอีก 100 โรงเรียน

ทั้ง 10 แผนหลายแผนงานดูเหมือนจะเป็นเพียงต้องการที่จะทำงานแข่งขันกับรัฐบาล แต่ขาดบุคลากรและงบประมาณในการขับเคลื่อนก็เลยทำให้ประสิทธิภาพลดลง ก็ควรจะถอยกลับมาเน้นคุณภาพการศึกษาระดับประถม 1-6 เหมือนเดิมให้มีคุณภาพน่าจะดูดีกว่า ส่วนการศึกษาระดับมัธยมปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจัดการ

นโยบายแห่งโอกาสของทุกคน มีการจัดทำไว้ 6 แผนงาน ให้ประชาชนร่วมเสนอแนวความคิดเห็นและตรวจสอบการบริหารงานของ กทม.ผ่านระบบ i Bangkok  ส่งเสริมความสามารถและความสนใจของคนรุ่นใหม่ โดยสร้างโรงเรียนดนตรี โรงเรียนกีฬา เปิดพื้นที่สร้างสรรค์สร้างตลาดของคนรุ่นใหม่ด้วยการเปิดเว็บไซต์เพื่อคนรุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มฝึกทักษะฝีมือแรงงาน ฝึกอาชีพ เรียนคอมพิวเตอร์ เรียนภาษาจีน มลายู ฯลฯ ฟรี เปิดศูนย์กีฬานิมิตใหม่ และ Extreme Sports 4 มุมเมือง ขยายมูลค่าทางเศรษฐกิจกลางคืน ทั้งด้านการค้าขายและท่องเที่ยว ดูจะเป็นนโยบายที่ยากจะประสพผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาลและยังเป็นนโยบายที่เพ้อฝัน

นโยบายมหานครแห่งอาเซียน มีการจัดทำแผนงานไว้ 8 แผนงาน ส่งเสริมอาชีพในการผลิตและจำหน่ายอาหารจากผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพิ่มและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงอนุรักษ์ ให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของอาเซียน จัดตั้งสภามหานครแห่งอาเซียน ให้มีการส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง กทม. กับองค์กรของอาเซียน จัดตั้งศูนย์ส่งเสริม SME ASEAN DATA BANK โครงการความร่วมมือโรงพยาบาลของรัฐฯ มหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชนเพื่อให้กรุงเทพเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ การท่องเที่ยว และเมืองแห่งสุขภาพของอาเซียน จัดทำแผนที่ ป้ายบอกทาง จุดให้บริการข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษทั่วกรุงเทพฯ จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และประชาชนที่เกี่ยวข้อกับด้านการท่องเที่ยวให้สื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดีรวมทั้งคนขับรถแท็กซี่และรถโดยสาร

สำหรับแผนงานนี้ดูดีมากๆ เพราะ กทม.จะต้องเตรียมรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ดูแล้วทั้งหมด กทม.จะทำได้เพียงแค่ 2 แผนงาน เพิ่มและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงอนุรักษ์กับแผนงานจัดทำป้าย แผนที่และป้ายบอกทาง ป้ายจุดให้ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ส่วนแผนอื่นยังคงเป็นแผนงานในอนาคตที่ยังไม่รู้ว่าจะทำได้เมื่อไร

จาก 10 มาตรการเร่งด่วน และ 6 นโยบายหลักตามแผนงาน 48 แผนงานของผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถสะท้อนให้เห็นว่าจะสามารถพัฒนากรุงเทพมหานครเพื่อนำไปสู่มหานคร หรือเมืองที่น่าอยู่อาศัยที่เป็นที่ปรารถนาของประชาชนตามมาตรฐานที่ต้องการให้เป็นมหานคร หรือเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ซึ่งจะต้องเน้นถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสะอาดและเป็นระเบียบทีให้คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เวลาที่เหลือในอีก 3 ปีผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ยังจะต้องนำไปคิดหรือหานโยบายที่เป็นรูปธรรมให้ได้

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ ryt9.com ดูทั้งหมด

397

views
Credit : ryt9.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน