สศข.6 แนะ เดินเครื่องเชิงรุกเต็มกำลัง ผลักดันความพร้อมเกษตรกรไทยสู่เออีซี


สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ร่วมเวทีสัมมนาเตรียมความพร้อมภาคเกษตรสู่ประชาคมอาเซียน ชู ผลศึกษาการรับรู้ของเกษตรกรภาคตะวันออกในการเตรียมความพร้อมสู่เออีซี ระบุ เกษตรกรส่วนใหญ่ มีการรับรู้และเตรียมความพร้อมในระดับปานกลาง แนะเพิ่มประชาสัมพันธ์เชิงรุก เสริมกิจกรรมส่วนรวม และดึงบทบาทผู้นำชุมชนเพื่อขยายองค์ความรู้ในระดับพื้นที่


 
นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ชลบุรี (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังการร่วมสัมมนาเรื่อง "การเตรียมความพร้อมภาคเกษตรเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558” เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมคามิโอ จ.ระยอง ซึ่ง สศก.จัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการเกษตร

ในการนี้ สศข.6 ได้ร่วมนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง การรับรู้ของเกษตรกรภาคตะวันออกในการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งสำรวจจากเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ภาคตะวันออก 9 จังหวัด จำนวน 397 ราย  ถึงการศึกษาการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ซึ่งพบว่า การรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ AEC ในภาพรวมนั้นอยู่ในระดับปานกลาง โดยเกษตรกรส่วนใหญ่รับรู้ด้านความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ AEC และด้านผลกระทบจากการเปิด AEC ในระดับค่อนข้างมาก  รองลงมาด้านการค้าสินค้าเกษตรและด้านมาตรการรองรับมีการรับรู้ระดับปานกลาง และสุดท้ายคือ ด้านการลงทุนและแรงงานที่ยังมีการรับรู้ระดับค่อนข้างน้อย โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่า ในการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีนั้นมี 7 สาขาวิชาชีพ คือ วิศวกร พยาบาล สถาปนิก นักสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี  อย่างไรก็ตาม สาขาที่ไทยไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน คือ การทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ การแปรรูปจากป่าไม้ธรรมชาติ การประมงในน่านน้ำไทย  และรัฐได้มีกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรี

ด้านการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรในการเข้าสู่ AEC ในภาพรวม พบว่า อยู่ระดับปานกลาง โดยเกษตรกรมีเตรียมความพร้อมด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและสุขภาพในระดับค่อนข้างมาก  เตรียมความพร้อมด้านการผลิตในระดับปานกลาง และเตรียมความพร้อมด้านการตลาดยังอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจในสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรไทยมากขึ้น โดยเฉพาะด้านผลกระทบทางบวก ทางลบ การปรับตัว และมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ควรเน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยเฉพาะผ่านสื่อโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นสื่อที่เกษตรกรใช้บริการและรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ AEC มากที่สุด พร้อมทั้งมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน/หมู่บ้าน และเกษตรกรอาสาให้สามารถถ่ายทอดความรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ AEC ให้แก่เกษตรกรในระดับพื้นที่ได้ ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมให้เกษตรกรมีโอกาสพบปะติดต่อสื่อสารกับบุคคล และได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น เช่น การจัดสัมมนา ฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ การร่วมกิจกรรมส่วนรวม และกิจกรรมภายใต้นโยบายทางด้านการเกษตรต่างๆ เป็นต้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ ryt9.com ดูทั้งหมด

342

views
Credit : ryt9.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน