การศึกษาอนุบาลกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
"คุณภาพ (Quality of Education) เป็นประเด็นที่ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนจากการมุ่งเพื่อให้เด็กทำคะแนนสอบได้ดี หรือมีผลงานที่มานำเสนอแล้วดูดี เป็นทำอย่างไรให้เด็กสามารถจะพัฒนาเพื่ออนาคต มีการดำรงชีวิตที่ดี มีงานที่ดี"
งานนิทรรศการ "อาเซียน" เริ่มที่อนุบาลได้อย่างไร? โดย สมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยบรรยายพิเศษ เรื่อง "ทิศทางของการศึกษาอนุบาลกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน" โดย คุณหญิง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ดร.กษมา กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาการศึกษาระดับอนุบาลเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีภารกิจสำคัญ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ Inclusive Education หมายความว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กพิการหรือเด็กต่างด้าวต้องมีโอกาสเข้าเรียน ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนามากที่สุด"
ทำอย่างไรการศึกษาของเราจึงจะเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาเด็กทุกคนอย่างไม่ตกหล่น ปัจจุบันตัวเลขของกระทรวง บอกว่ามีเด็กที่ได้รับการศึกษาในระดับปฐมวัย คือ 4-5 ขวบขึ้นไปประมาณ 72% แต่ทางยูนิเซฟบอกว่านี่เป็นตัวเลขจากการนับเด็กทุกคนที่นั่งอยู่ในชั้นเรียน (Gross Enrollment) แต่หากนับกันตามอายุจริงๆ จะมีเพียงประมาณ 60% เท่านั้นตัวเลขนี้อาจจะดูว่าไม่ต่ำมากแต่ก็น่าตกใจอยู่เหมือนกัน เพราะบางประเทศ เช่น มาเลเซียที่เคยมาดูงานปฐมวัยของไทย เขากลับไปพัฒนาจนขณะนี้การันตีเลยว่าเด็กทุกคนต้องได้เข้าสู่ระบบ 1 ปีก่อนเข้าสู่ชั้นประถมศึกษา
ด้านผลการสอบ PISA ที่บอกว่าเราแพ้เขา ปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กทำคะแนนได้ดีบ้างไม่ดีบ้าง คือการได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัย ทุกครั้งที่ได้เห็นทีมเฟสปิก (FESPIC) ของเราได้เหรียญทอง หรือเห็นทีมนักกีฬาหญิง เช่น น้องเมย์ หรือว่าทีมวอลเลย์บอล ทำให้นึกถึงว่าหลาย ๆคน เคยได้รับโอกาสตั้งแต่สมัยอยู่ที่โรงเรียนหนองปรือ หรือที่ขอนแก่น
ฉะนั้น การขยายโอกาสไปสู่ผู้หญิงและคนพิการนั้นทำให้ทีมไทยแลนด์มีความเข้มแข็ง เพราะว่าหลายประเทศยังไม่ได้ขยายโอกาสเหล่านี้ไปสู่ผู้หญิงและคนพิการ ส่วนผู้ชายนั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับเรา ดังนั้นเรื่องของ Inclusive Education ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งเด็กสักคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กต่างด้าวที่มาอยู่ในแผ่นดินไทย ซึ่งขณะนี้มีจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าอยู่ในโรงเรียนและเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ ที่แม่สอดเมื่อหลายปีที่แล้วมีประมาณ 3,000 คน แต่ปัจจุบันมี 15,000 คน ฉะนั้นทำอย่างไรจึงจะสามารถโอบอุ้มเด็กเหล่านี้เข้ามาได้เรื่องที่สองคือ คุณภาพ (Quality of Education) เป็นประเด็นที่ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนจากการมุ่งเพื่อให้เด็กทำคะแนนสอบได้ดี หรือมีผลงานที่มานำเสนอแล้วดูดีเป็นทำอย่างไรให้เด็กสามารถจะพัฒนาเพื่ออนาคต มีการดำรงชีวิตที่ดี มีงานที่ดี
เรื่องที่ 3 คือ Personalize Education หลายท่านตระหนักแล้วว่าเด็กทุกคนมีความหลากหลายแตกต่างกัน แต่การเรียนการสอนของเรานั้นยังเป็นลักษณะเหมาโหล ทราบว่าโรงเรียนเด่นหล้ามีเด็กอัจฉริยะอยู่คนหนึ่งและทางโรงเรียนก็สามารถดูแลเขาได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดียังมีบางโรงเรียนที่ไม่สามารถโอบอุ้มเด็กซึ่งไม่เหมือนเพื่อนได้ สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่โรงเรียนต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะสงวนรักษาเด็กเหล่านี้ไว้ได้
ฉะนั้น จากผลคะแนน PISA มีเด็กไทยประมาณ 52% อยู่ในระดับ 1 หรือ ต่ำกว่า ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายประการ แต่ถ้าเด็กเหล่านี้ได้รับการเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ในระดับประถมศึกษา และมีการดูแลพัฒนาก็จะสามารถลดช่องว่างได้มาก
ส่วนตัวมองอาเซียนเหมือนกับดอกบัว 3 ชั้น กลีบนอกที่สวยและมีความสำคัญ หมายถึงเรื่องการแต่งกาย ธงชาติ อาหาร ฯลฯ ที่ช่วยทำให้เด็กเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน มีความรู้พื้น
ฐานเกี่ยวกับอาเซียน กลีบชั้นที่สอง คือ ไม่ใช่เพียงแค่ให้เด็กรู้ว่าธงชาติเป็นอย่างไร อาหารเป็นอย่างไร หรือแม้กระทั่งคำทักทายเป็นอย่างไร แต่ต้องรู้ที่มาของสิ่งเหล่านี้เริ่มตั้งแต่กระบวนการ โดยการให้เด็กค้นหากันเอง
ยกตัวอย่างเช่น ที่โรงเรียนอนุบาลลูกไก่ มีโครงงานรองเท้าที่ให้เด็กเรียนเรื่องรองเท้า แล้วให้ไปค้นหาจากอินเตอร์เน็ตจนในที่สุดไปเจอรองเท้าที่ทำจากขวดพลาสติก และในที่สุดเด็กๆ นำก็มาทำเป็นรองเท้าเวอร์ชันของเด็กๆ เอง กระบวนการค้นหาด้วยตัวเอง แบบนี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้มากกว่าจากการที่ครูไปทำการบ้านแล้วก็มาเล่าให้ฟัง ครั้งหนึ่งดิฉันเคยเชิญผู้บริหารโรงเรียนใหญ่มาประชุมพร้อมกัน แล้วก็เชิญครูที่สอนเรื่อง Critical Thinking จากโรงเรียนนานาชาติ ISB โดยเขาได้เอาผลงานเด็กมาวางเรียงบนโต๊ะ แล้วผู้บริหารเลือกว่าผลงานไหนมีคุณภาพในแง่ความคิดมากที่สุด ปรากฏว่าพวกเราจะเลือกอันที่สวย เรียบร้อย เป็นระเบียบ โชว์ได้ไม่อายใคร ซึ่งเป็นผลงานที่เด็กไปก๊อบปี้มาจากอินเตอร์เน็ตแต่วิทยากรเลือกผลงานที่ดูแย่ที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ DNA เป็นผลงานที่ไม่ได้ไปก๊อบปี้ใครมา เป็นรูปพิซซ่า มีความหมายว่า DNA หรือ โครโมโซมนั้นเหมือนไส้กรอกที่วางอยู่บนหน้าพิซซ่า ผลงานชิ้นนี้ไม่ได้มีความสวยงามเลย แต่เขาบอกว่าในแง่ความคิดอันนี้ดีที่สุด เพราะเด็กพยายามเปรียบเทียบ DNA กับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเขาว่าคืออะไร
ฉะนั้น อย่าไปเน้นความเนี้ยบด้วยการแลกกับโอกาสที่เด็กจะได้คิด ได้ครีเอต ยอมเห็นผลงานที่อาจจะไม่สวยงามมากนัก แต่เด็กได้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมเป็นความคิดของเขาเองที่ไม่ได้ถูกปรุงแต่ง แม้กระทั่งการแต่งชุดเช่น ให้แต่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ พ่อแม่คนหนึ่งให้ลูกแต่งเป็นสายฟ้า เป็นพายุลม เป็นแสงแดด นี่แสดงให้เห็นถึงความกล้าที่ให้เด็กได้คิด
สรุปว่ากระบวนการนั้นสำคัญ แต่นอกเหนือจากกระบวนการแล้วเรื่องของ Diversity เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องปลูกฝัง คือความเข้าใจในความแตกต่าง เข้าใจว่าในความแตกต่างก็มีความเหมือน เข้าใจประโยชน์ของความแตกต่าง เข้าใจว่าความแตกต่างมาหลอมรวมเป็นทีม และจะทำอะไรที่ดีมากกว่าความเหมือนได้อย่างไร