'Pizza Model' Model ความอยู่รอดอุตสาหกรรม SMEs ในยุควิกฤติ

 

'Pizza Model' Model ความอยู่รอดอุตสาหกรรม SMEs ในยุควิกฤติ

    สัมมนา "Pizza Model" Model ความอยู่รอดอุตสาหกรรม SMEs ในยุควิกฤติ ระดมสมองยักษ์ใหญ่สร้างโมเดลปฏิรูปอุตสาหกรรม SMEs เพื่อการอยู่รอดอย่างสร้างสรรค์รับมือ AEC และการค้าชายแดนตอบโจทย์ทุกวิกฤติทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมรายชื่อผู้บรรยายประกอบด้วย นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอตุสาหกรรม, นายจริวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์   นายกสมาคมธุรกิจไม้ และประธานสภาผลิตภัณฑ์ไม้แห่งอาเซียน, คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันและการมการบริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)คุณวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย,คุณสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคุณบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)

4601
     "สิ่งที่ SMEs ไทยต้องการคือ โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา คือการหาวิธีที่ทำให้เถ้าแก่กับผู้ทรงคุณวุฒิทำงานด้วยกันได้ เป็นการผสมผสานระหว่างคนไม่รู้ปฏิบัติกับคนไม่รู้ทฤษฎี นั่นก็คือ Know How จากประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจของเจ้าของธุรกิจ และ Knowledge จากมาตรฐาน การทดลอง การค้นคว้า และตำรา จึงจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรม (Innovation)" โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
++เราจะดัน SMEs ไปอย่างไร
    นายวิฑูรย์ : ที่ผ่านมามีโมเดล 4 อย่างที่ทำให้ธุรกิจ SMEs อยู่รอดได้ 1. ลดต้นทุน 2. เพิ่มคุณภาพ 3. การบริการ 4. ความยืดหยุ่น การลดต้นทุนนำไปสู่กลยุทธ์การกำหนดราคา (Pricing Strategy) ทำให้สามารถต่อสู้แข่งขันได้ ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Cost leadership เป็นเครื่องมือแรกที่จะทำให้ SMEs มีความได้เปรียบคู่แข่ง ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี 1. ลดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง เป็นกลยุทธ์การอยู่รอดระยะสั้นที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อองค์กรแต่เห็นผลทันที 2. สิ่งที่ดีที่สุดคือการลดต้นทุนในการผลิตการเพิ่มคุณภาพ สิ่งแรกที่ต้องทำคือให้ลูกค้าได้มีโอกาสใช้สินค้าของเรา แล้วสร้างให้เกิดประสบการณ์การเปรียบเทียบด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังรวมถึงคุณภาพด้านการบริการด้วย การบริการที่ดีจะทำให้ลูกค้าพึงพอใจที่จะยอมจ่ายในราคาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเจ้าของกิจการจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพนักงาน สุดท้ายคือความยืดหยุ่นและความรวดเร็วในการให้บริการและปรับปรุงกระบวนการ
    แต่ในโลกปัจจุบันมีเพียง 4 โมเดลข้างต้นไม่พอ ต้องมีโมเดลที่ 5 ด้วยก็คือ นวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องลงทุนลองผิดลองถูก และต้องเพิ่มโมเดลที่ 6 คือความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) จากจุดนี้สามารถต่อยอดไปเป็น อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ประกอบด้วย 2 เสาหลัก 1. การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Continuous Improvement) ซึ่งเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว คือได้ทั้งการลดต้นทุน และการรักษาสิ่งแวดล้อม 2. การประกอบกิจการด้วยการมีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
    กระทรวงอุตสาหกรรมจะแบ่งใบรับรองออกเป็น 5 ระดับคือ 1. Green Commitment 2. Green Activity 3. Green System 4. Green Culture และ 5. Green Network

4602

++สรุปสถานการณ์ SMEs ไทยในช่วงวิกฤติ
    นายจริวัฒน์: สถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อ SMEs วันนี้มี 4 Cs ประกอบด้วย 1. Cost คือ ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นในทุกรายการ รวมถึงต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มเป็น 300 บาท ซึ่งมีผลทำให้ SMEs หลายรายต้องปิดตัวลงไปโดยเฉพาะในต่างจังหวัด และบางรายก็จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อบ้าน2. Customer คือ เศรษฐกิจโลกหดตัวกำลังซื้อลดลง ตลาด AEC มีทั้งบวกและลบ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบการ 3. Competition คือ การแข่งขันกับธุรกิจในระดับเดียวกันและธุรกิจรายใหญ่ และเมื่อเปิด AEC การแข่งขันจะยิ่งสูงขึ้น และ 4. Crisis คือ เหตุการณ์ทางการเมือง ภัยธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบชัดเจนต่อธุรกิจท่องเที่ยว เกษตรกรรม และสินค้าฟุ่มเฟือย
    ธุรกิจ SMEs ทุกวันนี้ยืนอยู่บนความเสี่ยงเนื่องจากว่า มีสายป่านสั้น ผลผลิตที่ได้ต่ำ ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ราคาของสินค้าค่อนข้างแพง และข้อมูลน้อย จำนวน SMEs ปัจจุบันมีอยู่ประมาณกว่า 2 ล้านราย แบ่งออกได้เป็นกลุ่มที่พอมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับอาเซียนหรือระดับโลก อาทิ กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม สุขภาพ ท่องเที่ยว อะไหล่ เป็นต้น ซึ่ง Business model ของ SMEs กลุ่มนี้คือ การต่อยอด เชื่อมโยง สร้างมูลค่าเพิ่ม รักษาตลาด เน้นลงทุนเพิ่ม
    กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ต้องพึ่งบริษัทใหญ่ อาทิ การส่งออก การก่อสร้าง ซึ่ง Business model ของกลุ่มนี้คือ ต้องสร้างคลัสเตอร์ กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่รัฐต้องวางรากฐานให้ อาทิ กลุ่มพลังงาน โลจิสติกส์ ไอที อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นต้น
    ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันผู้ประกอบการต้องพยายามคิดในแง่บวก ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงจะมีโอกาสใหม่เกิดขึ้นทุกครั้ง และต้องปรับ mind set มี 3 ป. ประกอบด้วย
     ป. เปิด คือเปิดใจ อย่าไปยึดติดกับอดีต ที่ผ่านมาเคยทำแบบไหนแล้วประสบความสำเร็จแต่ปัจจุบันอาจจะใช้ไม่ได้ ป. ปรับ คือปรับทัศนคติ ปรับวิสัยทัศน์ ปรับแผนระยะสั้น ระยะยาว  และป. ปลง คืออย่าฝืนธรรมชาติ อะไรที่ทำไม่ได้ให้หยุดไว้ก่อน
++ปรับวินัยการเงินใน SMEs
    คุณโฆสิต :ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ผมมองว่าปีนี้แรงขับเคลื่อนจากฝั่งอุปสงค์ (Demand side) ภายในประเทศจะหาได้ยาก เพราะอุปสงค์จะขึ้นอยู่กับปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง ซึ่งปัจจัยสำคัญในอดีตประกอบด้วย เงินทุนไหลเข้า มาตรการจากทางภาครัฐ เป็นต้น และคาดว่าปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในปีนี้
    นอกจากนี้ยังมีอุปสงค์จากภายนอกประเทศ ซึ่งในปีนี้ได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป จะดีขึ้น อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีวิวัฒนาการปรับตัวมาตลอด คือพึ่งพาตลาดจากประเทศที่พัฒนาแล้วน้อยลงและหันมาจับตลาดของประเทศที่กำลังพัฒนามากขึ้น ฉะนั้นก็ไม่แน่ว่าไทยจะได้รับอานิสงนี้หรือไม่
    ดังนั้น SMEs ไทยต้องปรับวิธีการคิดไปสู่ฝั่งของอุปทาน (Supply side) คือการปรับตัวเอง โดยมุ่งความสำคัญไปที่การสร้างผลตอบแทนมากกว่าจำนวนการผลิตหรือยอดการขาย สิ่งแรกที่ต้องปรับคือเรื่องของการเงิน เพราะสภาพคล่องมีความสำคัญมากต่อธุรกิจ และสิ่งที่มีความสำคัญอันยิ่งยวดที่สุดคือการดูแลประสิทธิภาพในการใช้จ่าย
    กรณีศึกษาจากบริษัทฝรั่ง เมื่ออุปสงค์หดหายหรือไม่มีความชัดเจนเขาจะหันมาจัดการกับฝั่งอุปทานด้วยการหันมาควบคุมในเรื่องของต้นทุน (Cost control) อาทิ แนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste) การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management) การบริหารโลจิสติกส์ การจัดการระบบไอที เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ SMEs หลีกเลี่ยงมาตลอด แต่วันนี้มีความจำเป็นมากขึ้น
    นอกเหนือจากการบริหารต้นทุนแล้ว ยังมีในเรื่องของการเพิ่มคุณภาพด้วย (Quality improvement) เพราะนักเศรษฐศาสตร์ได้บอกไว้ว่าเมื่อผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงก็จะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพมากขึ้น ฉะนั้นผู้ประกอบการจะต้องไม่หวังว่าจะขายสินค้าได้มากขึ้น แต่ต้องหวังว่าจะได้เป็นผู้ถูกรับเลือกจากผู้ซื้อ และสิ่งสุดท้ายก็คือ การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added)
    อย่างไรก็ตามทั้ง 3 เรื่องนี้สำหรับ SMEs แล้วยังคงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะสิ่งเหล่าต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่าง เช่น เวลา และความรู้ เป็นต้น ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนผ่านครั้งไหนที่ง่ายและไม่เจ็บปวด และเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับ SMEs ที่จะทำด้วยตนเอง ฉะนั้นการจะเปลี่ยนผ่านได้ต้องอาศัยการมีพันธมิตรซึ่งเป็นจุดอ่อนของ SMEs ไทยสิ่งที่ SMEs ไทยต้องการคือ โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา คือการหาวิธีที่ทำให้เถ้าแก่กับผู้ทรงคุณวุฒิทำงานด้วยกันได้ เป็นการผสมผสานระหว่างคนไม่รู้ปฏิบัติกับคนไม่รู้ทฤษฎี นั่นก็คือ Know How จากประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจของเจ้าของธุรกิจ และ Knowledge จากมาตรฐาน การทดลอง การค้นคว้า และตำรา จึงจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรม (Innovation)
++กรณีศึกษา: ตลาดเก่า โอกาสใหม่ ของ SMEs ในยุดวิกฤติ
    คุณวิศิษฎ์ : ที่ผ่านมาเราได้มีการศึกษาโมเดลการทำธุรกิจ SMEs จากกิจการที่ประสบความสำเร็จในอดีตมากมาย ซึ่งความรู้เหล่านั้นล้วนแต่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น แต่ในระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านไปสิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจนทำให้ไม่สามารถยึดวิถีของโมเดลแบบเดิมอย่างเดียวได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารก็เปลี่ยนรูปแบบไป และสิ่งที่ SMEs หนีไม่ได้ก็คือการบริหารต้นทุน
    โมเดลการบริหารต้นทุนแบบดั้งเดิมที่ SMEs ปัจจุบันสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างหนึ่งก็คือ สมัยก่อนเจ้าของกิจการและลูกน้องจะร่วมทานข้าวเที่ยงซึ่งจะใช้เวลาช่วงนี้ในการพูดคุยเรื่องงานหรือประชุมไปในตัว ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาและเป็นการประหยัดต้นทุนไปในตัว
    ทางสภาอุตสาหกรรมฯกำลังมีแนวคิดที่จะทำให้คลัสเตอร์และ value chain ของสภาอุตฯ มีการเชื่อมโยงกันทำให้เกิดเป็น FDI Price (Federation of Industry Price) หรือ ราคาสภาอุตสาหกรรมฯ ที่ใช้ในเครือข่ายการผลิต เช่น กล่องกระดาษ โลหะ เป็นต้น
    นอกจากนี้สภาอุตสาหกรรมฯก็ได้เริ่มโครงการที่เรียกว่า Agro Industry Green โดยเริ่มจากสินค้าเกษตร แล้วจึงขยับมาเป็นสินค้าอุตสาหกรรม และยังได้จัดทำเป็น Green zone รวมถึง Green product ต่อไปก็จะพยายามผลักดันให้เกิดเป็นโรงงานสีเขียว
    คำแนะนำสำหรับกิจการขนาด M และ S ตลาดที่เหมาะที่สุดขณะนี้คือ การค้าชายแดน ซึ่งมูลค่าการค้าชายแดนปัจจุบันมีมูลค่าเกือบ 8 แสนล้านบาท สินค้าที่เกี่ยวข้องกับคนตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงเท้าสามารถส่งออกไปทั้งสิ้น
++ธรรมาภิบาลของ SMEs หลังปฏิรูปการเมือง
    คุณสนั่น : ความหมายของคำว่า ธรรมาภิบาล คือการบริหารกิจการ การเมือง สังคมที่ดี สร้างความสามัคคีในสังคมและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเป็นพลังนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
    อยากจะให้ดูคลื่นทางวิวัฒนาการมีทั้งหมด 6 คลื่น คือ 1. สังคมชนบท มีเกษตรกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีการปกครองเป็นระบอบราชาธิปไตย 2. สังคมเมือง มีอุตสาหกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตย 3. สังคมไซเบอร์ (สังคมไทยในปัจจุบัน) มีระบบสาระสนเทศเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับข้อมูลข่าวสาร การเมืองมีการใช้สื่อต่างๆ ให้เป็นประโยชน์4. สังคมความรู้ เศรษฐกิจจะถูกขับเคลื่อนโดยคนที่มีความรู้ การเมืองจะเข้าสู่ระดับของนโยบาย เช่น ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น 5. สังคมปัญญา (Wisdom Society) เศรษฐกิจการเมืองจะถูกขับเคลื่อนด้วยความคิดเรียกว่า Creative economy เป็นเศรษฐกิจที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างศาสตร์และศิลป์ เช่น Apple Samsung เป็นต้น
    6. สังคมแห่งความดี เมื่อสังคมดีก็จะทำให้เกิดเป็นเศรษฐกิจอารยะ เช่น Anti - corruption เป็นต้น ฉะนั้นหากมีการปฏิรูปเกิดขึ้น การเมืองก็จะดีมีอารยะ อาทิ บริษัท ปตท. ฯปูนซิเมนต์ไทย หรือโคคา-โคลา เวลาโฆษณาจะไม่เน้นว่าตัวผลิตภัณฑ์ดีที่สุดหรือถูกที่สุด แต่จะพูดถึงการสร้างความดีให้กับสังคมมากกว่า
    ฉะนั้น ธรรมาภิบาลสามารถยึดถือได้ 6 ประการด้วยกันคือ 1. หลักนิติธรรม 2. หลักคุณธรรม 3. ความโปร่งใส 4. ให้ทุกคนมีส่วนร่วม 5. มีความรับผิดชอบร่วมกัน 6. หลักความคุ้มค่า
++กำจัดจุดอ่อน สร้างจุดแข็งให้ SMEs ไทย
    คุณบุญชัย : ขอเริ่มประเด็นแรกด้วยคำว่า Change หรือการเปลี่ยนแปลง จุดอ่อนสำคัญของคนส่วนใหญ่คือเมื่อทำธุรกิจใดมานานๆ แล้วมักจะไม่อยากเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว แต่ธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาได้นั้นล้วนต้องมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลา หากไม่เปลี่ยนแปลงจะไม่มีความก้าวหน้า
    ประเด็นที่ต้องระวังคือ อย่าคิดว่าตัวเองดีอยู่แล้ว เพราะจะเป็นกับดักที่ทำให้ไม่อยากเปลี่ยน อย่างไรก็ตามเมื่อจะเปลี่ยนแปลงก็จำเป็นต้องรู้ว่าควรจะเปลี่ยนอะไร จุดอ่อนขององค์กรอยู่ตรงไหน ทำออกมาเป็นรายการแล้วจัดลำดับความสำคัญว่าสิ่งไหนที่แก้แล้วจะทำให้องค์กรเติบโตได้
    ต่อจากการเปลี่ยนแปลงแล้ว มีหลักที่อยากจะนำเสนอคือ 3T+1 ประกอบด้วย Target คือการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะส่วนมากเวลาทำธุรกิจมักจะลืมกำหนดเป้าหมายและมักจะพูดขึ้นมาลอยๆ ซึ่งเป้าหมายไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเลขเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่สำคัญต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงต่อการทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ
    Timing คือการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน เพราะหากไม่มีกรอบเวลาส่วนใหญ่ก็จะทำไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็จะลืมไปในที่สุด Tracking คือการติดตามงานอย่างเป็นระบบ และตัวสุดท้ายที่บวกเพิ่มคือ Teamwork เพราะการทำ 3T+1 สำคัญที่สุดคือความสามัคคีร่วมไม้ร่วมมือกัน ความเข้าใจในระบบ เป้าหมาย กรอบเวลา ที่เหมือนกัน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้ทุกที่

■ คอลัมน์ : สัมมนา / ■ THAN AEC
■ จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ AEC world ปีที่ 34 (2) ฉบับที่ 2,931 (53) วันที่ 16 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thanonline ดูทั้งหมด

666

views
Credit : thanonline


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน