สนามบินอาเซียนแน่น ไออาต้าเตือนเที่ยวบินดีเลย์-คิวต.ม.ยาว

    ไออาต้าชี้ขีดความสามารถสนามบินเมืองใหญ่อาเซียนทั้งกรุงเทพฯ จาการ์ตา ฮานอย มะนิลา ในการรับผู้โดยสารใกล้เต็ม หากไม่เร่งขยายอาคารผู้โดยสาร นักท่องเที่ยวเดินทางต้องเจอกับวิกฤติปัญหาเครื่องบินดีเลย์เป็นประจำและความแออัดของอาคารผู้โดยสารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    หนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ส รายงานว่า สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA-ไออาต้า) ได้ทำการวิเคราะห์พบว่าสนามบินนานาชาติในเอเชียซึ่งรวมถึงสนามบินที่ปักกิ่ง ฮ่องกง กรุงเทพฯ จาการ์ตา มะนิลา และฮ่องกง ได้รองรับผู้โดยสารจนเต็มและใกล้เต็มขีดความสามารถแล้วและในบางช่วงเวลา มีผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่อาคารผู้โดยสารจะรับได้ทำให้เกิดปัญหาความแออัดและการต่อคิวที่ยาวเหยียดที่เคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมือง
    Mr.Hermant Mistry ผู้อำนวยการไออาต้า ฝ่ายสนามบินและเชื้อเพลิง กล่าวจากการวิเคราะห์การจราจรของเที่ยวบินในอดีตและคาดการณ์ในอนาคตพบว่าสนามบินในมะนิลา ของฟิลิปปินส์ อินชอนของเกาหลีใต้ และดูไบ จะถึงจุดเต็มความสามารถในการรับผู้สารภายในปีนี้
    Mr.Mistry ระบุว่าปัจจุบันมีสนามบิน 90 แห่งทั่วโลกที่อาคารผู้โดยสารรับนักท่องเที่ยวเต็มขีดความสามารถแล้วและ ภายในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 230 แห่งหากไม่มีการสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม ขณะที่มีสนามบิน 6 แห่งที่รันเวย์ใช้งานจนเต็มที่แล้วในขณะนี้ และภายในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 60 สนามบินถ้าไม่มีการสร้างรันเวย์และที่จอดเครื่องบินเพิ่มเติม
    Mr.Mistry กล่าวว่าการแก้ปัญหาของสนามบินในเอเชียทำได้ 2 ทางคือการสร้างสนามบินใหม่หรือการบริหารสนามบินเก่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะต้องมีการฝึกอบรมและให้ความรู้แก่ผู้บริหารและพนักงานสนามบิน
    ไออาต้าคาดว่า ในช่วง 20 ปีข้างหน้า การเดินทางทางอากาศในเอเชียมีอัตราเพิ่มขึ้น 4.9  % ต่อปี สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ในระดับ 4.1% Mr.Vinoop Goel ผู้อำนวยการฝ่ายสนามบิน ผู้โดยสาร สินค้าและความปลอดภัยประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของไออาต้า ระบุว่ามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านสนามบิน
 สนามบินชางอีสนามบินชางอี   Mr.Goel ให้สัมภาษณ์สเตรตไทม์สว่า “สนามบินในสิงคโปร์และฮ่องกงทำงานเชิงรุก สนามบินในกัวลาลัมเปอร์และไทยช้านิดหนึ่ง แต่ทั้ง 2 แห่งกำลังแก้ปัญหาอยู่ สนามบินในเกาหลีใต้แก้ปัญหาล่วงหน้าได้ดีกว่าที่อื่น จาการ์ตามีข้อเสนอหลายทาง แต่ตัดสินใจขยายสนามบินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เมืองซิดนีย์คิดจะสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ส่วนปักกิ่งก็มีแผนจะสร้างสร้างเพิ่มเช่นกัน”
    Mr.Goel กล่าวว่า อาคารผู้โดยสาร 3 อาคาร และรันเวย์ของสนามบินชางอี ในสิงคโปร์จะใช้งานเต็มในปี 2561 แต่ถึงตอนนั้นชางอีคงจะเปิดอาคารผู้โดยสารหลังที่ 4 และเริ่มขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับรองผู้โดยสารให้ได้ 85 ล้านคนจากเดิมที่รับผู้โดยสารได้ 66 ล้านคน
    สเตรตไทม์สระบุว่าสนามบินชางอี ได้พันธมิตรเป็นบริษัทบริหารการจราจรทางอากาศที่สนามบินฮีทโทรว์ ของอังกฤษซึ่งเป็นสนามบินที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุดในโลก เข้ามาช่วยบริหารการจราจรทางอากาศที่ชางอี เพื่อให้สามารถรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น Mr. Goel กล่าวว่าไม่มีตัวเลขเป็นมาตรฐานว่ารันเวย์จะหรืออาคารผู้โดยสารจะรับเที่ยวบินหรือจำนวนผู้โดยสารเท่าไหร่จึงถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละสนามบินต้องการบริการลูกค้าอย่างไร
    “สิ่งสำคัญคือผู้บริหารสนามบินจะสร้างความสมดุลระหว่างการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่สนามบินให้สอดรับกับการขยายตัวของการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าสร้างไม่ช้าเกินไปหรือเร็วไปและใช้งานได้อย่างเต็มที่ก็จะได้ต้นทุนที่ถูกที่สุด”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,054   วันที่ 21  -  23  พฤษภาคม  พ.ศ. 2558
ข่าวแน่น แม่นยำ เชื่อถือได้ อ่าน #ThanOnline #ฐานออนไลน์  #Thansettakij #ฐานเศรษฐกิจ  #ThanTalk

Tags #ThanOnline - #ThanTalk - #Thansettakij - #ฐานเศรษฐกิจ - ThanOnline - ThanTalk - Thansettakij - ฐานเศรษฐกิจ

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thanonline ดูทั้งหมด

650

views
Credit : thanonline


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน