จงมีสันติภาพหลังศาลโลกพิพากษา

Thiap-Tha-Prachakhom จงมีสันติภาพหลังศาลโลกพิพากษา

    เรื่องราวในประชาคมอาเซียนสัปดาห์นี้ ไม่มีอะไรน่าสนใจได้มากเท่ากับกรณีพิพาทระหว่างประเทศกัมพูชากับประเทศไทย เรื่อง ปราสาทพระวิหาร ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ณ กรุงเฮก ได้แจ้งกำหนดการอ่านคำพิพากษาในคดี ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505  ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 หรือวันจันทร์นี้
    โดยรูปการแล้วไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไร ต้องมีบางฝ่ายได้ประโยชน์ บางฝ่ายเสียประโยชน์ตามคำพิพากษา และอารมณ์ของผู้นำ รวมถึงประชาชนของแต่ละฝ่ายยอมเป็นไปตามคำพิพากษาที่ฝ่ายตนได้รับประโยชน์ หรือฝ่ายตนที่เสียประโยชน์ คำพิพากษาที่จะมีขึ้น เป็นการทดสอบความอดทนของผู้คนอย่างแท้จริง ไม่ว่าประเทศไทยจะยอมรับคำตัดสินหรือไม่ก็ตาม สุดท้ายเชื่อว่าเมื่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินออกมาแล้ว ทุกประเทศทั่วโลกย่อมเชื่อในคำตัดสินนั้นแนวทางการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องของฝ่ายความมั่นคงของประเทศไทย ได้เตรียมการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว โดยมีแนวทาง ดังนี้
    1.แนวทางคำพิพากษา มีความเป็นไปได้ของคำพิพากษา 4 แนวทาง คือ (1) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ตัดสินว่าไม่มีอำนาจตีความ หรือมีอำนาจ แต่ไม่มีประเด็นต้องพิจารณา หรือ (2) ศาล ตัดสินตามแนวทางของกัมพูชา คือ ขอบเขต "บริเวณใกล้เคียงปราสาท" (vicinity) เป็นไปตามเส้นบนแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ระวางดงรัก หรือใกล้เคียง หรือ (3) ศาล ตัดสินตามแนวทางของไทย คือ ขอบเขต "บริเวณใกล้เคียงปราสาท" (vicinity) เป็นไปตามเส้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2505 หรือใกล้เคียง หรือ (4) ศาลตัดสินแบบกลาง ๆ คือ ศาล อาจให้ความกระจ่างและสรุปขอบเขตผลของคำพิพากษาเดิมในส่วนเหตุผลที่กล่าวถึงแผนที่ มาตราส่วน  1: 200,000 ระวางดงรัก เพื่อเป็นแนวทางให้คู่กรณีไปเจรจากันตามนั้น  นอกจากนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ตามผลคำพิพากษาในแต่ละกรณีด้วย
    2. กลไกการดำเนินการภายหลังศาล มีคำตัดสินที่ประชุมได้เห็นชอบ ดังนี้ 2.1 ให้หารือกับฝ่ายกัมพูชาเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับคำพิพากษาในกรอบของคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา (JC) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม เพราะเป็นกรอบการหารือเรื่องความร่วมมือทวิภาคีที่มีอยู่แล้ว โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะทาบทามนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาต่อไป
    2.2 ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์คำพิพากษาและแนวทางการดำเนินการ โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน มีผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน และทหารจากกองบัญชาการกองทัพไทย และทั้งสามเหล่าทัพ เป็นคณะทำงาน มีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนรัฐบาลเป็นเลขานุการ และอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นผู้ช่วยเลขานุการ คณะทำงานนี้มีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์คำพิพากษาของศาล โดยละเอียด และเสนอแนะแนวทางการดำเนินการต่อรัฐบาล
    2.3  ให้ตั้งคณะกรรมการแปลเอกสารในคดีตีความ เพื่อให้เอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยอย่างถูกต้อง เป็นเอกสารทางการที่ใช้ได้ และเก็บเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ต่อไป และมีการวางแผนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลในรูปแบบของสื่อต่าง ๆ เช่น สารคดีโทรทัศน์ สารคดีวิทยุ หนังสือการ์ตูน การพบปะกับสื่อมวลชนต่าง ๆ และการตรวจพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจและให้ความรู้ เป็นต้นจงมีสันติภาพหลังศาลโลกพิพากษา ครับ

■ คอลัมน์ : เทียบท่าประชาคม / ■ โอฬาร สุขเกษม
■ จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ AEC world ปีที่33 (1) ฉบับที่ 2,895 (37) วันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thanonline ดูทั้งหมด

452

views
Credit : thanonline


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน