ร่างเอกสารที่จะมีการรับรองหรือลงนามระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 23 และการประชุม อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารซึ่งจะมีการรับรองหรือลงนามระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 23 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศบรูไนดารุสซาลามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในระหว่างวันที่ 9-10 ตุลาคม 2556 จำนวน 5 ฉบับ และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองหรือลงนามเอกสารฯ ดังกล่าว
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 23 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศบรูไนดารุสซาลามจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ตุลาคม 2556 ได้แก่ (1) การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 16 (2) การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 16 (3) การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 16 (4) การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 11 (5) การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 1 (6) การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 16 (7) การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 5 และ (8) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 8
2. นอกเหนือจากการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนแล้วจะมีการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำของประเทศคู่เจรจาที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ โดยในระหว่างการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองหรือลงนามในเอกสารผลลัพธ์ต่าง ๆ เพื่อให้การประชุมมีผลที่เป็นรูปธรรม จำนวน 5 ฉบับ ดังนี้
2.1 ร่างปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี 2558 (Draft Political Declaration on ASEAN’s Post 2015 Vision) ซึ่งผู้นำอาเซียนจะรับรองโดยไม่มีการลงนาม มีสาระสำคัญคือ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ให้เริ่มกระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี 2558 เพื่อให้อาเซียนมีการรวมตัวกันมากขึ้นและสามารถตอบสนองประโยชน์ของประชาชน โดยจะมีการมอบหมายรัฐมนตรีและหน่วยงานของอาเซียนที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดทำวิสัยทัศน์ของอาเซียนภายหลังปี 2558 และเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานภายใต้กลไกคณะกรรมการประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council Working Group-ACCWG) เพื่อพิจารณาประเด็นที่อาเซียนควรให้ความสำคัญภายหลังการเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งรวมถึงการจัดทำเอกสารวิสัยทัศน์ของอาเซียนภายหลังปี 2558 (ASEAN’s Post-2015 Vision Document) ต่อไป
2.2 ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 16 ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน (Draft Joint Statement on Commemoration of the 10th Anniversary of ASEAN-China Strategic Partnership) ซึ่งผู้นำอาเซียนและจีนจะร่วมรับรองโดยไม่มีการลงนาม มีสาระสำคัญคือ เพื่อให้ผู้นำอาเซียนและจีนใช้โอกาสครบรอบ 10 ปีของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันถึงทิศทาง เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับจีนในทุกมิติ ในอนาคต เพื่อมุ่งยกระดับความสัมพันธ์ให้สามารถตอบสนองและพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและสิ่งท้าทายใหม่ ๆ ในภูมิภาคและโลก ตลอดจนส่งเสริมให้มีการหารือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้มากขึ้น
2.3 ร่างปฏิญญาของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 8 ว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหาร (Draft Declaration of the 8th East Asia Summit on Food Security) ซึ่งผู้นำของประเทศที่เข้าร่วมในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก จะร่วมรับรองโดยไม่มีการลงนาม มีสาระสำคัญคือ เพื่อผลักดันให้ประเทศที่เข้าร่วมในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่มีผลต่อการพัฒนาและยังเป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับสาขาความร่วมมือหลักในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ได้แก่ พลังงาน สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และความเชื่อมโยง (Connectivity) ทั้งนี้ จะมีการจัดทำโครงการและกิจกรรมภายใต้ปฏิญญานี้ รวมทั้งเชื่อมโยงการดำเนินงานเรื่องความมั่นคงด้านอาหารกับสถาบันระหว่างรัฐบาลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ต่อไป
2.4 ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทา (Draft Memorandum of Understanding on the Establishment of Nalanda University) ซึ่งผู้นำประเทศที่เข้าร่วมกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกอาจพิจารณาลงนาม มีสาระสำคัญคือ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการปรับสถานะของมหาวิทยาลัยนาลันทาให้เป็นสถาบันระหว่างประเทศ (international institution) และพัฒนาให้มหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาที่เป็นเลิศระดับนานาชาติ โดยบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทาระบุข้อผูกพันที่เกิดขึ้นโดยตรงต่ออินเดียในฐานะประเทศเจ้าบ้านในการอำนวยความสะดวกบุคลากรของมหาวิทยาลัย อาทิ การยกเว้นภาษีและการตรวจลงตรา และไม่ก่อพันธะผูกพันด้านงบประมาณหรืออื่นใดกับประเทศที่เข้าร่วมลงนามแต่อย่างใด ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อมีประเทศในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกร่วมลงนามอย่างน้อย 4 ประเทศ
2.5 ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศูนย์ทุ่นระเบิดอาเซียน (Terms of Reference of the ASEAN Regional Mine Action Centre-ARMAC) ซึ่งผู้นำอาเซียนจะรับรองโดยไม่มีการลงนาม มีสาระสำคัญคือ เพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิดด้วยความร่วมมือด้านมนุษยธรรมในระดับภูมิภาค และเพื่อให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปราศจากทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม ทั้งนี้ งบประมาณในการดำเนินการของศูนย์ฯ จะมาจากเงินอุดหนุนตามหลักความสมัครใจของประเทศสมาชิกอาเซียนและเงินอุดหนุนจากประเทศคู่เจรจาของอาเซียนและองค์กรระหว่างประเทศ
3. การร่วมรับรองและลงนามในเอกสารผลลัพธ์ในข้อ 2. จะเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมของผู้นำไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ในกรอบอาเซียน รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจา เพื่อช่วยส่งเสริมการสร้างประชาคมอาเซียนปี 2558 ในมิติต่าง ๆ อย่างครอบคลุม ตลอดจนเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของอาเซียนที่จะเริ่มกระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี 2558
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ตุลาคม 2556--จบ--