รายงานพิเศษ : อนาคตลำไยในอาเซียน

ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของเกษตรกรทางภาคเหนือ? มีเกษตรกรเกี่ยวข้องหลายแสนครอบครัว มีการส่งออกนำเงินตราเข้าประเทศปีหนึ่งกว่า 10,000 ล้านบาท? จนถึงวันนี้ลำไยยังมีอนาคตสดใส หรือไม่ ในขณะที่มีการเปิดตลาดเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยจึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับจัดเสวนา “อนาคตลำไยไทยในอาเซียน”ขึ้น


 
ล่าสุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้-สกว.ระยะที่ 2” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตมิมลมาศ ผู้อำนวยการกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นผู้ลงนาม และมี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ผศ.พาวิน มะโนชัย และรองผู้อำนวยการ (สกว.) รศ.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ เป็นพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์เครือข่ายและพัฒนาลำไย มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ทั้งนี้ เพื่อสานต่อการทำงานและมุ่งส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรอย่างต่อเนื่องในกิจกรรม 3 ด้าน ได้แก่ การวิจัย การพัฒนาเครือข่าย และการจัดการด้านสารสนเทศ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการบริหารจัดการสวนภายใต้สภาพเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้เกษตรกรในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งด้านแรงงาน ผลผลิตและการตลาด โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี

ดร.จันทร์จรัส?? ?เรี่ยวเดชะ ?รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่าจากการศึกษาของฝ่ายเกษตรพบว่า ผลิตผลที่ส่งออกได้ เริ่มมีปัญหามากขึ้น ประเทศจีนมีเงื่อนไขใหม่ๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียนบางแห่งก็พัฒนาตามการผลิตของไทย เช่นเวียดนาม มาเลเซีย ที่เคยเน้นผลิตยาง ก็สนใจผลไม้มากขึ้น อินโดนีเซียซึ่งเป็นแหล่งส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทยก็มีแนวทางคล้ายกัน

ในการศึกษาวิจัยอุปสรรคการค้าผลไม้ไทยในอาเซียน พบว่าประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของประเทศไทย ต่อเนื่องกับจังหวัดสระแก้ว มีภูมิประเทศและสภาพอากาศใกล้เคียงกับแหล่งผลไม้ของไทย จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาพืชผลให้ได้คุณภาพสูงแข่งกับประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย ก็กำลังพยายามพัฒนาการผลิตผลไม้ให้ดีขึ้น ส่วนประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำเข้าลำไยรายใหญ่จากประเทศไทย ก็มีมาตรการที่เป็นอุปสรรคมากขึ้น โดยนอกจากกฎกระทรวงควบคุมสินค้าทางการเกษตรจากต่างประเทศ ทำให้การนำเข้าผลไม้สดต้องเปลี่ยนจากการบรรจุในตู้คอนเทเนอร์เดียว เป็นการจัดการให้ผลไม้สดแต่ละชนิดผ่านเข้าด่านต่าง ๆ ตามระเบียบที่กำหนด เช่นส้มโอ ต้องขึ้นท่าเรือสุราบายา ลิ้นจี่ขึ้นท่าเรือเมืองเมดาน น้อยหน่า ส่งที่สนามบินกรุงจาการ์ตา ส้ม ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มะละกอ ขึ้นที่ท่าเรือเมืองมากาซซ่า ชมพู่ เงาะ ส่งทางเครื่องบิน ส่วนทุเรียน ลำไย สับปะรด มะขาม นำเข้าได้ทุกจุดทั่วประเทศ?วงเสวนาอนาคตผักผลไม้ไทยในอาเซียน พบอุปสรรคขวางหน้าเพียบ เจอกีดกันสารพัด หลักการเคลื่อนย้ายสินค้าเสรีกลายเป็นเลื่อนลอย เพราะทุกประเทศต่างพัฒนาเพื่อตัวเอง

นายอุทัย นพคุณวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เมื่อกลางปีที่ผ่านมาจีนได้ประกาศภายในให้ทุกด่านที่นำเข้าลำไยจากไทยเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น โดยเก็บตัวอย่างว่ามีสารตกค้างในปริมาณที่เกินกำหนดหรือไม่ การส่งออกต้องระบุที่มาของแปลงผลิต โรงคัดบรรจุหรือ “ล้ง” ว่ามาจากที่ใด มีใบรับรองสุขอนามัยว่าไม่มีโรคแมลง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างไม่เกิน 50 ppm มีโรงรมที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ซี่งจีนเป็นประเทศเดียวที่ต้องการใบรับรอง ล่าสุดมีการตรวจพบสารตกค้างเกินค่าที่กำหนดจึงถูกสั่งห้ามนำเข้าแล้ว 2 ราย ซึ่งต้องแจ้งเตือนผู้ส่งออกให้รับทราบถึงปัญหาและช่วยกันแก้ไข

ผศ.จักรพงษ์? พิมพิมล คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า ห้องรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตามมาตรฐานที่ออกแบบทำวิจัยขึ้นมามีต้นทุนค่อนข้างสูง ประมาณตู้ละ 4,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการลังเลที่จะใช้วิธีการนี้ แต่จากการทดลองร่วมกับผู้ประกอบการส่งออกลำไยไปจีนที่ด่านเซี่ยงไฮ้พบว่าผ่านมาตรฐาน จึงขึ้นกับตัวผู้ประกอบการว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้หรือไม่ นอกจากนี้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จัดเป็นยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงกลาโหมทำให้เป็นปัญหาติดขัด จึงได้พูดคุยกันจนเกิดความเข้าใจและขออนุญาตได้ง่ายขึ้น แต่ยังมีความกังวลว่าจะใช้แก๊สดังกล่าวไม่ต่อเนื่อง เพราะใช้เฉลี่ยเกือบร้อยตู้ต่อวัน มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงรับเป็นฮับสต็อคให้ผู้ประกอบการนำไปใช้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะแรก

รศ.ดร.เริงชัย ตันสุชาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สัดส่วนการส่งออกลำไยสดไปฟิลิปปินส์เทียบกับมูลค่าของผลไม้ทั้งหมดมากกว่าร้อยละ 60 ในทุกปี เพราะมีรสหวาน รับประทานง่าย ราคาไม่แพง หาซื้อได้ในตลาดสดและห้างสรรพสินค้า นอกจากลำไยตามฤดูกาลแล้วไทยยังส่งออกลำไยนอกฤดูในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ด้วย แต่ลำไยจากไทยได้ถูกซื้อขายผ่านประเทศที่สามโดยจีนและไต้หวันเป็นนายหน้า เพราะไทยไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าโดยตรง จึงเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก อีกทั้งรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาการปลูกลำไยภายในประเทศเพื่อสร้างรายได้และลดการนำเข้า อีกทั้งเวียดนามก็เป็นนายหน้าขายให้จีนตะวันออกและต่อไปอาจส่งให้ฟิลิปปินส์ด้วย ยิ่งจะทำให้บทบาทของผู้ประกอบการไทยลดลง

ผศ.พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่าโจทย์ใหญ่ในการหาทางออกให้กับเกษตรกรไทยท่ามกลางวิกฤติความเสี่ยง ยังมีจุดแข็งเพราะไทยมีพันธุ์ลำไยที่ดี สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย รวมถึงมีองค์ความรู้ทางวิชาการและภูมิปัญญาดั้งเดิมของเกษตรกร จึงต้องใช้จุดแข็งนี้พัฒนาเพื่อให้ต่อสู้กับคู่แข่งขันได้ และขอยืนยันว่าการผลิตลำไยนอกฤดูยังเป็นหัวข้อสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาผ่อนหนักเป็นเบาได้ แม้จีนจะมีมาตรการกีดกันทางการค้ารุนแรงมากขึ้นเพราะต้องดูแลเกษตรกรของตัวเอง จึงพยายามรณรงค์ตีจุดอ่อนว่าไทยมีสารตกค้างสูง ขณะที่ปัญหาการผลิตของไทยที่วิกฤติมาก คือ การขาดแคลงแรงงานในการเก็บเกี่ยว ค่าแรงแพง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน จึงต้องพยายามออกแบบการปลูกใหม่ให้เหมาะสม รวมถึงมีการจัดการสวนที่ดีสามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ ryt9.com ดูทั้งหมด

266

views
Credit : ryt9.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน