AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 4) พลเมืองอาเซียนกับการอยู่ร่วมกัน

 

AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 4) พลเมืองอาเซียนกับการอยู่ร่วมกัน

    งานสัมมนา "AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 4)" ณ ชั้น 3 ห้องคริสตัล ฮอลล์ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือระหว่าง หอการค้าไทย, กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อภิปรายหัวข้อ "พลเมืองอาเซียนกับการอยู่ร่วมกัน" วิทยากรประกอบด้วย นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ ผู้อำนวยการกองอาเซียน สำนักปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ SVP, ผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ สาขาโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และ นายจินดา ตันตราจิณ ผู้อำนวยการโรงเรียนจินดาพงศ์ ดำเนินรายการโดย ดร.อริสรา กำธรเจริญ ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 และช่อง TNN
**พลเมืองอาเซียน 600 ล้านคนจะอยู่ด้วยกันอย่างไร และหลอมรวมเป็นหนึ่งได้อย่างไร ?
ดร.ปิติ ศรีแสงนามดร.ปิติ ศรีแสงนาม    ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้ใหญ่หลายๆ ท่านเติบโตมาจากประวัติศาสตร์ชาตินิยม ในช่วงที่เกิดสงครามเย็น ทำให้มีมุมมองต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ภาพลักษณ์เหมือนปิศาจร้าย และมุมมองนี้ได้ถูกถ่ายทอดให้คนในรุ่นต่อๆ มา ดังนั้นแทนที่จะมีมุมมองที่เห็นถึงโอกาสในการขยายตลาดไปในอาเซียน กลับกลายเป็นว่า มองอาเซียนด้วยสายตาดูถูก และมองเขาว่าด้อยกว่า ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำอันแรกคือปรับเปลี่ยนความคิดและมุมมอง กำจัดความเข้าใจเดิมๆ ออกไปให้ได้จริงๆ แล้วอาเซียนนั้นมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประเพณี วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน  ถ้าเรารังเกียจประเทศเพื่อนบ้าน เท่ากับรังเกียจกันเอง สิ่งที่เราภูมิใจอย่างเช่น นาฏศิลป์ไทย ดนตรีไทย ต่างได้อิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาวเสี่ยงเทียน ลาวดวงเดือน เขมรไล่ควาย จีนรำพัด แขกมอญบางขุนพรหม เป็นต้น
    ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือ ต้องมองจุดที่ดีของเขาและพยายามนำมาสอนให้ SMEs เรียนรู้และปรับใช้ เช่น ทำอย่างไรถึงจะชิลๆ แบบบรูไน ทำอย่างไรถึงรู้จักอดทนเก็บหอมรอมริบเหมือนกัมพูชา  ทำอย่างไรให้รู้รักสามัคคีไม่แตกแยกเหมือนประเทศหมู่เกาะที่มี 1.7 หมื่นเกาะอย่างอินโดนีเซีย หรือมีทะเลคั่นกลางอย่างมาเลเซีย
    ทำอย่างไรให้ทำงานและมีความสุขเหมือนคนลาว ทำอย่างไรให้ยึดมั่นศีลธรรมศาสนาเหมือนคนเมียนมาร์ หรือเก่งดนตรีและศิลปะเหมือนคนฟิลิปปินส์ ในขณะเดียวกันก็มีหัวการค้าเหมือนคนสิงคโปร์ และทำอย่างไรให้ขยันเหมือนคนเวียดนาม ที่สำคัญที่สุดต้องมีน้ำใจและต้องมีความเป็นเจ้าบ้านแบบคนไทย เพราะฉะนั้นอาเซียนคือส่วนเติมเต็มของประเทศไทย
    บนเส้นทาง R3E ที่วิ่งไปทางเมียนมาร์ จะผ่านยอดเขาหิมะที่สูงที่สุดในอาเซียน เรียกว่ายอดเขา “ข่ากาโบราซี” ทำอย่างไรที่เมื่อมีถนนเชื่อมกันแล้ว มีระบบ ASEAN Single Visa แล้ว ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้ ประเทศไทยไม่มีทะเลทราย แต่อาเซียนมีทะเลทรายอยู่ที่เวียดนามคือ มุยเน่ ทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้การท่องเที่ยวของเราสมบูรณ์มากขึ้นขณะนี้ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 2.7 ล้านคนตัวเลขทางการ และตอนนี้บริษัทโทรศัพท์ทุกเครือข่ายมีโปรโมชันพิเศษสำหรับคนต่างด้าวแล้ว บริษัทประกันเริ่มมีประกันชีวิตสำหรับคนลาว คนเมียนมาร์ แปลว่า ธุรกิจเหล่านี้มองเห็นเป็นโอกาส
สราญภัทร อนุมัติราชกิจสราญภัทร อนุมัติราชกิจ    คุณสราญภัทร อนุมัติราชกิจ กล่าวว่า การจะเป็นประชาคมที่แท้จริงได้ต้องทำให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วม จากการรวมตัวกันจริงๆ ของคนกว่า 600 ล้านคน ทำอย่างไรให้รู้สึกว่าต้องการเกิดปฏิสัมพันธ์เป็นพวกเดียวกัน อาเซียนจึงได้มีการตกลงกันว่าประชาชนต้องเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ข้าราชการที่อยู่ในส่วนต่างๆ จะเข้ามาร่วมมือกันได้อย่างไรบ้าง เราจึงได้วางแผนการดำเนินงาน 3 เสาขึ้น คือเสาเศรษฐกิจ (AEC) เสาการเมืองความมั่นคง (APSC) และเสาที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดคือเสาสังคมและวัฒนธรรม (ASCC)
    ทั้ง 3 เสาจะต้องเดินไปด้วยกัน ด้านสังคมและวัฒนธรรมนั้นเน้นประชาชนเป็นหลัก มีเป้าหมายเพื่อให้พลเมืองอาเซียนคำนึงถึงผลประโยชน์และความผาสุกของส่วนรวมเป็นหลัก และต้องมีหลักการ มีความยุติธรรม คำนึงถึงมนุษยชน มีน้ำใจซึ่งกันและกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่สำคัญคือจะต้องมีความรู้สึกเป็นอาเซียน เป็นภาพของประชาคมและวัฒนธรรมของอาเซียนที่ต้องให้เกิดขึ้น
    การพัฒนามนุษย์มีทั้งในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา รวมถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพ เรื่องสิทธิมนุษยชน กลุ่มเป้าหมายคือคนกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ผู้ ด้อยโอกาสทั้งหลาย ธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์คุณธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์  กล่าวว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ 1. ปลอดภัยมากเพราะโทษหนักมาก 2. มีศักยภาพ สรุปได้ 3 - 4 ประการคือ 1. คือ มีการเมืองที่นิ่ง เวลา implement policy ก็สามารถเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ทั้งประเทศ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็วมาก
    2. คนเวียดนามกว่า 90 ล้านคน จำนวน 60% อายุต่ำกว่า 30 ปี เพราะฉะนั้นจะเป็นสังคมที่อยู่ในวัยทำงานเป็นส่วนใหญ่ และปัจจุบันคนเหล่านี้ยังไม่ใช่กลุ่ม middle class หากวันหนึ่งสามารถก้าวขึ้นมาเป็น middle class ได้ consumption มหาศาล ภายในประเทศจะเพิ่มอย่างมาก
    3. เวียดนามเป็นประเทศที่มี national resource ทุกอย่างเหมือนไทยและมีเป็นจำนวนมหาศาล เช่น น้ำมันสามารถอยู่ได้อีก 40-50 ปี ถ่านหินอยู่ได้อีกเป็นร้อยปี ฉะนั้นนี่คือศักยภาพของประเทศเวียดนามที่จะเจริญเติบโตต่อไป และอีกอย่างคือเขามองเมืองไทยเป็นฐานที่วันหนึ่งจะต้องแซงไปให้ได้คนเวียดนามเหมือนคนจีน แต่ว่าผู้หญิงจะเป็นใหญ่ในบ้าน ที่น่าสนใจคือ ไม่มีการร่วมทุนครั้งไหนระหว่างคนไทยกับคนเวียดนามประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีความคิดต่างกันเยอะมาก คนเวียดนามมีความ aggressive ต่างกับคนไทย ทุกอย่างไม่มียอมง่ายๆ และเป็นสังคมใฝ่ศึกษาหาความรู้ ช่วงเสาร์-อาทิตย์โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษจะแน่นมาก อีกทั้งมีบุคลิกที่กล้าแสดงออก เมื่อมีปัญหาจะยกมือแย่งกันตอบ หรือแย่งไมค์กันร้องเพลงที่คาราโอเกะ เวลาให้ออกไปรำก็ไม่มีใครแสดงความเขินเลย
    ด้วยเหตุนี้ คนเวียดนามจึงมีความสามารถด้านการเรียนภาษามาก เด็กที่จบอักษรศาสตร์มาสามารถพูดภาษาไทย ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วดังนั้นหากจะส่งคนไปทำธุรกิจที่เวียดนามแนะนำว่า 1. ให้ส่งคนที่เก่งที่สุดไป เพราะต้องเจออุปสรรคมหาศาลมากมาย 2. เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ให้ส่งคนที่สามารถตัดสินใจได้ไป
จินดา ตันตราจิณ จินดา ตันตราจิณ     อาจารย์จินดา ตันตราจิณ กล่าวว่าสำหรับในวงการการศึกษาของไทย เพิ่งมีการขยับตัวเมื่อปี 2553 เริ่มมีการประชุมของภาครัฐและดำเนินการขั้นพื้นฐาน ปี 2554  มีการกำหนดโรงเรียนยุทธศาสตร์ด้วยการทำโรงเรียนต้นแบบ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ สพฐ. จึงได้ประชุมกับหน่วยงานต่างๆ และตั้งโรงเรียนต้นแบบขึ้นครั้งแรกเลยในปี 2554 โดยมี 3 รูปแบบ  คือ 1. เรียกว่า Sister School เป็นโรงเรียนที่สอนภาษาอังกฤษเป็นหลัก และมีศูนย์อาเซียนอยู่ในโรงเรียน พร้อมให้เลือกสอนภาษาเพื่อนบ้านอีก 1 ภาษา เบื้องต้นคัดเลือกมา 30 โรงเรียนต้นแบบ ขณะนี้ใกล้จะสำเร็จแล้ว
    2. เรียกว่า Buffer School เป็นโรงเรียนที่สอนภาษาต่างชาติ 1 ภาษาอย่างเข้มข้นและจะต้องมีศูนย์อาเซียน คัดเลือกมาอีก 24 โรง และ 3. เรียกว่า Education Hub เป็นโรงเรียนศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนนานาชาติในอาเซียนทั้ง 9 ประเทศมาเรียนได้ เป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานสากล และหลักสูตรสากล ได้เริ่มทำตามชายแดนแล้วอีก 14 โรงที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ หน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงก็ถูกยุบทำให้ไม่มีคนดูแลด้านวิชาการ ส่งผลให้การศึกษาของโรงเรียนเอกชนตกต่ำ หากจะอยู่รอดได้ต้องดิ้นรนกันเอง โรงเรียนไหนที่มีศักยภาพ มีเงินหน่อย ก็สามารถหาคนได้ โรงเรียนเล็กๆ ก็ตามมีตามเกิด เขาดูแลแต่เฉพาะโรงเรียนรัฐ ไม่มีพูดถึงเอกชนเลย และให้งบมาเพียงปีละ 90,000 บาท
    ปีที่แล้วผมไปทำยุทธศาสตร์ที่ลาว ทำแผนเสนอกระทรวงและกรรมาธิการ ก็เห็นดีด้วยปีนี้จึงเลยได้งบมาและให้ตั้งกลุ่มใหม่ 26 กลุ่ม เรียกว่ากลุ่มเครือข่าย ให้งบผ่านไปที่กลุ่มแต่ละกลุ่มดูแล 30-40 โรง รวมทุกกลุ่มเป็นกว่า 700 โรง ทำให้สามารถติดต่อเครือข่ายได้รวดเร็ว ใช้เวลาสื่อสารไม่นานเพียง 2 วัน
    นอกจากนี้ก็กำลังดำเนินการเตรียมทำหลักสูตรอาเซียน เป็นหลักสูตรกลางให้กับโรงเรียนใดก็ได้ไม่ว่า จะเป็นรัฐบาลหรือเอกชนมาเอาไปปรับใช้เป็นหลักสูตรอาเซียนเพิ่มเติมได้ เรียกว่า หลักสูตรอาเซียนศึกษา ใช้ตั้งแต่อนุบาลไปถึงมัธยมเลย  ส่วนที่โรงเรียนผมเองเริ่มทำเป็นต้นแบบ ปีที่แล้วมีการจำลองอาเซียนไว้ที่โรงเรียน โดยทำเป็นฐาน 10 ฐาน และบรรจุข้อมูลไว้หมด เช่น การแต่งกาย ภาษาที่ใช้ อาหารการกิน และดอกไม้ประจำชาติ รวมถึงมีเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับแต่ละประเทศ
**ความเชื่อมโยงของ 3 เสา โดยเฉพาะความเกี่ยวเนื่องกับประเด็นของพลเมือง และแง่เกี่ยวกับ SMEs?
    ดร.ปิติ ศรีแสงนาม  กล่าวว่าปัญหาอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการคือชอบมองอาเซียนแบบแยกส่วน ประชาคมอาเซียนเป็นความสัมพันธ์ในทุกมิติ คือ การเรียนรู้เรื่องกฎระเบียบ เรื่องการค้า การใช้สิทธิประโยชน์ การลงทุน แต่หากเราสนใจเฉพาะ AEC คุณกำลังใช้อาเซียนแบบไม่เต็มศักยภาพ โดยเฉพาะด้านการเมืองความมั่นคง และด้านสังคมและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะละเลย
    การที่อาเซียนเกิดขึ้นนั้นไม่ได้หมายความว่า ทุกเมืองหรือทุกพื้นที่จะกลายเป็นจุดศูนย์กลางได้ จะมีเฉพาะบางแห่งเท่านั้น เช่น หาดใหญ่เป็นจุดศูนย์กลางได้ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจ แต่เพราะมีสังคมและวัฒนธรรมที่ดีเนื่องจากอยู่ใกล้กับมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย นักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านี้หลั่งไหลเข้ามา กลางวันซื้อของตลาดกิมหยง มาประมูลยาง ขึ้นไปไหว้พระบนเขา อาคารพาณิชย์ในหาดใหญ่สามารถเปิดบริการได้ 24 ชม. เนื่องจากสังคมและวัฒนธรรมของประเทศรอบๆ เป็นสังคมมุสลิม ไม่มีบาร์เบียร์ ไม่มีคาราโอเกะ ไม่มีอาบอบนวด ดังนั้นอาคารพาณิชย์เหล่านี้กลางวันขายของ กลางคืนขายความบันเทิง ทำให้เศรษฐกิจในหาดใหญ่เติบโต แต่เศรษฐกิจของหาดใหญ่ก็พังลงเพราะการเมืองกับความมั่นคง โดยเมื่อ 3 ปีที่แล้วเกิดการระเบิดขึ้นที่โรงแรมลีการ์เด้น กว่าจะเรียกความมั่นใจจากนักท่องเที่ยวได้ต้องใช้เวลา 3 - 4 เดือน
    เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่า ถ้าสนใจอาเซียนเฉพาะด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ก็อาจจะพอทำมาหากินได้ แต่ถ้าอยากปลอดภัยมากขึ้นและลดความเสี่ยง ต้องสนใจกฎระเบียบการเมืองความมั่นคงในอาเซียนและภูมิภาคธุรกิจ ความมั่นคงไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องปิดเปิดด่านหรือภัยก่อการร้ายเท่านั้น แต่รวมถึงด้าน Nontraditional Security คือความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน การบริหารจัดการภายใต้ภัยพิบัติ ประเทศไทยที่เคยคิดว่าไม่มีความเดือดร้อนใดๆ ที่ผ่านมาเริ่มมี พายุนาร์กิส สึนามิ มหาอุทกภัย ควันไฟจากอินโดนีเซีย ศูนย์อาเซียนศึกษากำลังเสนอโครงการให้กับสำนักเลขาธิการอาเซียนเรื่อง ASEAN Energy Market Innovation ต่อไปเราจะมีโอกาสซื้อพลังงานจากต่างประเทศได้ราคาที่ถูกลง
    นอกจากนี้เรื่องสังคมและวัฒนธรรมก็ต้องให้ความสนใจเช่นกัน ประเด็นคือ SMEs ไทยจำนวน 2.9 ล้านราย จากการทำสำรวจเมื่อปีที่แล้ว 46% ของ SMEs บอกว่าตัวเองรู้จักอาเซียน แต่คนที่รู้จักจริงๆ เหลืออยู่เพียงกว่าๆ  2% เท่านั้น ที่สามารถบอกได้ว่า AEC, APSC, ASCC คืออะไร และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง เพราะฉะนั้นต้องออกไปอาเซียน งบประมาณค่าตั๋วเครื่องบินไม่เกิน 8,000 บาท นอนโรงแรม 3 ดาว 1 สัปดาห์ใช้เงินไม่เกิน 30,000 บาท ขอยกตัวอย่างที่จับต้องได้ เช่น สินค้าเสื้อชั้นใน จากการวิจัยเชิงลึกพบว่า เสื้อชั้นในที่ขายในอาเซียนหน้าตาไม่เหมือนกัน เสื้อชั้นในคัพเอที่ขายในประเทศไทยเวลาไปขายที่เวียดนามต้องแปะป้ายว่าคัพบี ถ้าคัพบีต้องแปะว่าคัพซี เพราะคนเวียดนามอยากมีหน้าอกใหญ่ ฉะนั้นฟองน้ำที่ใส่ต้องหนา และไม่สนว่าคนจะรู้หรือไม่ เนื่องจากชุดของเขาปิดตั้งแต่คอถึงข้อเท้า
    ตรงกันข้ามประเทศไทยถ้าใส่ฟองน้ำหนาๆ เจ๊ง เพราะประเทศไทยร้อน ต้องฟองน้ำอยู่ด้านข้างแล้วดัน เพราะคนไทยชอบเนินอกมากกว่า ที่ สปป.ลาว นุ่งซิ่นเสื้อตัวเล็กเข้ารูปฉะนั้นตรงหน้าอกไม่ค่อยกังวล จะนิยมเป็นเสื้อชั้นในเต็มตัว ออกเป็นสเตย์เพื่อรัดให้เข้ารูปเวลาใส่ซิ่นจะได้สวย ในเมียนมาร์ด้วยความที่ยังเป็นวิถีพุทธและเป็นสังคมค่อนข้างปิด จะชอบเสื้อชั้นในแบบเต็มตัว เป็นลูกไม้ทั้งตัว ส่วนกัมพูชาชอบแบบอัปสราเน้นความโปร่ง ด้านบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นอิสลามฉะนั้นจะใส่แบบพื้นๆ ไม่มีอะไรหวือหวา ยกเว้นตลาดบน สำหรับฟิลิปปินส์เป็นส่วนผสมระหว่างไทยกับเวียดนาม ทั้งเนินอก ทั้งด้านข้าง ทั้งหยดน้ำ และใหญ่ด้วย ดังนั้นแล้วต้องไปศึกษาดูงานเชิงลึกว่าเขาชอบแบบไหน และนั่นจะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากอาเซียนได้อย่างเต็มที่
**แผนงานที่จะทำให้รู้สึกว่าเป็นพลเมืองอาเซียนที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่ได้ทำไปแล้วหรือกำลังดำเนินการมีอะไรบ้าง ?
    คุณสราญภัทร อนุมัติราชกิจ กล่าวว่าก่อนที่จะเป็นพลเมืองอาเซียน ทัศนคติเป็นสิ่งแรกที่ต้องปรับ การยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ทางศาสนา หรือแม้แต่ภาษา ประชาชนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ฉะนั้นจะใช้ภาษาไทยสื่อสารอย่างเดียวไม่ได้แล้ว และไม่ใช่เฉพาะภาษาอังกฤษที่เป็นภาษากลางเท่านั้น แต่ยังมีอีก 7 ภาษา การที่จะตระหนักรับรู้และก้าวเข้าไปสู่อาเซียน ต้องรู้ว่าอาเซียนคืออะไร ตรงนี้ในระบบการศึกษาไม่น่าเป็นห่วงแล้ว นอกจากนี้ก็มีแผนพัฒนาให้ข้าราชการได้รู้เรื่องอาเซียน ให้มีความรู้สึกว่าเป็นพลเมืองอาเซียนภายใน 2 ปีข้างหน้า รวมถึงให้รู้ว่าประเทศต่างๆมีจุดแข็งจุดด้อยจุดเด่นอย่างไร
    เพราะฉะนั้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและอีก 2 ปีข้างหน้า หน่วยงานราชการต่างๆ จะมีการอบรมสร้างความตระหนักรับรู้ในกลุ่มคนต่างๆ เยอะมาก จะมีหลักสูตรเรื่องอาเซียนเพื่อให้ข้าราชการรับรู้เรื่องอาเซียน และได้ปรับทัศนคติให้เขามีความรู้สึกร่วม จะมีการอบรมภาษาอังกฤษให้กับคนหลายๆ ระดับ ระดับผู้บริหาร ระดับผู้ที่ต้องไปเจรจาต่อรอง ต้องเขียน speech เป็นต้น
    นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรอบรมภาษาเพื่อนบ้านให้กับข้าราชการ ซึ่งในปีหน้าจะเริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัจจุบัน กรมข้าราชการพลเรือน ก็มีหลักสูตรกลางให้กับข้าราชการทุกกระทรวง เป็นหลักสูตรในการพัฒนาเพื่อให้ข้าราชการได้เตรียมความพร้อม
    นอกจากนั้นเรามีเครือข่ายนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพอาเซียน ที่ทำให้เราได้มีการช่วยเหลือและพัฒนาซึ่งกันและกัน มีการส่งเด็กๆ เยาวชนให้ไปมีบทบาท เช่น ในการประชุมผู้ใหญ่ ก็จะขอเวลา 1 ชั่วโมง  ให้เด็กของเราไปร่วมด้วย เพื่อให้เกิดการซึมซับ ในภาคเอกชนสาขาการพัฒนาสังคมและสวัสดิภาพ จะเป็นสาขาแรกในอาเซียนที่สามารถให้ผู้แทนของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมบางส่วน กระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ก็มีการอบรมให้กับประชาชนที่อยู่ในชนบทได้เรียนรู้ กระทรวงวัฒนธรรมก็มีการแลกเปลี่ยนนักร้องนักแสดง ทำให้รู้สึกถึงความเชื่อมโยงของภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น
**นักธุรกิจไทยที่ไปเวียดนามมีมากน้อยแค่ไหน ?
    คุณธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ กล่าวว่าในแต่ละปีผมมีโอกาสได้ต้อนรับนักธุรกิจไทยที่ไปดูงานในเวียดนามไม่ต่ำกว่า 2 - 3 พันคน เพราะทางผมจะมีการร่วมมือกับสถานทูต  สถานกงสุล เพื่อให้ความรู้และข้อมูลที่มีประโยชน์ แต่จำนวนคนที่มาลงทุนทำธุรกิจ หรือมาค้าขายจริงๆ มีเพียง 1 - 2% เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเวียดนามเป็นโอกาสที่ดีของนักธุรกิจไทยอย่างมาก ทัศนคติของคนเวียดนามต่อคนไทยและสินค้าไทยนั้นดีมากๆ สินค้าไทยในเวียดนาม คือ สินค้าที่มีคุณภาพ สินค้าหลายๆ ตัวของคนไทยเป็นอันดับ 1 ในเวียดนาม เช่น ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว เครื่องดื่มกระทิงแดง เป็นต้น
    จากประสบการณ์สามารถสรุปได้ว่า การไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนจะประกอบด้วย 3 จุดประสงค์ คือ 1. ไปจับตลาดในประเทศนั้น เช่น ที่เวียดนามมี 90 ล้านคนและเป็นวัยหนุ่มสาวเยอะมาก เป็น Consumption Power ในอนาคต 2. ไปหา raw material ในประเทศนั้นๆ ที่ราคาถูกกว่า 3. ไปหาค่าแรงที่ถูกกว่า ค่าสาธารณูปโภคถูกกว่า นี่คือการลดต้นทุนการผลิต ทำไมเวียดนามถึงมีศักยภาพ ด้วยจำนวนประชากร 90 ล้านคน การเมืองนิ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้นเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย หันไปลงทุนในเวียดนามเยอะมาก
    อีกอย่างหนึ่งผมอ่านหนังสือพิมพ์เวียดนามทุกวัน วันละหลายฉบับ และก็เกือบจะทุกคอลัมน์ ต้องบอกว่าเขาพูดถึง AEC น้อยมาก แต่จะได้ยินคำว่า TPP, FTA กับยุโรปทุกวัน TPP (Trans-Pacific Partnership) ที่เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกจะเซ็นร่วมกับอเมริกา ซึ่งเวียดนามมีแผนจะต้องเซ็นกับอเมริกาให้ได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ผลที่จะเกิดขึ้นคือ ยกตัวอย่างตอนนี้เวียดนามส่งสินค้าสิ่งทอไปอเมริกาต้องโดนภาษีนำเข้า 14% แต่ถ้าเซ็นสัญญาตรงนี้ไว้จะเหลือ 0% เพราะฉะนั้นวันนี้พวกที่ทำอุตสาหกรรมต้นน้ำกับปลายน้ำทั้งหมด เริ่มเข้าไปในเวียดนามเยอะมาก เพราะต้องการหาผลประโยชน์จากตรงนี้
    ถึงแม้เวียดนามจะส่งออกสิ่งทอปีละ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่วัตถุดิบพวกผ้า ใย ต้องนำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้จะต้องจ่ายภาษี 14% แต่ถ้าการผลิตต้นน้ำทั้งหมดมาจากเวียดนามจะเหลือ 0%เป็นต้น ซึ่งผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆสำหรับคนไทย
**ความตื่นตัว ความพร้อม ความสนใจของเด็กตั้งแต่อนุบาล - ม.6 เป็นอย่างไร และมีการพูดถึง AEC มากน้อยแค่ไหน ?
    อาจารย์จินดา ตันตราจิณ กล่าวว่าสำหรับที่โรงเรียนเด็กๆ จะตื่นตัวมากเพราะผมทำฐานไว้ให้ และทุกเช้าเขาจะพูดสวัสดีเป็นภาษาชาติต่างๆ ทั้ง 10 ประเทศ แล้วก็มีแต่งเพลงและจัดกิจกรรมอยู่เรื่อยๆ เช่น เด็กๆ อนุบาล 1 ให้แต่งตัวเป็นเวียดนาม อนุบาล 2 แต่งตัวเป็นสิงคโปร์ มีการแข่งขันกัน ไเป็นต้น เวลาสอนเนื้อหาแล้วเด็กไม่เข้าใจก็จะให้ไปดูที่ฐานเลย บางครั้งก็จะให้ไปหาข้อมูลตามฐานมาทำรายงานบ้าง เพราะฉะนั้นเขาจะพูดถึงอยู่ตลอดเวลาและมีผลถึงครูบาอาจารย์จะต้องตื่นตัวตามไปด้วย มีการอบรมครูตลอดเวลา บางครั้งส่งไปอบรมข้างนอก การที่จะทำสำเร็จได้ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ตั้งแต่แรก

■ คอลัมน์ : AEC News / ■ THAN AEC
■ จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ AEC world ปีที่33 (1) ฉบับที่ 2,879 (29) วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2556

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thanonline ดูทั้งหมด

826

views
Credit : thanonline


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน