สสค. ร่วมกับ มูลนิธิร่มฉัตร จัดเวทีเสวนา “รู้เขารู้เราสู่อาเซียน” ต่อยอดองค์ความรู้ “ ศูนย์อาเซียนศึกษา 4 ภูมิภาค” สู่สังคมไทย

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ มูลนิธิร่มฉัตร จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน 4 ภูมิภาค รูปแบบ บ ว ร โมเดล” ภายใต้โครงการ “ขยายผลชุมชนต้นแบบและการสื่อสารการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ต่อยอดองค์ความรู้สู่การปฏิบัติของ “ศูนย์ศึกษาอาเซียน” ต้นแบบใน 4 จังหวัด เพื่อขยายผลสร้างความรู้ เปิดประตูก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแก่สังคมไทยอย่าง “เข้าถึง” และ “เข้าใจ”


 
ดร.สถิต ลิ่มพงษ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “รู้เขารู้เราสู่อาเซียน” ว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังติดกับดักอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ที่ไม่สามารถขยับตัวขึ้นไปสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงที่ใช้เทคโนโลยีอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ เพราะปัญหาด้านคุณภาพทางการศึกษา และขาดการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาด้านต่างๆ อย่างจริงจัง ดังนั้นจึงต้องหาหนทางออกจากกับดักนี้ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบศึกษาและการเรียนการสอนในปัจจุบันที่เป็นแบบท่องจำ ให้เป็นการศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการเรียนภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ และเสริมทักษะที่จำเป็นของประชาคมโลกในทศวรรษที่ 21

“การเตรียมความพร้อมของภาคการศึกษา ต้องเริ่มจากการเตรียมความพร้อมอย่างเข้าใจ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาและภูมิศาสตร์ของอาเซียน เพื่อเด็กและเยาวชนให้เกิดความเข้าใจและมองเห็นภาพของอาเซียนในความเป็นจริง ไม่ได้เกิดจากการท่องจำ และมุ่งเน้นไปที่การเรียนการสอนภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ เพราะหนึ่งในข้อตกลงร่วมกันของอาเซียนคือ การใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของการทำงานทั้งร่วมกัน 10 ประเทศ ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษากลางของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยประเทศไทยจะต้องส่งเสริมให้มีการพูดภาษาอังกฤษและเรียนรู้ในเรื่องคอมพิวเตอร์กันทั้งประเทศ เพราะทั้งสองข้อนี้ถือเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของการเป็นประชาคมอาเซียนที่โดดเด่น และเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นของทักษะใหม่ในทศวรรษที่ 21 ในการเป็นประชากรของประชาคมโลกด้วย” ดร.สถิตระบุ

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. เปิดเผยว่า โลกในปัจจุบันนั้นหมุนเร็วขึ้น และมีการติดต่อสัมพันธ์ เดินทางเชื่อมโยงกันทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว คำถามก็คือว่าเราจะเตรียมตัวเด็กและเยาวชนของเราในโลกของอาเซียนได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้เราตื่นตัวกันแต่ในเรื่องเศรษฐกิจการค้า แต่ลืมเรื่องการเมือง ความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม

“ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือต้องถอยหลังกลับมาทำความรู้จักและความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันก่อนเป็นลำดับแรก และต้องทำให้เรื่องอาเซียนเป็นเรื่องใกล้ตัวของเด็กและเยาวชน ไม่ได้สอนเฉพาะในห้องเรียน แต่ต้องให้เขารู้ว่าการเปิดประชาคมอาเซียนแล้วจะมีผลกระทบกับชุมชนของเราอย่างไร ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นการนำแบบจำลองความสำเร็จของวัดไตรมิตรฯ ลงไปขยายผลในส่วนภูมิภาค และนำไปปรับใช้ตามโจทย์ของแต่ละชุมชน ซึ่งองค์ความรู้จากการปฏิบัติจริงของแต่ละชุมชนจะถูกนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นชุดความรู้เพื่อนำไปขยายผลเผยแพร่แก่สังคมไทย ซึ่งจะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการยกระดับการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ” ผู้จัดการ สสค.กล่าวสรุป.

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ ryt9.com ดูทั้งหมด

288

views
Credit : ryt9.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน