กสทช.เปิดผลศึกษาเตรียมความพร้อมโทรคมนาคมสู่ AEC แนะลดค่าโรมมิ่ง-เร่งพัฒนาอินเตอร์เน็ต
นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยในงานการประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และการศึกษาผลกระทบเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ปี 58 ว่า จากการที่ประเทศไทยมีภูมิประเทศอยู่จุดศูนย์กลางของอาเซียน ภายหลังมีการเปิด AEC จึงเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางในด้านการค้าและการขนส่งของอาเซียน รวมถึงด้านโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในด้านโทรคมนาคมที่มีแนวโน้มการใช้งานสูงขึ้นจากใช้งานบริการข้ามโครงข่าย (โรมมิ่ง)
ทั้งนี้ กสทช. จึงมีแนวคิดในการเตรียมขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการด้านโทรศัพท์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทย เพื่อขอความร่วมมือในการลดค่าบริการโรมมิ่งลง เพื่อให้ประเทศไทยได้ผลประโยชน์มากขึ้น
นายคมสัน สุริยะ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายถึงผลการศึกษาโดยสรุปของโครงการศึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และการศึกษาผลกระทบเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC พบว่า สถานภาพความพร้อมของกิจการโทรคมนาคมของไทยอยู่ในอันดับ 4 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน โดยมีจุดแข็งในด้านราคาค่าบริการ ICT ที่ถูกเกือบที่สุดใน AEC และคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในระดับดีมาก รวมถึงมีการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมค่อนข้างสูงอีกด้วย
ส่วนจุดอ่อนคือการใช้ประโยชน์จาก ICT ส่วนบุคคลยังอยู่ในระดับต่ำ คุณภาพด้านความเร็วอินเตอร์เน็ตยังเป็นรองประเทศอื่น ความครอบคลุมเชิงพื้นที่ในการให้บริการอินเตอร์เน็ตประเภท Fixed Broadband ยังน้อยกว่า และผู้ประกอบการไทยยังมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจในตลาดภายในประเทศมากกว่าการมุ่งออกไปแข่งขันยังตลาดต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 4 จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่าประเทศ (ไอทียู) แต่ยังมีโอกาสการเติบโตได้มาก โดยเฉพาะในด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีโอกาสเติบโตได้สูงสุด 29.3% ต่อปี และด้านบริการอินเตอร์เน็ตเติบโตสูงสุด 14.8% ต่อปี โดยจะต้องแก้ไขจุดอ่อนด้วยการเพิ่มการเข้าถึงและการใช้งานอินเตอร์เน็ตของประชากร ขยายบริการให้ครอบคลุมและเพิ่มความเร็วบริการอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งมองหาช่องทางอื่นๆเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น การสร้างโอกาสเติบโตจากการลงทุนในประเทศที่ยังมีอัตราการใช้งานด้านโทรคมนาคมน้อยอย่างประเทศพม่า ลดค่าใช้จ่ายด้านการโรมมิ่ง
นอกจากนั้น ยังเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านโทรคมนาคมในไทย ด้วยการยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ.2554 ที่ห้ามต่างชาติเข้ามาถือหุ้นด้านโทรคมนาคมเกินกว่า 49% เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่ต่างชาติเข้าครอบครองธุรกิจโทรคมได้เบ็ดเสร็จจากการเข้ามาลงทุนในประเทศนั้นๆ ในทางกลับกันสามารถสร้างดัชนีการแข่งขันให้เพิ่มมากขึ้น ค่าบริการมีแนวโน้มลดต่ำลง อีกทั้งหน่วยงานกำกับดูแลของไทยยังมีโอกาสควบคุมดูแลต่างชาติ หากหน่วยงานกำกับดูแลมีความเข้มแข็งพอ
สำหรับผลกระทบของการดำเนินนโยบายหรือมาตรการด้านโทรคมนาคม จากการศึกษาสรุปได้ว่า 1.ผลกระทบจากการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้น โดยคนต่างชาติเพิ่มขึ้นหรือไม่เกิน 70% พบว่าจะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเพิ่มสูงขึ้น แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุนของผู้ประกอบการรายเดิมในประเทศมากนัก 2.ผลกระทบของการลดค่าบริการโรมมิ่ง พบว่า ประเทศไทยมีโอกาสได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ในการใช้บริการโรมมิ่ง 3.ผลกระทบของการเปิดเสรีเคเบิ้ลใต้น้ำ พบว่าการลงทุนด้านการวางเคเบิ้ลใต้น้ำเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศจะยังมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนเมื่อมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาด แต่สำหรับภายในประเทศจะไม่สามารถรองรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาร่วมแข่งขันได้
4.ผลกระทบของการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันและสิทธิแห่งทาง พบว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้ 5.ผลกระทบของการขยายพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง พบว่ามีความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ก็ต่อเมื่อราคาค่าบริการของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไม่ลดลงต่ำกว่า 50% อัตราค่าบริการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 6.ผลกระทบจากการเปิดเสรีกิจการดาวเทียม พบว่าการลงทุนในกิจการดาวเทียมเพื่อการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ที่ส่งตรงถึงที่อยู่อาศัยมีโอกาสที่จะเปิดรับผู้ประกอบการรายที่สอง แต่สำหรับดาวเทียมเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่สามารถเปิดรับผู้ประกอบการรายที่สองได้
ด้านนายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม กล่าวในหัวข้อ “แนวทางการปรับปรุงนโยบายและระเบียบข้อบังคับทางด้านโทรคมนาคมของไทย" ว่า จากผลการศึกษาข้างต้นมองว่าบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์มีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์จากทางภาคประชาชนที่จะมีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นและผลประโยชน์จากทางธุรกิจที่จะส่งผลให้การลงทุนของผู้ประกอบการต่างๆจะเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น
หากเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 4 ซึ่งมองว่ายังไม่ห่างจากที่ 3 มากนัก แต่เมื่อเทียบกับอันดับโลก ไทยอยู่อันดับที่ 77 ขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 2 มาเลเซียอยู่อันดับที่ 30 หากประเทศไทยไม่สามารถขยับอันดับขึ้นได้ก็อาจจะทำให้ตกอันดับได้ง่าย ซึ่งจากที่กระทรวงไอซีทีได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะให้ประเทศไทยเป็น Smart Thailind ในปี 63 นั้น อย่างน้อยประชาชน 75% จะต้องเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งหมายความว่าอีก 7 ปี ข้างหน้าไทยจะต้องก้าวเข้าไปให้เท่าเทียมกับสิงคโปร์ ซึ่งไทยต้องเพิ่มการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต 3 เท่าตัวเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ขณะที่ทาง กสทช.ได้กำหนดเงื่อนไขใบอนุญาต 3G ไว้ว่าให้ครอบคลุมประชากร 50% ในปี 57 และ 80% ในปี 59 จะเห็นได้ว่าเงือนไขใบอนุญาตปัจจุบันของ กสทช.คงไม่เพียงพอในการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย smart Thailind ในปี 63 ได้
การขยายอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตให้ได้ 3 เท่าตัวหรือ 175% มีอยู่ 2 ด้าน คือดีมานและซัพพลาย โดยด้านที่เป็นซับพลายต้องเพิ่มพื้นที่ในการเข้าใช้บริการบรอดแบนด์มากยิ่งขึ้น ทั้ง 3G และ 4G
ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอาเซียนเมื่อเข้าสู่ปี 58 มองว่า ไทยจะได้รับผลประโยชน์อย่างมากไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือเดินทางไปต่างประเทศ และประเทศไทยจะต้องเป็นฐานของการลงทุนเพื่อการผลิตเพื่อส่งออกไปในอาเซียนให้ได้ รวมถึงโอกาสผู้ให้บริการโทรคมนาคมของไทยจะอยู่ที่การให้บริการด้านคอนเทนท์ แอพพลิเคชั่น มากกว่าการเข้าไปลงทุนขยายเครือข่ายในประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งผู้ผลิตในไทย ยังมีโอกาสที่จะส่งออกอุปกรณ์โทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องได้
"ความท้าทายในด้านการเป็นผู้นำทางด้านโทรคมนาคม ทำอย่างไรถึงจะมีเครือข่ายความเร็วสูงและมีเสถียรภาพ เพื่อให้เราสามารถเป็นฐานการลงทุนของบริษัทข้ามชาติได้ และเมื่อ 10 ปีก่อน หลายประเทศก็จะเลือกไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ เนื่องจากเห็นว่าสิงคโปร์เป็นฐานของในเรื่องของการติดต่อสื่อสาร ค่าบริการก็มีราคาที่ถูกกว่า แต่ปัจจุบันจากการศึกษาก็จะเห็นว่าค่าบริการของเราก็ไม่ได้แพงกว่า แต่อย่างไรก็ตามเรื่องของเสถียรภาพสำหรับภาคธุรกิจที่จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายโทรคมนาคมก็มีความสำคัญ และจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับประโยชน์ด้วย รวมถึงภาคธุรกิจก็ต้องมีความเข้มแข็ง สนับสนุนให้ SME ใช้ประโยชน์จากไอซีทีได้มากขึ้นอย่างไร รวมถึงในภาครัฐบาลก็ต้องใช้ประโยชน์จากไอซีทีด้วยเพื่อให้ภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจะทำให้เราสามารถขยายไปสู่ภูมิภาคได้ จากที่มองแค่ว่าจะอยู่ที่ประเทศไทยเท่านั้น" นายสุพจน์ กล่าว
สำหรับข้อเสนอแนะในการกำกับดูแล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องเน้นการพัฒนาโครงข่าย 3G ให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่และความต้องการความถี่ที่เพิ่มขึ้นของ 4G จะต้องมีการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ครบอายุสัมปทานกลับมาและรีบจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ เพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมงานนั้น ตัวแทนจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)ระบุว่า เห็นด้วยว่าโทรคมนาคมของไทยควรมีการพัฒนาให้ทัดเทียมสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งการที่จะขยายโมบายบรอดแบนด์เรื่องสำคัญที่สุดคือความถี่ ซึ่งมองว่าในปี 57 จะมีการประมูลคลื่นความถี่ที่หมดสัมปทานลง โดยคลื่นความถี่ย่าน 1800 จำนวน 25 MHz ไม่น่าจะเพียงพอต่อการผลักดันธุรกิจมือถือไปได้ตามเป้าหมาย ขอเสนอว่าควรนำคลื่นความถี่ที่ดีแทคครอบครองอยู่ ย่าน 800 MHz ที่ไม่ได้ใช้งาน เป็นจำนวน 25 MHz นำมาประมูลพร้อมกันกับคลื่นความถี่ที่หมดอายุลง ซึ่งรวมกันเป็น 50 MHz
อีกทั้งย่านความถี่ที่เป็นโลว์แบนด์ ย่าน 800 MHz และ 900 MHz เหมาะในการให้บริการในพื้นที่ห่างไกล กสทช.ควรจะพิจารณาคลื่นความถี่ที่เป็นโลว์แบนด์ด้วยว่าจะมีการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างไรให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดสามารถได้คลื่นความถี่ดังกล่าวที่เท่าเทียมกัน
ขณะที่ตัวแทนจาก ทั้งนี้ตัวแทนจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC)เสนอให้มีมาตรการส่งเสริมการผลิตคอนเท้นท์ที่มีคุณภาพและหลากหลายมากขึ้น ส่วนการออกประกาศต่าง ๆ ด้านโทรคมนาคมมองว่าเป็นไปในเชิงควบคุมมากกว่าการส่งเสริม เป็นการกำกับมากเกินไปอาจเป็นการกีดกันในด้านการแข่งขัน และควรมีการศึกษาแนวทางการเตรียมความพร้อมของผู้ใช้ด้วย
อนึ่ง การประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และการศึกษาผลกระทบเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2558 หลังจากนี้จะนำเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. ต่อไป
อินโฟเควสท์ โดย สุวิมล ภูมิคำ/ศศิธร โทร.02-2535000 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--