เร่งวางยุทธศาสตร์ยางรับ‘เออีซี’สกย.เตือนเกษตรกรได้รับผลกระทบ แนะลดต้นทุน-ปรับเปลี่ยนพันธุ์ปลูก

นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)?ของอุตสาหกรรมยางพาราไทย ในปี 2558 สกย.ได้ให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทำการศึกษาผลกระทบทั้งด้านบวกและลบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทยให้สามารถแข่งขันกับในตลาดโลกได้ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พบว่า AEC จะส่งผลดีในระดับอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ต้นทุนการผลิตจะลดลงอันเนื่องมาจากปัจจัยด้านภาษี รวมทั้งไทยยังได้เปรียบในแง่ของภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน การขนส่งค่อนข้างดีจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางยางพาราโลกได้โดยไม่ยาก


 
ส่วนเกษตรกรและกลุ่มเกษตร ซึ่งอยู่ในระดับอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำ อาจได้รับผลกระทบบ้างในระยะแรก ในเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่อื่นๆดังนั้นเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น สกย.จึงเร่งประชาสัมพันธ์ อบรมเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เรื่องเทคโนโลยีการปลูก การดูแลรักษา การกรีดยางที่ถูกต้อง ตลอดจนแนะนำให้ปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม ลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารแคมี พร้อมส่งเสริมให้ปลูกยางพาราพันธุ์ใหม่ ที่ได้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ปัจจุบันที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 270 กก./ไร่/ปี เท่านั้น ซึ่งสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร มียางพาราที่ให้ผลผลิตสูงหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์?RRIT 408 เป็นสายพันธุ์ที่ปลูกง่าย โตไว ให้ผลผลิตน้ำยางสูง เฉลี่ย 352 กก./ไร่/ปีทนความแห้งแล้งเหมาะปลูกในภาคอีสานที่สุดและพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 เป็นสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตก่อนเปิดกรีดดี ให้ผลผลิตในพื้นที่ปลูกยางเดิมสูงเฉลี่ย 462 กก./ไร่/ปี และพื้นที่ปลูกยางใหม่ 343 กก./ไร่/ปี เป็นต้น

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของ AEC ยังจะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในแง่ของภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางยางพารา มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน การขนส่งค่อนข้างดี ดังนั้นหากไทยสามารถแก้ไขผลกระทบในด้านลบได้ ประเทศไทยก็จะสามารถรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยางของโลกได้อย่างแน่นอน

สำหรับราคายางพารานั้น มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามภาวะของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้ซื้อยางรายใหญ่ เช่น จีน ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เริ่มจะฟื้นตัว ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ยางมากที่สุด มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นเมื่อความต้องการมีมากขึ้นราคายางก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนเสถียรภาพของราคายางพาราจะมีความมั่นคงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมยางในขั้นปลายน้ำอย่างจริงจัง

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ ryt9.com ดูทั้งหมด

265

views
Credit : ryt9.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน