คอลัมน์: ต้นซอยวิภาฯ ๓๘: มาตรฐานการศึกษาของเด็กไทย

World Economic Forum's (WEF) ซึ่งเป็นองค์กรจัดประชุมประจำปีของผู้นำจากภาครัฐ องค์กรอิสระและเอกชนจากนานาชาติทั่วโลก ก่อตั้งที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 42 ปีมาแล้ว ได้รายงานผลการสำรวจมาตรฐานการศึกษาของเด็กไทยจัดอยู่ในตำแหน่งรั้งท้ายของกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน

มาตรฐานการศึกษาของเด็กไทยต่ำกว่าของเวียดนามและเขมร WEF ไม่ได้มีการจัดทำรายงานของประเทศพม่า หรือเมียนมาร์ และของลาว เลยไม่รู้ว่าเด็กไทยเก่งกว่าหรือด้อยกว่าเด็กของ 2 ประเทศนี้


 
หลายปีที่ผ่านมา องค์กรด้านการศึกษาของสหประชาชาติ จัดทำรายงานผลการสำรวจมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนประเทศต่างๆ ทั่วโลก จัดอันดับมาตรฐานการศึกษาของเด็กไทยต่ำกว่าประเทศอื่นตลอดมา แต่รายงานล่าสุดของ WEF สร้างความวิตกกังวลให้วงการศึกษาของไทยที่จำเป็นต้องหาทางปรับปรุงแก้ไขอย่างรีบเร่ง

เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ไทยเป็นชาติสมาชิกก่อตั้งสมาคมประชาชาติอาเซียนในยุคแรกร่วมกับ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เมื่อตอนนั้นมาตรฐานการศึกษาของเด็กไทยเป็นรองก็คงแค่สิงคโปร์เท่านั้น เทียบคุณภาพมาตรฐานกับเด็กจากมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ก็สูสีพอกัน มาวันนี้ยังแพ้แม้แต่ชาติสมาชิกอาเซียนเข้าใหม่อย่าง บรูไน, เวียดนาม และเขมร

เป็นที่ทราบกันดีว่า อีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี (Asean Economic Community) จะเริ่มเดินเครื่องเต็มรูปแบบ ชาติสมาชิกใดที่มีคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของเด็กดีกว่า เหนือกว่าชาติสมาชิกอื่นย่อมได้เปรียบ ชาติใดอ่อนด้อยคุณภาพย่อมล้าหลังเสียเปรียบเขาเป็นธรรมดา รายงานล่าสุดของ WEF จึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงแทนหน่วยงานของรัฐบาลที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ นั่นคือกระทรวงศึกษาธิการ

รัฐบาลของนานาประเทศให้ความสำคัญกับกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเป็นกระทรวงที่ดูแลรับผิดชอบต่อการศึกษาของเยาวชนในชาติเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า อนาคตของชาติจะเจริญรุดหน้าทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้านหรือล้าหลังก็อยู่ที่กระทรวงนี้

เป็นที่ทราบกัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กระทรวงศึกษาธิการมากกว่ากระทรวงอื่นๆ อีกทั้งสมัยนี้สื่อการเรียนการสอนในวงการศึกษา ที่เรียกกันว่า Multi-media ได้พัฒนามีประสิทธิภาพล้ำหน้าเหนือกว่าเมื่อ 30-40 ปีอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ไม่ทราบด้วยเหตุผลใดคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของเด็กไทยจึงกลับถดถอยลง

ปัจจัยสำคัญยิ่งของการพัฒนาระบบการศึกษาคือ คุณภาพมาตรฐานการสอนของบุคลากรที่ทำหน้าที่ฝึกสอนถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนคือ ครู/อาจารย์ ฐานะเป็นพ่อพิมพ์-แม่พิมพ์ ให้กับนักเรียนตั้งแต่วัยระดับประถมศึกษา, มัธยมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา ที่ผ่านมาสร้างบุคลากรพ่อพิมพ์-แม่พิมพ์ของชาติ ของวงการศึกษาไทยประสบปัญหานานัปการ รวมถึงข่าวทุจริตการสอบครู/ผู้ช่วยครู ที่ปรากฏตามสื่อมวลชน ขนาดคนที่จะมาเป็นพ่อพิมพ์-แม่พิมพ์ มีปัญหานี้ ลูกพิมพ์ก็ยากที่จะดีได้

วงการศึกษาของไทย มีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในแขนงนี้โดยเฉพาะน้อยคนมากแทบจะนับได้ ผิดแผกแตกต่างกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญแขนงอื่นๆ ที่มีอยู่ดาษดื่น เช่น วิศวกรรมศาสตร์, แพทยศาสตร์, รัฐศาสตร์, นิติศาสตร์, บริหารรัฐกิจ/ธุรกิจ เป็นต้น ในสภาวะคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของเด็กไทยตกต่ำถอยหลังสวนทางกับวิทยาการของโลกที่รุดหน้าเจริญขึ้น นักบริหารการศึกษามืออาชีพ (Professional Educator) จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนรัฐมนตรีถึง 4 คนแล้ว รมต.ศึกษาธิการแต่ละคน ไม่มีคนไหนมีประสบการณ์ด้านการบริหารการศึกษามาก่อนเลย อย่างนี้แล้วการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของเด็กไทยคงทำได้ยาก

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ ryt9.com ดูทั้งหมด

269

views
Credit : ryt9.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน