ภาครัฐจับมือเอกชนเดินหน้าพัฒนาอุตฯแฟชั่น ดันไทยผงาดศูนย์กลางของอาเซียน
นายวิฑูรย์?สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกมากขึ้น โดยในเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2556 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยสามารถส่งออกได้กว่า 92,000 ล้านบาท ซึ่งไทยสามารถส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้กว่า 34,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 36.96% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม โดยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน 1,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.96% จากช่วงเดียวกันของปี 2555
“ที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศผู้นำและเป็นที่ยอมรับด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นในกลุ่มอาเซียนอยู่แล้ว แม้ตลาดอาเซียนจะเป็นตลาดที่เล็กเมื่อเทียบกับตลาดยุโรปและอเมริกา แต่ก็มีแนวโน้มการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นอาเซียนจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจในการรุกทำการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ จึงเป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดสากล โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งน่าจะเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทย”นายวิฑูรย์ กล่าว
โดยไทยถือว่ามีศักยภาพในระดับที่สูงหากเทียบกับกลุ่มอาเซียน ที่สำคัญแฟชั่นไทยก็เป็นที่ยอมรับของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นส่วนหนึ่งของ“โครงการเตรียมความพร้อมและสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)”?ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งระบบให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกแบบยั่งยืน โดยการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างภาพลักษณ์ การรับรู้ และเป็นตัวกลางในการประสานข้อมูล ทั้งในเชิงบุคลากรของวงการแฟชั่น การจัดกิจกรรม และการทำการตลาด ซึ่งได้มอบหมายให้ กสอ.ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย
นายโสภณ ผลประสิทธิ์?อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย จะเป็นการบูรณาการครอบคลุมใน 3 ด้าน คือ 1.พัฒนาย่านการค้าเพื่อการส่งออก ได้แก่ โบ๊เบ๊ ประตูน้ำ สยามสแควร์ และจตุจักร เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ ,2.การจัดกิจกรรมพิเศษ เช่น การจัดแสดงสินค้า และ3.การสื่อสารประชาสัมพันธ์โดยใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับสากล
ทั้งนี้อุตสาหกรรมแฟชั่น แม้จะเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำของระบบโครงสร้างอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม แต่ไทยมีห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างไรก็ตามปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งสร้างบุคลากร และพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการเป็นศูนย์กลางแฟชั่นในอาเซียนและตลาดโลก