คอลัมน์: มิติโลกาภิวัตน์: สภาปฏิรูปกับอาเซียน
เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์
หลายคนอาจจะรู้สึกแปลกใจอยู่บ้างว่า ขณะที่ได้ มีการเอื้อนเอ่ยถึงการเชื้อเชิญโทนี แบลร์, โคฟี อันนัน และมาร์ตติ อาห์ติซารี ให้เข้าร่วมกระ บวนการของสภาปฏิรูปการเมืองเพื่อการปรองดองของรัฐบาลนั้น ยังไม่มีใครในรัฐบาลนี้เลย ที่พูดถึงการเชื้อเชิญผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันกับไทย ให้เข้ามาร่วมการแก้ไขความขัดแย้งในไทยด้วย
ซึ่งแม้ถึงจะเชื้อเชิญเขา ก็น่าเชื่อว่า จะไม่มีผู้นำคนไหนในอาเซียนจะยอมรับเชิญง่ายๆ มาร่วมด้วย สมมุติฐานข้อนี้มาจากหลักการในปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของรัฐในอาเซียน โดยเฉพาะในข้อที่ว่า รัฐสมาชิกของอาเซียนจะไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน
หลักที่เรียกว่า บรรทัดฐาน (Norms) หรือ หลักการพื้นฐาน (Fundamental principle) ในอาเซียนนั้น รวบรวมจากประสบการณ์ของรัฐสมาชิก นับแต่ก่อตั้งจนถึงขณะนี้ มีหลักใหญ่ๆ อยู่ 4 หลักการ ที่ถือเป็นบรรทัดฐานและเป็นหลักการพื้นฐานในการอยู่ร่วมในความเป็นอาเซียนด้วยกัน จนกล่าวกันว่า มีผลแห่งความสำเร็จในความเป็นองค์กรภูมิภาคนิยม (Regional Organization) ของอาเซียน
บรรทัดฐานและหลักการพื้นฐานทั้ง 4 ข้อนี้ คือ 1) การไม่ใช้กำลังในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง 2) การตกลงปัญหา ความขัดแย้งใดๆ โดยสันติวิธี 3) การไม่แทรกแซงกิจการภาย ในซึ่งกันและกัน และ 4) ปฏิเสธการเป็นพันธมิตรที่มีข้อผูกพันทางทหารและให้นำเอาความร่วมมือ ป้องกันร่วมกันในรูปทวิ ภาคีแก้ไขความขัดแย้งต่อกันมากกว่า
คงจะไม่มีเนื้อที่พอที่จะอธิบายรายละเอียดของแต่ละบรรทัดฐาน และหลักการพื้นฐานของอาเซียนที่ว่าไว้ข้างต้นนี้ (ท่านที่สนใจเรื่องอาเซียนจริงๆ ช่วยซื้อหนังสือเรื่อง "อาเซียน : ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ที่ผมให้สำนักพิมพ์แสงดาว จำกัด ตีพิมพ์ออกมาขณะนี้จวนหมดแล้ว) ใครอยากรู้เรื่องอาเซียนในภาพที่สมบูรณ์ ต้องอ่านเล่มนี้
ว่าเฉพาะบรรทัดฐานเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกันของอาเซียนหน่อยก็แล้วกัน หลักการพื้นฐานมีดังนี้ ครับ
1) หลีกเลี่ยงจากการวิพากษ์วิจารณ์ปฏิบัติการใดๆ ของรัฐบาลที่กระทำต่อประชาชนของรัฐบาลนั้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ระบบการเมืองในประเทศ หรือรูปแบบรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน
2) จะต้องว่ากล่าวปฏิบัติการของรัฐใดๆ ที่ทำท่าจะละเมิดหลักการเรื่องการไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน
3) ปฏิเสธการยอมรับ การให้ที่พักพิง หรือให้การสนับสนุนในรูปแบบอื่นใดต่อกลุ่มกบฏ ซึ่งมุ่งหาทางทำลายความมั่นคงของรัฐบาลหรือของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน
4) ไม่ดำเนินการในลักษณะซึ่งให้การสนับสนุนทางการเมือง และให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุอุปกรณ์แก่รัฐสมาชิกในอาเซียน ในการก่อการร้าย แทรกแซง และปฏิบัติการในลักษณะทำลายความมั่นคงของรัฐสมาชิกอาเซียน
เฉพาะ 4 บรรทัดฐาน และหลักการพื้นฐานของอาเซียน ในเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน ก็พอเป็นคำตอบได้บ้างว่า ทำไมรัฐบาลไทยขณะนี้ ไม่ได้เอื้อนเอ่ยเชื้อเชิญผู้นำหรือใครในรัฐบาลของรัฐอาเซียน หรือผู้นำอาเซียนที่โดดเด่น เข้ามาร่วมกระบวนการสภาปฏิรูปเพื่อการปรองดองแต่อย่างใด ซึ่งด้วยหลักการข้อนี้ถึงเชิญเขาก็คงบ่ายเบี่ยงที่จะไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหาภายในประเทศของไทย
แล้วทำไมไปเชื้อเชิญบุคคลทั้งสามเข้ามาร่วมกระบวนการปฏิรูปเพื่อความปรองดองของรัฐบาล ซึ่งมีข้อสังเกตว่าล้วนมาจาก นอกภูมิภาคอาเซียน ทั้ งสามท่าน ว่าที่จริงแล้วการนำเอาผู้นำมหาอำนาจนอกภูมิภาคเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องของรัฐสมาชิกอาเซียน ก็ผิดหลักการอันเป็นบรรทัดฐานของอาเซียน ที่หลี กเลี่ยงในเรื่องนี้อย่างมาก สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง สร้างความไม่สบายใจไปทั่ว
ความพยายามยึดหลักการดังกล่าวนี้ มีมาโดยตลอด โดยเฉพาะรัฐสมาชิกของอาเซียนที่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจเหล่านี้มาแต่เดิม ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคม และเป็นพันธมิตรเก่าแก่มาแต่แรกเริ่มยุคสงครามเย็น ซึ่งก็น่าจับตามองว่าจะเชิญใครจากสหรัฐมาร่วมสภาปฏิรูปคราวนี้บ้างไหม อย่างนายจิมมี คาร์เตอร์ นั่นก็คนหนึ่ง
อย่างที่เห็นได้จากหลักการเรื่องไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียนในข้อ 2 ที่จะต้องว่ากล่าวปฏิบัติการของรัฐใดๆ ที่ทำท่าจะผิดหลักการเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการซึ่งกันและกันนี้ ในข้อ 3 ของหลักการนี้ยังพูดถึงการไม่ให้ที่พักพิงหรือสนับสนุนกลุ่มอื่นใดต่อกลุ่มกบฏ ซึ่งมุ่งทำลายความสงบและความมั่นคงในรัฐสมาชิกอาเซียน หรือของประเทศเพื่อนบ้าน
นี่จะกลายเป็นคำถามใหญ่ต่อมาในบรรดารัฐในอาเซียน ที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีกสองปีเศษข้างหน้า เราแปลความหมายของหลักการที่ว่านี้อย่างไรกับการเดินทางของอดีตผู้นำไทยที่นำมาซึ่งความปั่นป่วนของการเมืองภายในของไทย กับการเดินทางหลายครั้งไปกัมพูชา เวียดนาม บรูไน กับอีกบางประเทศในอาเซียน
อะไรเล่าที่เขาพร่ำพูดถึงการกลับประเทศไทย แต่ก็ยังไม่กล้ากลับ ได้แต่เลาะลัดเลียบเคียงอยู่ข้างประเทศเท่านั้นเอง จุดนี้ด้วยหรือไม่ ที่จะต้องตามสภาปฏิรูปเพื่อการปรองดอง ที่หากแม้ยุติลงได้อย่างใดอย่างหนึ่ง จนมีการเดินทางกลับประเทศไทยได้ ความปรองดองจริงๆ นั้นจะเกิดขึ้นหรือ จริงหรือที่เราขจัดตัวการแห่งปัญหาความปรองดองหมดไม่ได้ด้วยสภาปฏิรูปนี้
เราพร่ำพูดเพ้อเจ้อกันไม่น้อยในรัฐบาลนี้ ในเรื่องของความเป็นนิติรัฐนิติธรรม เราพูดถึงหลักการต่างๆ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย แต่แล้วเราก็ได้เห็นการประพฤติปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายหลายเรื่องด้วยกัน มีข้อกล่าวหาว่าสองมาตรฐานไม่ได้อยู่ใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เลือกปฏิบัติ รู้สึกน่าอายกันบ้างไหม
กับสภาพของสถานการณ์ที่เป็นอยู่ สถานะของสภาปฏิ รูปเพื่อความปรองดองที่ว่านี้ เกิดขึ้นควบคู่พร้อมกันกับการ ผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ผ่านสภาไปแล้ว ขณะที่ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับนี้ ถูกกล่าวหาว่าละเมิดหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างรุนแรง เศษวัสดุพ้นสมัยทั้งหลายไม่เคยเอ่ยถึงการดำรงหลักการที่ว่านี้อย่างชัดเจน แล้วจะปฏิเสธอะไร จะปรองดองอารั้ย?.