ไฟฟ้าในกัมพูชายังแพง

ไฟฟ้าในกัมพูชายังแพง

      ราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งที่คนไทยต้องให้ความสนใจเข้าไปเที่ยว ไปค้าขายและไปลงทุน แต่ตรงนี้มีข้อยกเว้นว่า "คุณวางใจ" ได้มากแค่ไหน เพราะกัมพูชายังคงความเป็น "กัมพูชา" เช่นเดิม คือ ไม่ไว้วางใจคนไทยเลยทีเดียว และทำตัวเป็นคู่แค้นฝ่ายไทยมาตลอด แต่หากข้อยกเว้นนี้ข้อเท็จจริงมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็ถือว่ากัมพูชาพอมีศักยภาพที่จะเข้าไปทำการค้าการลงทุนได้ โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภค อาทิ กิจการโรงไฟฟ้า เป็นต้น
      ผมยกเอาเรื่องสร้างโรงไฟฟ้ามาเป็นหัวข้อที่น่าสนใจหลักก็เพราะระบบโรงไฟฟ้าในกัมพูชาทุกวันนี้ต้องพึ่งพิงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยน้ำมันเสียส่วนใหญ่ ซึ่งต้นทุนการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างแพงเพราะตกหน่วยละ 11.16 บาท (ในไทย) ขณะที่ก๊าซธรรมชาติเพียง 3.20 บาท/หน่วย (ในไทย)
      พลังงานน้ำขนาดใหญ่ก็เพิ่งจะทำการผลิตไปเมื่อปลายปี 2554  ก็คือ เขื่อนกำจาย เขื่อนใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่กำลังการผลิตก็มีเพียง193 เมกะวัตต์ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศจีนวงเงินประมาณ 8.6 พันล้านบาท และตามเป้าหมายนั้นมีแผนสร้างเขื่อน
อีก 9 แห่ง และจะเปิดใช้ใน 6 ปีข้างหน้า กำลังผลิตรวม 9 แห่งประมาณ 2,045 เมกะวัตต์
      ซึ่งเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนปีที่แล้ว รัฐบาลกัมพูชาก็ประกาศจะสร้างเขื่อนเซซาน 2 ซึ่งมีกำลังผลิตประมาณ 400 เมกะวัตต์ เงินลงทุนประมาณ 24,230 ล้านบาท บริเวณพื้นที่ริมฝั่งตอนล่างของแม่น้ำโขง ในจังหวัดสตึงเตรง ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งโครงการนี้ก็ถูกประชาชนในประเทศต่อต้าน แต่ก็เชื่อรัฐบาลฮุนเซ็นคงตัดสินใจเดินหน้า เพราะอำนาจรัฐมีอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่มีใครจะขวางกั้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้ได้ แต่โครงการก่อสร้างเขื่อนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในมือของจีนและเวียดนาม  แต่โอกาสก็ยังมี
      หากคนไทยมีความพร้อมที่จะเข้าไปลงทุน โครงการที่น่าจะเข้าไปลงทุนในกัมพูชาได้มีหลายด้าน แต่ที่ผมให้ความสนใจแนะนำก็คือ ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากมีนครวัด และอีกหลายต่อหลายวัดที่น่าให้ความสนใจไม่แพ้กัน อาทิ ปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาทะเลาะกับประเทศไทยอยู่ ก็เป็นอีกแหล่งที่น่าสนใจไปเที่ยว ปกติแล้วทางขึ้นปราสาทจะอยู่ฝั่งประเทศไทย ส่วนฝั่งกัมพูชาเป็นหน้าผา แต่ปัจจุบันกำลังมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากกัมพูชากำลังตัดถนนเพื่อขึ้นปราสาททางด้านหน้าผาโดยตรง โดยไม่ต้องง้อการเดินทางผ่านประเทศไทยอย่างแต่ก่อน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็น "ฝันร้าย" สำหรับชุมชนไทยบริเวณทางขึ้นปราสาทปกติ
      ลำพังสถานที่ท่องเที่ยวอย่างนครวัด นครธม และปราสาทพระวิหาร 3 รายการก็ดึงนักท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมาได้จากทั่วโลกแล้ว ต่อไปหากมีการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟฟ้า น้ำประปา ระบบโทรศัพท์ และโครงข่ายคมนาคม อีกทั้งพัฒนาด้านอาคารร้านค้าพาณิชย์ใหม่ให้พอเพียงแก่ความต้องการ ก็จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมแบบซ้ำๆ เหมือนกับที่มาเที่ยวประเทศไทยได้ ซึ่งขณะนี้คนส่วนใหญ่มักจะไป
เที่ยวแค่หนเดียวก็เลิกนึกถึง เพราะขาดความสะดวกสบายนั่นเอง
      แล้วคำถามของผมก็มีว่า "เมื่อขาดความสะดวกสบาย แล้วทำไมคนไทยจึงไม่คิดจะไปลงทุนด้านความสะดวกสบายล่ะ ? " ผมว่ามีความเป็นไปได้มากเลยทีเดียว เดี๋ยวนี้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ากัมพูชาปีละประมาณ 3 ล้านคน ผมว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้า น่าจะเพิ่มได้เป็นเท่าตัวเลยทีเดียวรายใหญ่ๆ ในประเทศไทยเขามุ่งไปลงทุนในกัมพูชาด้านเกษตรกรรม ไปปลูกข้าว ไปสร้างโรงงานอาหารสัตว์ มองไปภาคเกษตร เรารายเล็กก็น่าจะมองไปด้านปลีกย่อยของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ได้ หรือรายใหญ่จะไปลงทุนด้านค้าปลีกก็ได้ไม่เห็นจะเป็นอะไร
      แต่ความเห็นของผมนี้ขึ้นอยู่กับการ "วัดใจ" กันนะครับ เพราะผมไม่เคยลืมที่ "วันดีคืนดี" ก็ลือหาว่าเราไปดูถูกเขา จนกระทั่งเกิดเหตุก่อจลาจลเผาสถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญเป็นจุณ ทำให้รัฐบาลกัมพูชาต้องชดใช้ให้แก่ไทยกว่า 500 ล้านบาท ของอย่างนี้ก็ต้อง "วัดใจ" กันล่ะ เล่นกับกัมพูชา ผมว่าเดาใจยากครับ

■ คอลัมน์ : เทียบท่าประชาคม / ■ โอฬาร สุขเกษม
■ จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ AEC world ปีที่33 (1) ฉบับที่ 2,837 (8) วันที่ 21 - 24 เมษายน พ.ศ. 2556

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thanonline ดูทั้งหมด

496

views
Credit : thanonline


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน