ทำไมจะไม่หนุนท่าเรือทวาย ?

Thiap-Tha-Prachakhom ทำไมจะไม่หนุนท่าเรือทวาย ? 

    ผมเห็นต่างจากหลายคนในเรื่องนิคมอุตสาหกรรมทวายและท่าเรือน้ำลึกทวาย เพราะผมสนับสนุนให้ฝ่ายไทย รุกเข้าไปลงทุนและทำให้สำเร็จ ทำแล้วจะเกิดประโยชน์ทั้งฝ่ายไทยฝ่ายเมียนมาร์ รวมทั้งภูมิภาคอาเซียนด้วย
    ที่เราพูดถึงในนามอาเซียนนั้นก็เพราะในอนาคตอันใกล้ ไทยและสมาชิกประเทศอาเซียนจะรวมกันเป็นเขตเศรษฐกิจเดียว จึงไม่มีเหตุผลที่จะไปพูดว่า เราไปลงทุนเพื่อประเทศเมียนมาร์ หรือเราไปลงทุนเพื่อความอยู่รอดของประเทศไทย
    ทำเลของที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกทวายและเขตอุตสาหกรรมทวายเป็นจุดที่เหมาะสม สามารถเชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังได้เป็นอย่างดี ทำให้ระบบโลจิสติกส์จะดีขึ้น สามารถลดต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ต้องการส่งออกสู่ฝั่งมหาสมุทรอินเดียได้ และเป็นเส้นทางลัดที่ไทยไม่ต้องขนส่งสินค้าออกจากอ่าวไทย สู่ประเทศสิงคโปร์และไปอ้อมแหลมมลายู ซึ่งช่วยให้สินค้าเดินทางเร็วขึ้นอย่างน้อย 6 วัน และลดค่าใช้จ่ายลงไปได้บ้าง
    ขณะเดียวกันสินค้าที่มาจากมหาสมุทรอินเดีย สามารถส่งผ่านเส้นทางทวาย-แหลมฉบังได้ โดยร่นระยะเวลาเดินทางและลดค่าใช้จ่ายลงได้เช่นเดียวกัน และที่สำคัญก็คือ แม้ขณะนี้ในช่องแคบมลายู ก็มีเรือแล่นแน่นขนัดอยู่แล้ว อนาคตยิ่งจะจอแจมากกว่าที่เป็นอยู่ จึงชอบด้วยเหตุผลที่ไทยควรดำเนินการให้ท่าเรือทวายและเขตอุตสาหกรรมทวายเกิดขึ้น
    เรากำลังพูดถึงโครงสร้างพื้นฐาน เรากำลังพูดถึงโครงการร่วมกันพัฒนาระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศ การที่รัฐบาลไทยจะสนับสนุนเอกชนไทยให้ดำเนินการตามแผนงาน
    แม้แต่ช่วยลงเงิน ช่วยประสานงาน ล้วนเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการอย่างยิ่ง จะไปว่าบริษัทเอกชนแล้วธุระอะไรที่ฝ่ายไทยต้องไปช่วยเหลือด้วย อย่างนี้ดูจะใจแคบไปหน่อย เพราะบนผลประโยชน์ของเอกชน ก็ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติเหมือนกัน
    รัฐบาลไทยในอดีตที่ผ่านมาเคยตัดสินใจดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์ไปแล้ว ตั้งแต่สมัยพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี  แต่ผลในภาคปฏิบัติไม่เกิด ยกเว้นการตัดถนนเชื่อมโยงเศรษฐกิจ จากฝั่งทะเลอันดามันกับริมทะเลอ่าวไทย  แต่ท่าเรือน้ำลึกไม่ได้เกิดขึ้น เขตอุตสาหกรรมไม่ได้เกิดขึ้น
    ที่ไม่เกิดเนื่องเพราะชุมชนในแหล่งที่ตั้งดังกล่าว ได้คัดค้านการก่อสร้างโครงการ รวมไปจนถึงองค์กรเอกชนหลายองค์กรคัดค้าน ด้วยเห็นว่า ฝั่งทะเลอันดามัน ควรจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มากกว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ความคิดความอ่านที่จะพัฒนาแลนด์บริดจ์จึงล้มเหลวมาจนถึงทุกวันนี้
    อีกกรณีหนึ่งท่าเรือปากบารา แม้ว่ารัฐบาลจะให้งบไปศึกษาเพื่อดำเนินการก่อสร้างในอนาคต แต่ท่าเรือดังกล่าวนี้ ก็ยังถูกชุมชนในพื้นที่คัดค้านโครงการอย่างเหนียวแน่นเช่นเคย ซึ่งขณะนี้ก็ยังบอกไม่ได้ว่า ในอนาคตท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้ ที่อยู่ในฝั่งทะเลอันดามันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่  หากเกิดได้ก็จะเป็นประโยชน์ในการเดินเรือเลาะชายฝั่ง รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อระบบโลจิสติกส์ของไทยเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่อาจเทียบเท่ากับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมาร์
    ผมมองว่าแม้ญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนท่าเรือในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา เมืองย่างกุ้ง แต่นั่นความมุ่งหมายก็เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่มาจากจีนที่อยู่ตอนบนของเมียนมาร์ และการส่งออกสินค้าของเมียนมาร์ ซึ่งท้ายสุดก็ต้องเดินเรืออ้อมแหลมมลายูที่อยู่ทางตอนใต้ลงมาอยู่ดี หากส่งออก-นำเข้าจากฝั่งทะเลแปซิฟิก แล้วปัญหาความแออัดที่เกิดอยู่ในขณะนี้ ในอนาคตก็จะแออัดมากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นปัญหาเช่นกัน แต่ท่าเรือติลาวา เมืองย่างกุ้งจะสมประโยชน์หากส่งออก-นำเข้าสินค้ามาจากมหาสมุทรอินเดียบริเวณปากอ่านที่เป็นแหล่งที่ตั้งท่าเรือติลาวา ก็มีปัญหาพื้นๆ ของปากแม่น้ำ มีตะกอนดินทับถม เป็นพื้นที่กว้างขวาง หากพัฒนาเป็นท่าเรือส่งออกจริงๆ ปัญหาตะกอนดินก็เป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย ต้องขุดลอกร่องน้ำสม่ำเสมอ ต้องมีเรือนำร่อง ค่าใช่จ่ายย่อมเพิ่มขึ้นเป็นของธรรมดา แต่ท่าเรือทวายมีสภาพในทะเลเหมาะสมเพราะเป็นน้ำลึกโดยธรรมชาติอยู่แล้ว จึงเหมาะอย่างที่จะเดินเรือสมุทร เมื่อคิดถึงโครงการในภูมิภาคอาเซียน ผมก็เห็นโครงการท่าเรือทวายนี่แหละครับ ที่เหมาะสมแก่การลงทุน ไม่ว่าจะเป็นทุนไทย หรือทุนชาติไหนๆ ที่จะลงทุนก็ตาม

■ คอลัมน์ : เทียบท่าประชาคม / ■ โอฬาร สุขเกษม
■ จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ AEC world ปีที่33 (1) ฉบับที่ 2,865 (22) วันที่ 28 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thanonline ดูทั้งหมด

441

views
Credit : thanonline


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน