ธุรกิจมาเลย์-จีน 'ปึ้ก'

ธุรกิจมาเลย์-จีน 'ปึ้ก'
สร้าง 2 นิคมอุตสาหกรรมเชื่อมการค้า 2 ประเทศ

    มหาเศรษฐีมาเลเซียเชื้อสายจีน ผลักดันเศรษฐกิจมาเลย์ สัมพันธ์แนบแน่นประเทศจีน ประกาศร่วมบริษัทจีนลงทุน สร้างนิคมอุตสาหกรรม จีน-มาเลเซีย ในเมืองซินโจว เมืองท่าเรือตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองท่ายุทธศาสตร์เชื่อมเศรษฐกิจจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน
    หนังสือพิมพ์เดอะ สตาร์ในมาเลเซียรายงานว่าในวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีการลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่างบริษัท เอสพี ซีเตีย และกลุ่มบริษัทริมบูนันฮาเจา และบริษัท ซินโจว จินกู อินเวสต์เม้นท์ของจีน เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม จีน-มาเลเซีย ซินโจว อินดัสเตรียล ปาร์ก ท่ามกลางสักขีพยานเป็นนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ2ประเทศ ลงทุนขั้นต้นกว่า 26,000 ล้านบาท โดยมีพื้นที่ในนิคมฯรวม 5,499 เฮกตาร์ (ประมาณ 34,368 ไร่)
    เดอะสตาร์ รายงานว่า เฟสแรกของการลงทุนจะครอบคลุมพื้นที่ 787 เฮกตาร์ ประกอบด้วยพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมของทั้ง2ประเทศ โรงเรียน โรงแรม ศูนย์บริการชุมชน สวนสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ สำหรับชุมชน โดยการก่อสร้างใช้เวลา3ปี
    โครงการลักษณะนี้ อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของประเทศจีนที่จะผลักดันให้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจชนิดหยั่งราก ระหว่างประเทศจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจีนได้วางตัวเมืองซินโจว เป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งที่ทำการค้าขายโดยตรงกับกลุ่มประเทศอาเซียน
    เมืองท่าซินโจว ตั้งอยู่ที่อ่าวตังเกี๋ย ทางจีนตอนใต้ใกล้กับเวียดนาม มีเส้นแนวชายฝั่งทะเลยาว 86.08 กิโลเมตรสามารถสร้างท่าเรือน้ำลึกสำหรับเรือขนาด 1 หมื่นถึง 3 แสนตันได้มากกว่า 200 ท่า ปัจจุบันมีการสร้างท่าเรือแล้ว 15 ท่า มีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน คลังสำรองน้ำมัน ลานขนสินค้าเทกองและตู้คอนเทนเนอร์และระบบโลจิสติกส์รองรับ ทำให้การขนสินค้าระหว่างจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนทำได้อย่างสะดวกขึ้นเนื่องจากระยะทางที่อยู่ใกล้กัน
    ขณะนี้มีบริษัทยักษ์ในประเทศจีนที่ผลิตสินค้าโดยนำวัตถุดิบจากกลุ่มประเทศอาเซียนและบริษัทยักษ์ในอาเซียนเข้าไปจัดตั้งกิจการที่เมืองท่าแห่งนี้แล้วหลายบริษัท อาทิ บริษัทผลิตน้ำมันพืชของจีน คือ Qinzhou Dayang Foodgrain & Cooking Oil และโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากอินโดนีเซียคือกลุ่ม เอพีพี
    การสร้างนิคมอุตสาหกรรม จีน-มาเลเซีย ซินโจว อินดัสเตรียล ปาร์กที่เมืองท่าแห่งนี้จะกระตุ้นให้อุตสาหกรรมและธุรกิจการค้าระหว่างสองประเทศให้มาลงทุนในเขตอุตสาหกรรมแห่งนี้มากขึ้น โดยมีรายงานว่า บริษัทของสองประเทศกว่า 500 บริษัทได้ให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมแบบจำลองของโครงการแห่งนี้แล้ว
    ทางการมาเลเซียเองก็ให้การสนับสนุนโครงการนี้ในลักษณะรัฐต่อรัฐ เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนก็ให้การสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรม มาเลเซีย-จีน กวนตัน อินดัสเตรียลปาร์กในมาเลเซีย ทำให้มีการเชื่อมต่อระหว่างกิจการธุรกิจในโครงการนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองโครงการ
    ทั้งนี้ บริษัท ริมบูนันฮาเจา (Rimbunan Hijau) ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนทางฝั่งมาเลเซียรายหนึ่งนั้นเป็นของ ตันศรี เตียง ฮิว คิง (Tan Sri Tiong Hiew King) หนึ่งในสิบมหาเศรษฐีของประเทศมาเลเซีย ที่ร่ำรวยมาจากการทำไม้ที่ซาราวัก บนเกาะบอร์เนียว ในดินแดนส่วนที่เป็นของประเทศมาเลเซียและทำธุรกิจใหญ่สุดในปาปัว นิวกินีด้วย
    นายเตียงเป็นนักธุรกิจมาเลย์ เชื้อสายจีนซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐบาลจีน เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ภาษาจีนโพ้นทะเลกลุ่มใหญ่ที่สุด มีหนังสือพิมพ์ ซินชิวยิตเป้า (Sin Chew Jit Poh) และ กวงหมิง เดลี่ หนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีนยักษ์ใหญ่ในมาเลเซีย หนังสือพิมพ์ เนชั่นแนลเดลี่ ในปาปัวนิวกินี และ บริษัทหนังสือพิมพ์ หมิงเป้าโฮลดิ้งส์ ในฮ่องกง นอกจากนั้นยังตั้งบริษัท หมิงเป้า เอ็นเตอร์ไพร้ส์ เพื่อพิมพ์จำหน่ายหนังสือพิมพ์ภาษาจีนใน ซานฟราน ซิสโก นิวยอร์ก แวนคูเวอร์และโตรอนโต
    นอกจากหนังสือพิมพ์ภาษาจีนแล้ว กลุ่มบริษัท ริมบูนันฮาเจา ยังร่วมกับจีนในธุรกิจน้ำมันและก๊าซ โดยตั้งบริษัทอาร์เอช เปโตรก๊าซ ร่วมกับ บริษัทไชน่า เนชั่นแนลปิโตรเลียม ลงทุนสำรวจและขุดเจาะน้ำมันหลายพื้นที่ในแถบประเทศอาเซียน รวมทั้งแหล่งก๊าซนอกชายฝั่งประเทศเมียนมาร์

■ คอลัมน์ : AEC News   / ■ THAN AEC
■ จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ AEC world ปีที่33 (1) ฉบับที่ 2,863 (21) วันที่ 21 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thanonline ดูทั้งหมด

520

views
Credit : thanonline


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน