รมว.อุตฯ ควง BOI เยือนเยอรมนี โชว์ศักยภาพไทยดึงการลงทุนสนองตลาดอาเซียน
กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเดินทางไปร่วมงานเอเชีย-แปซิฟิก ฟอรั่ม บาวาเรีย (Asia Pacific Forum Bavaria 2013) ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 9-11 กรกฎาคม 2556 นี้ จัดโดยศูนย์ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศแห่งรัฐบาวาเรีย และสภาอุตสาหกรรมและหอการค้านูเรมเบิร์ก
ในโอกาสนี้ จะมีการจัดงานสัมมนาการลงทุน (Thailand Workshop) เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ แนวโน้ม รวมถึงโอกาสการลงทุนในประเทศไทย โดยจะเน้นให้เห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ เป็นประตูสู่อาเซียน และมีความพร้อมที่จะต้อนรับนักธุรกิจและนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งในงานดังกล่าว รมว.อุตสาหกรรมได้รับเชิญเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์หลัก (Keynote Speech) ในพิธีเปิดงานครั้งนี้ และนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ จะร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “นโยบายและทิศทางการลงทุนในไทย" (Thailand : Investment Policies and Recent Investment Trend) ในขณะที่ผู้แทนภาคธุรกิจของบริษัทเยอรมันที่มีการลงทุนในประเทศไทยในสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ จะมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทยด้วย
“การจัดงานเอเชีย-แปซิฟิก ฟอรั่ม บาวาเรีย 2013 ปีนี้เป็นครั้งที่ 11 แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่เยอรมนีมีต่อภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน ซึ่งประเทศไทยและเยอรมนี มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน โดยเยอรมนีเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง จึงเชื่อว่าเยอรมนีจะเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถใช้ศักยภาพจากความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และวิศวกรรม ร่วมกันพัฒนาศักยภาพดังกล่าวในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นได้"นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอได้ตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศแห่งแรกที่ประเทศเยอรมนี เมื่อ 38 ปีก่อน แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการลงทุนจากเยอรมนี ในฐานะพันธมิตรด้านการลงทุนของไทย ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2003-2012) เยอรมนีเป็น นักลงทุนรายใหญ่อันดับ 10 จากนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดในประเทศไทย และเป็นอันดับ 2 ของยุโรป รองจากเนเธอร์แลนด์ มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 85,000 ล้านบาท โดยมีอุตสาหกรรมหลากหลายที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เยอรมนีเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมอีกหลายประเภท โดยกลุ่มที่ไทยมุ่งหวังที่จะกระตุ้นให้เข้ามาลงทุนตามเป้าหมายเพิ่ม อาทิ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยพร้อมที่จะต้อนรับการลงทุนจากเยอรมนี ทั้งในรูปแบบของการลงทุนรายใหญ่ หรือขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/นิศารัตน์/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--