GIT เน้นกลยุทธ์สร้างบุคลากร ผลักดันนักออกแบบไทยสู่อาเซียน พร้อมเผย 6 สุดยอดแบบเครื่องประดับ นำเทรนด์สู้ศึก AEC ผ่านโครงการ GIT Design Award

จีไอที
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอทีเน้นกลยุทธ์พัฒนานักออกแบบเครื่องประดับ และต่อยอดพัฒนาความสามารถของนักอัญมณีไทยให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศ เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมด้านอัญมณีศาสตร์และการออกแบบเครื่องประดับที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนผลักดันนักออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับไทยได้แสดงผลงานในระดับสากล ผ่านกิจกรรมการตัดสินรอบคัดเลือก ในโครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 7 GIT Design Award 2013 กิจกรรมประกวดออกแบบเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 400,000 บาท ภายใต้หัวข้อ “Jewelry Design Inspired by Cubism” โดยคัดเลือก 6 สุดยอดผลงานการออกแบบจากแบบวาดที่ส่งเข้าประกวดจำนวน 438 ผลงาน เพื่อนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับจริง สำหรับให้นายแบบนางแบบชื่อดังของไทยใส่ประชันสุดอลังการบนเวทีแฟชั่นโชว์รอบชิงชนะเลิศในเดือนพฤศจิกายน 2556 ณ ลานแฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมโหวตให้คะแนนผลงานที่ผ่านการคัดเลือกแบบวาดทั้งหมดที่ท่านชื่นชอบ เพื่อชิงรางวัล Popular Design Award 2013 ผ่านทางเว็บไซต์ www.git.or.th ได้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. — 1 พ.ย. 56 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายฝึกอบรม สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เบอร์โทรศัพท์ 02-634-4999 ต่อ 301-306,311-313

 
นางพรสวาท วัฒนกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ กล่าวว่า จีไอที ภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายมุ่งพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบเครื่องประดับ ในการส่งเสริมและรองรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของ AEC และเอเชีย โดยหนึ่งในกลยุทธ์หลักของสถาบัน คือ การมุ่งเน้นสร้างนักออกแบบเครื่องประดับ และต่อยอดพัฒนาความสามารถของนักออกแบบเครื่องประดับของไทยให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศ เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนต่อภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมด้านอัญมณีศาสตร์และการออกแบบเครื่องประดับที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจน ผลักดันนักอัญมณีไทยให้ได้แสดงผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล ผ่านโครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 7 GIT Design Award 2013 ชิงเงินรางวัลมูลค่า 13,000 ดอลลาสหรัฐหรือกว่า 400,000บาท ชูจุดเด่นด้านฝีมือและการออกแบบภายใต้แนวคิด “Jewelry Design Inspired by Cubism” โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่มีใจรักในการออกแบบได้เข้าร่วมประกวด อันจะเป็นการสร้างกระแสและการตื่นตัวในภาคอุตสาหกรรมและบุคคลที่สนใจ ได้แสดงศักยภาพในการคิดสร้างสรรค์และจินตนาการด้านการออกแบบเครื่องประดับ

นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการออกแบบเครื่องประดับนำเสนอผลงานปรากฏสู่สายตาสาธารณชนควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศผู้นำแฟชั่นของโลกได้ พร้อมแสดงศักยภาพและขีดความสามารถของนักออกแบบรุ่นใหม่ของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ ในหมู่นักออกแบบชาวต่างชาติ ซึ่งการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติมีส่วนร่วมส่งผลงาน จะสามารถแลกเปลี่ยนแนวความคิด และมุมมองที่หลากหลายระหว่างกันได้ด้วย

นาง พรสวาท กล่าวต่อว่า สำหรับการตัดสินรอบคัดเลือกในปีนี้ ได้แบ่งประเภทเครื่องประดับอย่างชัดเจน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เครื่องประดับสำหรับสุภาพบุรุษและเครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรี ซึ่งปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าประกวดเป็นจำนวนมากกว่า 438 แบบวาดจากผลงานของนักออกแบบ นิสิต นักศึกษา รวมไปถึงนักออกแบบมืออาชีพทั้งชาวไทยและต่างชาติในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินเดีย แบ่งเป็น ประเภทเครื่องประดับสำหรับสุภาพบุรุษ 83 แบบวาด และประเภทเครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรี 355 แบบวาด โดยผู้ส่งเข้าประกวดชาวไทยจำนวน 334 แบบวาด และชาวต่างชาติรวม 104 แบบวาด ทั้งนี้ มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน ได้แก่ นายวิบูลย์ หงส์ศรีจินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิยภูมิ อัญมณีจำกัด นายสุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวตี้เจมส์แฟคตอรี่ จำกัด นายไมตรี กรรณบูรพา กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาร์เวลจิวเวลรี่ จำกัด นางสุวลักษณ์ มหันตคุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี ครีเอชั่นส์ จำกัด และเจ้าของร้านแบรนด์ "บี บิฌูส์" นายประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและนางสาวแสงระวี สิงหวิบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และออกแบบหัตถศิลป์ไทย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)

ผู้อำนวยการสถาบันจีไอที กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของการคัดเลือก คณะกรรมการทั้ง 6 ท่าน เลือกแบบวาดท่านละ 6 แบบวาด จากนั้นลงคะแนนเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 30 แบบวาดสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบ ประเภทละ 15 แบบวาด และคัดเลือก 6 ผลงานที่มีคะแนนสูงสุด ประเภทละ 3 แบบวาด ซึ่งได้รับเลือกให้ผลิตเป็นเครื่องประดับจริง โดยได้รับการสนับสนุนการผลิตจาก บริษัท บิวตี้เจมส์แฟคตอรี่ จำกัด บริษัท มาเวลล์จิวเวลรี่ จำกัด และบริษัท ซีแฟค จำกัด และได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมจากบริษัท เบนสัน จิวเวอรี่ จำกัด ห้างเพชรหลีเสง และบริษัท พี เคเจมส์แอนด์โกลด์ จำกัด โดยผลงานที่ผ่านเข้ารอบและได้รับคัดเลือกผลิตเป็นเครื่องประดับจริง ทั้ง 6 แบบวาด มีดังนี้

ประเภทเครื่องประดับสำหรับสุภาพบุรุษ ได้แก่
1. ผลงานชื่อ Rare to Real โดย นางสาวสุพัจนา ลิ่มวงศ์
2. ผลงานชื่อ Natural Golden Cubism โดย นายธีรพล ธนมณฑล
3. ผลงานชื่อ Lucky Number โดย นางวิชุดา แตระพรพาณิชย์
ประเภทเครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรี ได้แก่
1. ผลงานชื่อ Rose Surgery โดย นางสาวศุภรานันท์กาญจนกุล
2. ผลงานชื่อ Astroid โดย นายมณพ บัวแดง
3.ผลงานชื่อ Phantasy โดย นายอรรถวุฒิ เจนประเสริฐ
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมโหวตให้คะแนนกับผลงานที่ผ่านการคัดเลือกแบบวาดทั้งหมดที่ท่านชื่นชอบ เพื่อชิงรางวัล Popular Design Award 2013 ผ่านเว็บไซต์ www.git.or.th ได้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. — 1 พ.ย. 56 โดยผู้ร่วมโหวตทุกท่านมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลเครื่องประดับทองคำฝังเพชรตลอดจนแบบวาดทั้ง 6 แบบวาดจะได้ผลิตเป็นเครื่องประดับจริง โดยกำหนดแสดงแบบแฟชั่นโชว์โดยนายแบบนางแบบชั้นแนวหน้าของไทย เพื่อให้คณะกรรมการตัดสินในรอบชิงชนะเลิศในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2556 ณ ลานแฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในวันที่ 8 -9 พฤศจิกายน นี้ ผศ.ดร.พรสวาท กล่าวสรุป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายฝึกอบรม สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เบอร์โทรศัพท์ 02-634-4999 ต่อ 301-306, 311-313

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ ryt9.com ดูทั้งหมด

362

views
Credit : ryt9.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน