ว่าด้วย 'อาเซียน': ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับภายนอก (8)

เก่ง วงศ์กล้า keng_wongkla@hotmail.com

“ญี่ปุ่น” เริ่มความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับอาเซียน ตั้งแต่ พ.ศ.2516 และยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ.2520 หลังจากนั้น ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ก็มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

     ใน พ.ศ.2546 มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN-Japan Commemorative Summit) ที่กรุงโตเกียวในโอกาสครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น และได้มีการลงนาม ปฏิญญาโตเกียว ว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนที่มีพลวัตรและยั่งยืนระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ในสหัสวรรษใหม่ (Tokyo Declaration for the Dynamic and Enduring ASEAN-Japan Partnership in the New Millennium)

     และรับรอง แผนปฏิบัติการอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Plan of Action) เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในอนาคต ต่อมา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 14 ที่เมืองบาหลี อาเซียนและญี่ปุ่นได้รับรองแผนปฏิบัติการอาเซียน-ญี่ปุ่น ระยะ 5 ปี (ระหว่าง พ.ศ.2554-2558)
ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่เจรจาแรกที่ได้จัดตั้งคณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ทั้งยังมีการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Joint Cooperation Committee - AJJCC) เพื่อเป็นกลไกประสานงานกับคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน (Committee of Permanent Representatives to ASEAN - CPR) อีกด้วย
 
     “ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง” ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่เจรจาลำดับที่ 4 ที่ได้ภาคยานุวัติ สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia - TAC) เมื่อ พ.ศ.2547 และเป็นประเทศแรกที่จัดตั้งกรอบการประชุมความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย (Counter Terrorism Dialogue) อย่างเป็นทางการกับอาเซียน ในปีเดียวกัน โดยได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

     นอกจากนี้ ในกรอบ ARF ญี่ปุ่น ก็มีบทบาทแข็งขันในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และความมั่นคงทางทะเล รวมถึง ยินดีกับการรับรอง Declaration on Drug-Free ASEAN 2015 โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2555 โดยผู้นำอาเซียนขอให้ญี่ปุ่นส่งเสริมความร่วมมือกับอาเซียนในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดต่อไป

     “ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ” ใน พ.ศ.2554 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากจีน โดยมีมูลค่าการค้ากับอาเซียนประมาณ 255 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ.2553 ร้อยละ 17 ในด้านการลงทุน ใน พ.ศ.2553 ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสหภาพยุโรป และสหรัฐ โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 11.1 ของมูลค่าการลงทุนต่างชาติทั้งหมดในอาเซียน

     อาเซียนและญี่ปุ่นได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Closer Economic Partnership - AJCEP) เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นเสมือนการรวมเอาความตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศกับญี่ปุ่นเข้าไว้ด้วยกัน โดยไทยเปิดตลาดสินค้าเท่ากับที่เปิดให้ตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement - JTEPA)
 
     ญี่ปุ่นได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยความเชื่อมโยงของอาเซียน (Japan’s Task Force for ASEAN Connectivity) เพื่อเป็นกลไกประสานงานของญี่ปุ่นกับคณะกรรมการประสานงานเรื่องความเชื่อมโยงในอาเซียน (ASEAN Connectivity Coordinating Committee - ACCC)

     ซึ่งดูแลการผลักดันและติดตามการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) โดยได้มีการจัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ที่เมืองเมดาน อินโดนีเซีย และครั้งล่าสุด เป็นครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2555 ที่กรุงพนมเปญ
 
     ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 18 เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555 อาเซียน-ญี่ปุ่นได้รับรอง ASEAN-Japan 10-Year Strategic Economic Cooperation Roadmap และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศดำเนินการตาม Roadmap และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือเรื่องวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระดับผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการสารเคมี และการป้องกันผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

     เมื่อ พ.ศ.2524 อาเซียนและญี่ปุ่นได้จัดตั้งศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Centre) ที่กรุงโตเกียว เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

     “ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม” ญี่ปุ่นจัดโครงการแลกเปลี่ยนสำหรับนักศึกษาและเยาวชน หรือ Japan-East Asia Network of Exchange for Students and Youths - JENESYS เป็นระยะเวลา 5 ปี ระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ.2550 ถึง เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2555 โดยเชิญเยาวชนจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เยือนญี่ปุ่น และเยาวชนญี่ปุ่น เยือนอาเซียนและ 3 ประเทศดังกล่าว ซึ่งมีเยาวชนเข้าร่วมปีละประมาณ 6 พันคน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา นอกจากนี้

     ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 14 ญี่ปุ่นได้เสนอโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนต่อเนื่องจาก JENESYS โดยจะเชิญเยาวชนอาเซียน 3 พันคน เยือนญี่ปุ่น ภายในเดือนมีนาคม พ.ศ.2556

      ด้านสาธารณสุข ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลืออาเซียนในการสำรองยาทามิฟลู (Tamiflu) และ Personal Protective Equipment - PPE เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก

      “ความร่วมมือด้านการพัฒนา” ญี่ปุ่นสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน โดยได้จัดตั้งกองทุน Japan-ASEAN Integration Fund (JAIF) และยังเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดของกรอบข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN integration - IAI) นอกจากนี้ ยังริเริ่มความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนา โดยมีการประชุมระดับผู้นำแล้ว 4 ครั้ง (ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2555)

      ความคืบหน้าล่าสุด ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 ที่กรุงพนมเปญ ที่ประชุมมีมติสำคัญๆ ร่วมกัน ดังนี้

      (1) เห็นพ้องให้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 40 ปี ในเดือนธันวาคม 2556 ที่กรุงโตเกียว (2) สนับสนุนการเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ในภาคการค้าบริการและการลงทุนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนได้อย่างเต็มที่ และเริ่มการเจรจา RCEP (3) อาเซียนขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนและการเชื่อมโยงอาเซียนภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงของอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity)

      (4) เห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ ผ่านกลไกต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว อาทิ ศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรม (AHA Center) ที่กรุงจาการ์ตา ข้อริเริ่ม Disaster Management Network for the ASEAN Region การให้จัด ASEAN Regional Forum Disaster Relief Exercise (ARF DiREx) และยินดีกับความร่วมมือระหว่างศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Centre) ที่กรุงเทพ กับศูนย์ลดภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Reduction Centre) ที่เมืองโกเบ (ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทยตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 14 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2554)

      (5) ขยายความร่วมมือเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน โดยเฉพาะการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานทางเลือก (6) ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล และ (7) การแลกเปลี่ยนเยาวชน โดยอาเซียนยินดีกับข้อเสนอของญี่ปุ่นในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษามหาวิทยาลัย ผ่านความร่วมมือการรับรองคุณภาพหลักสูตรการศึกษากับมหาวิทยาลัยในอาเซียน ตลอดจนกิจกรรมแลกเปลี่ยนเยาวชนอาเซียน-ญี่ปุ่น ภายใต้ Japan-East Asia Network for Students and Youths - JENESYS และยินดีกับโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน Kizuna Project
 
      ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งดังกล่าว ประเทศไทยได้ยื่นข้อเสนอสำคัญๆ ได้แก่ (1) สนับสนุนให้ญี่ปุ่นช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบและโลจิสติกส์ และการพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการความเชื่อมโยงในพื้นที่ชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (2) สนับสนุนให้ญี่ปุ่นเพิ่มบทบาทในการลดช่องว่างด้านการพัฒนาและเศรษฐกิจในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ตาม Tokyo Strategy 2012 และยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นหุ้นส่วนของญี่ปุ่นเพื่อช่วยพัฒนาประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

      (3) การเพิ่มมูลค่าการค้าและการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ให้เต็มประสิทธิภาพ และ (4) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติระหว่าง Asian Disaster Reduction Centre (ADRC) ในญี่ปุ่น กับ Asian Disaster Preparedness Centre (ADPC) ในไทย เช่น เทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติ และการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อการจัดการภัยพิบัติ

 


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ siamrath.co.th ดูทั้งหมด

584

views
Credit : siamrath.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน