อาเซียน

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ


     ความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ทำให้โลก "โฟกัส" มาที่ภูมิภาคนี้อีกครั้งในบริบทของความร่วมมือ "อาเซียน" ที่หลายชาติมองว่าจะเป็นแกนในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในยุคทองของเอเชียแปซิฟิกที่มี จีนและอินเดีย เป็น "หัวรถจักร" นำไปก่อนแล้ว
 

     อย่างในบทความของ Banyan ในนิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ ภายใต้หัวข้อ "Loose stalks posing as a sheaf" หรือต้นข้าวที่แยกกันแต่ทำเหมือนเป็นฟ่อนข้าวหรืออยู่ในมัดเดียวกัน อันเป็นการเปรียบเทียบประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ที่มาอยู่ร่วมกันอย่างหลวมๆ แต่ยามวิกฤตไม่สามารถแก้ปัญหาได้
 เช่นในกรณีของไทยและกัมพูชานั้น เกิดขึ้นทั้งๆที่อาเซียนมีวัตถุประสงค์ที่จะ "รักษาและขยายสันติภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งในคุณค่าของสันติภาพในภูมิภาค" จึงน่า "ผิดหวัง" ที่ทั้งสองประเทศจะมายิงกันบริเวณเขตแดนที่ปราสาทพระวิหาร
 

     ที่เป็นข้อสังเกตของบทความดังกล่าว คือ เมื่อมีเหตุการณ์ปะทะกัน ฝ่ายไทยต้องการที่จะใช้กลไก ทวิภาคี" ในขณะที่กัมพูชาวิ่งไปใช้กลไกของสหประชาชาติ แต่ไม่มีใครขอให้อาเซียนช่วยแต่ประการใด ทั้งๆที่ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย และ นายมาร์ตี้ นาทาเลกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียในฐานะที่อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนในปัจจุบัน ได้เดินทางระหว่างกรุงเทพฯและพนมเปญ เพื่อให้มีการเจรจากัน
 

     ซึ่งอาเซียนก็ยอมให้แต่ละคนไปตามทางของตน ไม่สามารถเข้ายุ่งเกี่ยวได้ เพราะหลักการที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงประเทศสมาชิก โดย นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งประเทศสิงคโปร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ทั้งสองประเทศได้ละเมิดข้อตกลงอาเซียน แต่อาเซียนไม่สามารถบังคับใช้กติกาที่ตกลงกันไว้ การไล่ออกจากการเป็นสมาชิกนั้นเป็นไปไม่ได้ ทั้งไม่มีบทลงโทษอื่นกำหนดไว้แต่อย่างใด
 

     ในบทความยังวิพากษ์อย่างติดตลกด้วยว่า "อาเซียน" นั้นเก่งในการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ประนีประนอมมากกว่าจะท้าทาย และจะอ้างถึงหลักการในอธิปไตยของแต่ละประเทศทั้งๆที่การเข้ามายุ่งเกี่ยวของผู้ที่ทำตัวเป็นตัวกลางนั้นมีความตั้งใจที่ดี ส่วนคนที่จะมาประชุมร่วมกันในอาเซียนนั้นขอให้มีคุณสมบัติเพียงพูดภาษาอังกฤษได้ ชอบเล่นกอล์ฟ ร้องคาราโอเกะ และกินทุเรียน
 

     หากมองไปที่สมาชิกทั้ง 10 ประเทศแล้ว มีความแตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็น บรูไน ซึ่งเป็นรัฐอิสลามปกครองโดยสุลต่าน สิงคโปร์ ที่เป็นเกาะที่ทั้งเมืองเป็นประเทศที่ร่ำรวย ประเทศเผด็จการคอมมิวนิสต์ 2 ประเทศ คือ ลาว และ เวียดนาม พม่า ซึ่งปกครองโดยรัฐทหารที่เพิ่งมีการ "เลือกตั้ง" พร้อมทั้ง กัมพูชา และ ประเทศ 5 ประเทศที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม ซึ่งรวมตัวกันในยุค "สงครามเย็น"
 

     วันนี้ทั้งหมดตกลงกันว่าจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจในปี 2015 ซึ่งการเป็นเขตการค้าเสรีมีความท้าทายมาก เพราะความแตกต่างดังกล่าว และการที่ อาเซียน ไม่มีองค์กรตรงกลางที่เข้มแข็งที่จะบริหารจัดการความขัดแย้งหรือผลักดันความร่วมมืออย่างจริงจัง
 

     บทความของ Banyan วิเคราะห์ได้ตรงเป้า และเป็นเรื่องที่รู้กัน และวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องในหมู่สมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะนักวิชาการและนักการทูตที่อยากเห็นอาเซียนพัฒนาด้วยความเข้มแข็งและเติบใหญ่มีอำนาจต่อรองอย่างสหภาพยุโรป
 

     ซึ่ง อาเซียน คงต้องใช้เวลามากกว่า สหภาพยุโรป และที่ผ่านมา สหภาพยุโรป ก็ใช่ว่าจะรวมกันง่ายๆ แม้ทุกวันนี้ยังประสบปัญหาพอควร แต่อย่างน้อยทุกประเทศเห็นประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันและความพยายามที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเป็นหนึ่งเดียว
 

     ที่น่าเสียดายคือ บทบาทของ ไทย ซึ่งถือว่าเป็น "ตัวหลัก" ในการประสานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก เพราะเป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิด อาเซียน ขึ้นมา และระดับการพัฒนาประเทศ ความมั่นคงทางการเมืองในอดีต และ "เครดิต" กับประเทศมหาอำนาจต่างๆได้ "สะสม" ไว้มากพอควร แต่มาวันนี้ ไทย กลับเป็นคู่กรณีเสียเอง ทั้ง เครดิตระหว่างประเทศก็ร่อยหรอ ความมั่นคงภายในทางการเมืองตกต่ำ
 บทบาทการนำใน อาเซียน จึงถูกช่วงชิง ดังจะเห็นความพยายามของ เวียดนาม และ อินโดนีเซีย ใน ฐานะประธานอาเซียนต่อจาก ไทย ซึ่งสมัยที่ ไทย เป็นนั้นล้มเหลวในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน อับอายไปทั่วโลก ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลจะกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทย รวมทั้งผู้ที่รับผิดชอบที่น่าจะถึงเวลาปรับเปลี่ยนได้แล้ว!!


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ siamrath.co.th ดูทั้งหมด

591

views
Credit : siamrath.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน