ว่าด้วย 'อาเซียน': ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับภายนอก (10)

เก่ง วงศ์กล้า

keng_wongkla@hotmail.com

 

     ภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน และ “สาธารณรัฐเกาหลี” หรือ เกาหลีใต้ กล่าวถึงภูมิหลัง เกาหลีใต้เริ่มมีความสัมพันธ์กับอาเซียน ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2532 ในฐานะคู่เจรจาเฉพาะด้าน และได้รับสถานะเป็นประเทศคู่เจรจาอย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2534

    ต่อมาใน พ.ศ.2547 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนาม ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมืออย่างรอบด้าน (Joint Declaration on Comprehensive Partnership) เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

 

     ใน พ.ศ.2552 เกาหลีใต้ เป็นเจ้าภาพจัด การประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ สมัยพิเศษ ที่เกาะเจจู เพื่อเฉลิมฉลอง

     ครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 13 ที่กรุงฮานอย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2553 อาเซียนและเกาหลีใต้ได้เห็นชอบให้ยกระดับความสัมพันธ์ จากหุ้นส่วนรอบด้านเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

     และได้รับรอง ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อสันติภาพและความรุ่งเรือง (Joint Declaration on ASEAN-Republic of Korea Strategic Partnership for Peace and Prosperity) และแผนปฏิบัติการอาเซียน-เกาหลีใต้ เพื่อดำเนินการตามปฏิญญาดังกล่าว ระหว่าง พ.ศ.2554-2558 (ค.ศ. 2011-2015)

 

     ความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคง เกาหลีใต้ได้ภาคยานุวัติ สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) เมี่อ พ.ศ.2547 และได้ลงนามใน ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากล (Joint Declaration for Cooperation to Combat International Terrorism) กับอาเซียน ใน พ.ศ.2548

 

    ทั้งยังจัดตั้ง สำนักงานคณะผู้แทนถาวรเกาหลีใต้ประจำอาเซียน อย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2555 และแต่งตั้งคณะผู้แทนถาวรเกาหลีใต้ประจำอาเซียนแล้ว โดยมีนาย Baek Seong-taek ศาสตราจารย์ประจำสถาบันการทูตเกาหลี (Korea National Diplomatic Academy - KNDA) กระทรวงการต่างประเทศและการค้า เป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรเกาหลีใต้ประจำอาเซียนคนแรก

 

     ในด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ เกาหลีใต้ยินดีกับการรับรอง Declaration on Drug-Free ASEAN 2015 โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งผู้นำอาเซียนขอให้ เกาหลีใต้ ส่งเสริมความร่วมมือกับอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

 

     ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ อาเซียนและเกาหลีใต้ได้ร่วมลงนาม กรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation) ใน พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าใน พ.ศ.2549 ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ ใน พ.ศ.2550 และความตกลงว่าด้วยการลงทุนใน พ.ศ.2552

 

     เมื่อ พ.ศ.2554 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของอาเซียน รองจากจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของ เกาหลีใต้ รองจากจีน โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันประมาณ 125 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ.2553 ร้อยละ 28.51 (มูลค่าการค้ารวมใน พ.ศ.2553 อยู่ที่ 97.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

 

     ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 15 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2555 ที่ประชุมเห็นชอบให้ทั้งสองฝ่ายเพิ่มความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกัน และใช้ประโยชน์จาก ASEAN-Korea FTA ให้มากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันเป็น 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน พ.ศ.2558

 

     ใน พ.ศ.2553 เกาหลีใต้ เป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 4 ของอาเซียน รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น มีมูลค่าการลงทุน 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 4.9 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดในอาเซียน

 

     เหนือสิ่งอื่นใด ตั้งแต่ พ.ศ.2552 ได้มีการจัดตั้ง ศูนย์อาเซียน-เกาหลี ที่กรุงโซล เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน ทั้งนี้ ไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์อาเซียน-เกาหลีใต้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 โดยมีวาระการปฏิบัติหน้าที่จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2557

 

     ความร่วมมือด้านการพัฒนา เกาหลีใต้ได้จัดตั้งกองทุน ASEAN-ROK Future Oriented Cooperation Projects (FOCP) และกองทุน ASEAN-ROK Special Cooperation Fund (SCF) เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ สมัยพิเศษ ใน พ.ศ.2552 เกาหลีใต้ได้ประกาศเพิ่มการให้เงินสมทบทุนแก่กองทุน ASEAN-ROK SCF หลังจาก พ.ศ.2553 จากเดิมปีละ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

     ในด้านการลดช่องว่างด้านการพัฒนาในอาเซียน เกาหลีใต้ได้ให้ความช่วยเหลือโครงการภายใต้ ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration – IAI) อย่างต่อเนื่อง และได้จัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 เพื่อสนับสนุนการลดช่องว่างด้านการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 

     บทบาทของไทย ฝ่ายไทยผลักดันให้เกาหลีใต้ สนับสนุนเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยต่อยอดจากการที่ เกาหลีใต้ ส่งคณะทูตพิเศษมาไทยเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2555 และในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555 ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อขยายความร่วมมือระหว่างกัน

 

     สนับสนุนให้ เกาหลีใต้ มีบทบาทแข็งขันในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อมโยง โดยจัดตั้งคณะทำงานด้านความเชื่อมโยงเพื่อให้การส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียน-เกาหลี มีความชัดเจนมากขึ้น และขอให้เกาหลีใต้ ช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ พิธีศุลกากกและโลจิสติกส์ในพื้นที่ชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

     ผลักดันให้เกาหลีใต้มีบทบาทในการลดช่องว่างด้านการพัฒนาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง (เช่นอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ให้เต็มประสิทธิภาพและให้เกาหลีใต้เข้าร่วมกระบวนการเจรจาจัดทำ RCEP อย่างแข็งขัน

 

     พัฒนาการล่าสุด ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 ที่กรุงพนมเปญที่ประชุมเห็นชอบให้อาเซียน และ เกาหลีใต้ ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน อาเซียนขอให้ เกาหลีใต้ สนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน และความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยการจัดตั้งกลไกประสานงานกับฝ่ายอาเซียน ส่งเสริมให้เกาหลีใต้ขยายบทบาทในการลดช่องว่างด้านการพัฒนาในภูมิภาค เช่น ในกรอบ Initiative of ASEAN Integration (IAI) และความร่วมมือแม่โขง-เกาหลีใต้

 

     ขยายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ ความร่วมมือด้านป่าไม้ เทคโนโลยีสีเขียว ส่งเสริมการเชื่อมโยงในระดับประชาชน โดยขอให้ เกาหลีใต้ ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาอาเซียนเพิ่มขึ้น ขยายความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยขอให้ เกาหลีใต้ ให้การสนับสนุนศูนย์จัดการภัยพิบัติ (AHA center) ของอาเซียน และผลักดันการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการอาเซียน-เกาหลีใต้ ระยะ 5 ปี (2554-2558) ในสาขาต่างๆ ให้บรรลุผล รวมถึงเสนอให้ศูนย์อาเซียน-เกาหลีใต้มีบทบาททางการค้าและวัฒนธรรม ตลอดจนสนับสนุนให้แก้ไขปัญหาคาบสมุทรเกาหลีอย่างสันติวิธีผ่านการเจรจาหกฝ่าย

 

     ประเด็นที่ไทยผลักดันในการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 15 ได้แก่ สนับสนุนให้เกาหลีใต้เพิ่มบทบาทในการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้าน ICT และนวัตกรรมของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการพัฒนากฎระเบียบ พิธีศุลกากร และโลจิสติกส์ ในพื้นที่ชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการเชื่อมโยงถนนและทางรถไฟในอาเซียน และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือไปจนถึงคาบสมุทรเกาหลี

 

     ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ให้เต็มประสิทธิภาพ สนับสนุนให้นักลงทุนเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้าน ICT และนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนให้ศูนย์อาเซียน-เกาหลีจัดโครงการอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการบริหารจัดการให้แก่ผู้ประกอบการ SME สนับสนุนให้เกาหลีใต้ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้ ตามที่ได้จัดตั้งกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้

 

     เกาหลีใต้ ผลักดัน/เสนอข้อริเริ่มที่สำคัญ ได้แก่ การลดช่องว่างด้านการพัฒนาในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ขอให้อาเซียนขยายความร่วมมือทางการค้าส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของ เกาหลีใต้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม มาช่วยพัฒนาอาเซียนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการด้านภัยพิบัติการบริหารจัดการด้านป่าไม้ และเทคโนโลยีสีเขียว ส่งเสริมความร่วมมือด้าน cyber university กับประเทศในอาเซียน และสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อาเซียน-เกาหลีใต้ให้จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและวัฒนธรรม

 

 

 

 


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ siamrath.co.th ดูทั้งหมด

767

views
Credit : siamrath.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน