ว่าด้วย 'อาเซียน': ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับภายนอก (12)
เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com
ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและ “จีน” เริ่มต้นขึ้นเมื่อ นายเฉียน ชีเชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 24 เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2534 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในฐานะแขกของรัฐบาลมาเลเซีย ต่อมาจีนได้รับสถานะคู่เจรจาอย่างเต็มรูปแบบของอาเซียน ใน พ.ศ.2539
ในพ.ศ.2549 มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 15 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ที่นครหนานหนิง และใน พ.ศ.2554 อาเซียนและจีนได้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 14 ที่บาหลี เป็นสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน
ความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคง จีนเป็นประเทศคู่เจรจาแรกของอาเซียนที่ภาคยานุวัติ สนธิสัญญามิตรภาพ และความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 7 เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ.2546 ที่บาหลี อินโดนีเซีย และยังเป็นประเทศแรกที่แสดงความพร้อมที่จะลงนามในพิธีสารต่อท้าย สนธิสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ)
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 ที่กรุงพนมเปญ ผู้นำอาเซียนและจีนได้ร่วมลงนาม ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea-DOC) อีก 9 ปีต่อมา ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน ครั้งที่ 44 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ที่บาหลี ได้ให้การรับรองแนวทางการปฏิบัติตาม DOC (Guidelines on the Implementation of the DOC)
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ จีนเป็นประเทศคู่เจรจาแรกที่เสนอให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนาม กรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation) เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2545 ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้มีการจัดตั้ง เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน กับประเทศสมาชิกอาเซียนเก่า (6 ประเทศ) ให้แล้วเสร็จภายใน พ.ศ.2553 และกับประเทศสมาชิกใหม่ (4 ประเทศ) ภายใน พ.ศ.2558 ต่อจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนาม ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าและกลไกการระงับข้อพิพาท ใน พ.ศ.2547 ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ ใน พ.ศ.2550 และ ความตกลงว่าด้วยการลงทุน ใน พ.ศ.2552
ใน พ.ศ.2554 จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน ในขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน รองจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 13 เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ.2553 ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันเป็น 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนใหม่จากจีนในภูมิภาคเป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน พ.ศ.2558
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 14 เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2554 จีนประกาศเพิ่มวงเงินสินเชื่อแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิมที่ประกาศไปแล้วจำนวน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ พ.ศ.2552) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อพิเศษ (preferential loans) จำนวน 4,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อาเซียนกับจีนมีความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่
1) จัดตั้ง ศูนย์ ASEAN-China FTA Business Portal ซึ่งเป็นโครงการที่แต่ละประเทศสมาชิกจะรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมการค้าของประเทศตนกับจีน และนำส่งให้ฝ่ายเลขานุการคณะทำงาน (ASEC) ในวันที่ 28 ของทุกเดือน โดยในส่วนของไทย กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลการปรับปรุงข้อมูลที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการค้าจากการเปิดเสรีอาเซียน-จีน และ
2) การเปิด สำนักงานสาขาของสมาคมส่งเสริมการค้าและเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ที่เมืองอี๋อู และเมืองเวิ่นโจว ภายใต้กรอบความร่วมมือความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2554 ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนกับเอกชนเป็นครั้งแรก
มีการจัดพิธีเปิด ศูนย์อาเซียน-จีน ที่กรุงปักกิ่ง อย่างเป็นทางการ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 14 เมื่อเดือน พ.ย. 2554 เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน และเป็นศูนย์บริการข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับอาเซียน-จีน
จีนเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าอาเซียน-จีน (CAEXPO) ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 21-25 กันยายน พ.ศ.2555 ที่นครหนานหนิง โดยมีหัวข้อหลักของงาน คือ Science and Technology Cooperation ซึ่งสอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีจีนได้ประกาศในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 14 ให้ พ.ศ.2555 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน-จีน โดยในงาน ประกอบด้วย การจัดคูหาแสดงสินค้าส่งออกของจีนและของอาเซียน และกิจกรรมคู่ขนานอื่นๆ
อาทิ Forum on China-ASEAN Free Trade Area และ China-ASEAN Business and Investment Summit ครั้งที่ 9 (9th CABIS) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยเข้าร่วมงาน ทั้งนี้ ในช่วงพิธีเปิดงาน CABIS รองประธานาธิบดีจีน (นายสี จิ้นผิง) และเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ให้ข้อเสนอแนะ 4 ประการเพื่อผลักดันให้ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีนเป็นไปอย่างลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น ได้แก่
1) ยกระดับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน 2) ผลักดันความร่วมมือด้านการค้า โดยจีนพร้อมดำเนินนโยบาย “ก้าวออกไป” เพื่อส่งเสริมให้นักธุรกิจจีนไปลงทุนในอาเซียนให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็พร้อมรองรับนักลงทุนจากอาเซียนที่ประสงค์จะเข้ามาทำธุรกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและตะวันตกของจีน
3) ส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงทั้งทางบกและทางทะเลระหว่างกัน รวมถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมตามแนวท่าเรือและ 4) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและการไปมาหาสู่กันของประชาชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 15 ล้านคน ภายในพ.ศ.2563
ความร่วมมือด้านการพัฒนา สังคม และวัฒนธรรม อาเซียนและจีนตกลงที่จะร่วมมือกันใน 11 สาขาหลัก ได้แก่ (1) การเกษตร (2) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT (3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (4) การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง (5) การลงทุน (6) พลังงาน (7) การขนส่ง (8) วัฒนธรรม (9) สาธารณสุข (10) การท่องเที่ยว และ (11) สิ่งแวดล้อม
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 13 เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ.2553 จีนให้คำมั่นว่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกันเป็น 15 ล้านคน ภายในพ.ศ.2558 ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักเลขาธิการอาเซียนปรากฏว่า ใน พ.ศ.2553 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนมายังอาเซียนจำนวน 5.42 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 7.4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในอาเซียน
ในส่วนของความร่วมมือด้านการศึกษา จีนได้จัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาและฝึกอบรม จำนวน 10 แห่ง ใน 6 มณฑลของจีน ได้แก่ กว่างซี ยูนนาน ฝูเจี้ยน เสฉวน กุ้ยโจว และเหอหลงเจียง และจะเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาที่ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาให้ได้ 100,000 คน ภายใน พ.ศ.2563 เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีและเสริมสร้างมิตรภาพในภาคประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
จีนสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการลดช่องว่างด้านการพัฒนาโดยผ่านการดำเนินโครงการ ความร่วมมือภายใต้แนวคิดริเริ่มสำหรับการบูรณาการของอาเซียน (Initiative forASEAN Integration-IAI) และอนุภูมิภาคที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ASEAN-Mekong Basin Development Cooperation (AMBDC) และ Brunei-Indonesia-Malaysia-Philippines East ASEAN Growth Area (BIMP-EAGA)
บทบาทของไทย เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการจัดตั้งศูนย์อาเซียน-จีน ณ กรุงปักกิ่ง โดยไทยเป็นประเทศแรกที่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์อาเซียน-จีน ในตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ (Director of Information and Public Relations Unit) วาระ 3 ปี ในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ.2556 เพื่อสะท้อนถึงความสำคัญที่ไทยให้ต่อจีน
จัดโครงการสำรวจศักยภาพเส้นทางสาย R 3A (จาก จังหวัดเชียงรายไปยังนครคุนหมิงโดยผ่านภาคเหนือของลาว) โดยเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเข้าร่วม เมื่อวันที่ 23-24 มกราคม พ.ศ.2554 ไทยจะปฏิบัติหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เป็นระยะเวลา 3 ปี (ปลายเดือน กรกฎคม พ.ศ.2555-กรกฎาคม พ.ศ.2558) สืบต่อจากเวียดนาม
ซึ่งไทยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะความร่วมมือใน 11 สาขา เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศในภูมิภาค รวมทั้งมุ่งส่งเสริม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การสร้างประชาคม การส่งเสริมความเชื่อมโยง และการจัดทำ แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Regional Code of Conduct in the South China Sea: COC)