ครูดี..โรงเรียนเด่น / เปิดหูเปิดตา"ศูนย์อาเซียนศึกษา"ที่ รร.พิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี
นับถอยหลังเหลือเวลาไม่ถึง 4 ปี ...ประเทศไทย และเพื่อนสมาชิกอีก 9 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนนต้องตื่นตัวที่จะพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้าน เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
* มณีรัตน์ ศิริปัญจนะ
เปิดหูเปิดตา "ศูนย์อาเซียนศึกษา"
ที่ รร.พิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี
====================
นับถอยหลังเหลือเวลาไม่ถึง 4 ปี ...ประเทศไทย และเพื่อนสมาชิกอีก 9 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 เพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคอันจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนนต้องตื่นตัวที่จะพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้าน เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
...จากการติดตามคณะของสำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ ไปเยี่ยมชมการเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาของโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในการสัมมนา "สื่อมวลชนกับประชาคมอาเซียน" เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าโรงเรียนเตรียมความพร้อมได้ดีมาก โดยมีการจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา เพื่อให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ซึ่งทำให้เด็กได้เข้าใจ และเข้าถึงอย่างแท้จริง
@ ฟุดฟิดฟอไฟสู่อาเซียน
ว่าที่ ร.ต.สุวิช พึ่งตน ผู้อำนวยการโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย เล่าว่า การเตรียมความพร้อมให้เด็กเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นหัวใจหลักของโรงเรียนที่จะต้องเร่งพัฒนาให้เด็กทุกคนรู้จักการปรับตัว และรู้เท่าทันกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 โดยขณะนี้ทางโรงเรียนได้เน้นการสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพราะถือเป็นภาษากลางที่จะต้องใช้ในการสื่อสารกับชาติอาเซียนทั้งหลาย
"ในปีนี้โรงเรียนได้กำหนดให้เป็นปีแห่งคุณภาพในการพัฒนาภาษาอังกฤษ เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การทดสอบภาษาอังกฤษครูทุกคน การพัฒนาครูในการใช้ภาษาอังกฤษ รวมทั้งในการเรียนการสอนจะต้องบูรณาการวิชาภาษาอังกฤษ และความรู้เกี่ยวกับอาเซียนลงไปในทุกกลุ่มสาระวิชา นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีมุมหนังสือนอกเวลาเป็นภาษาอังกฤษในห้องสมุดด้วย เพื่อให้นักเรียนได้ซึมซับบรรยากาศ และความใกล้ชิดกับภาษาอังกฤษมากขึ้น"
@ สอนภาษาพม่า
ด้านนางกนกวรรณ สร้อยคำ ครูผู้รับผิดชอบศูนย์อาเซียนศึกษา กล่าวว่า โรงเรียนได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้เป็นโรงเรียนนำร่อง ตามโครงการพัฒนาประชาคมสู่อาเซียน (Spirit of ASEAN) ในกลุ่มของ Sister School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ไม่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และเน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เทคโนโลยี และภาษาอาเซียน 1 ภาษา โดยที่นี่เลือกภาษาพม่า เป็นภาษาอาเซียน
"ภาษาถือเป็นส่วนสำคัญ ดังนั้นหากเด็กสามารถสื่อสารกับเพื่อนบ้านในภาษาของเขาได้ ก็จะทำให้เข้าใจและรู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น ทางโรงเรียนจึงได้เลือกสอนภาษาพม่า เพราะใน จ.ลพบุรี มีแรงงานจากพม่าจำนวนมาก จึงเป็นช่องทางที่เด็กสามารถนำความรู้ด้านภาษาพม่า ที่ได้รับจากการเรียนในห้องเรียนไปทดลองใช้ในชีวิตจริง"
@ กิจกรรมเสริมความรู้
นางกนกวรรณ ยังเล่าถึงการจัดกิจกรรมของศูนย์อาเซียนศึกษาว่า ภายในศูนย์ฯ จะมีบรรยากาศเกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียน พร้อมบริการหนังสือ สื่อต่างๆ และคอมพิวเตอร์ในการค้นหาข้อมูล นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจรรมอาเซียนสัญจรในโรงเรียนเครือข่าย และชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ขณะเดียวกันก็จะมีการจัดบริการเสียงตามสายคอยให้บริการความรู้แก่เด็กในทุกเช้าด้วย
@ ปลื้มเด็กไทยฉลาด
Thi Thi Aung ครูผู้สอนภาษาพม่า จากเมืองย่างกุ้ง กล่าวว่า ไม่ได้เพียงสอนแค่ภาษาพม่าเท่านั้น แต่ยังสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวพม่าด้วย ซึ่งเด็กที่นี่ฉลาดและตั้งใจเรียนรู้มาก ทั้งนี้การสอนภาษาพม่าจะสอดแทรกอยู่ในวิชาโลกศึกษา เน้นทักษะอ่าน พูด และเขียนในเบื้องต้น ที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
...แม้ขณะนี้สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะตื่นตัวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็เชื่อว่ายังมีคนไทยอีกไม่น้อย ที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น เวลาที่เหลือหลังจากนี้คงเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจ เพื่อให้คนไทยมีความพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด!!!
===================