ว่าด้วย 'อาเซียน': ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับภายนอก (11)

ความเป็นมา อาเซียนกับ “อินเดีย” เริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2535 ในลักษณะคู่เจรจาเฉพาะด้านและยกระดับขึ้นเป็นคู่เจรจาอย่างสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.2538 ต่อมาได้พัฒนาความสัมพันธ์สู่ระดับการประชุมสุดยอดครั้งแรก เมื่อ 5 พ.ย. 2545 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

     ความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย เป็นความสัมพันธ์อย่างรอบด้านในฐานะหุ้นส่วน โดยมีเอกสาร ASEAN-India Partnership for Peace, Progress and Shared Prosperity กำหนดแนวทางในการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยมีแผนปฏิบัติการรองรับ ทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งกองทุน ASEAN-India Fund เพื่อสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการฉบับ พ.ศ.2553-2558

     ด้านการเมืองและความมั่นคง อินเดียได้เข้าร่วม ASEAN Regional Forum (ARF) ตั้งแต่ พ.ศ.2539 โดยมีบทบาทในเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล และได้ภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อ พ.ศ.2546 อีกทั้งได้รับรองแถลงการณ์ร่วมกับอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากล ในปีเดียวกัน นอกจากนั้น อินเดียยังได้เข้าเป็นสมาชิกของ East Asia Summit (EAS) ใน พ.ศ.2548

     ด้านเศรษฐกิจ อาเซียนและอินเดียได้ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน เมื่อ พ.ศ.2546 และได้ลงนามความตกลงด้านการค้าสินค้า เมื่อสิงหาคม พ.ศ.2552 ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2553 เป็นต้นมา ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ได้ให้สัตยาบันต่อความตกลงอาเซียน-อินเดีย

     ด้านการค้าสินค้า ยกเว้น กัมพูชาซึ่งเพิ่งผ่านกระบวนการภายใน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2554 สำหรับไทยได้ให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ มกราคม พ.ศ.2553 ในปัจจุบันอาเซียนและอินเดียกำลังเจรจาความตกลงด้านการค้าสินค้าบริการ ซึ่งมีความคืบหน้าไปประมาณ 70% ส่วนการเจรจาความตกลงด้านการลงทุน คืบหน้าเพียง 15% เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังมีความแตกต่างในแนวทางการเปิดตลาดการลงทุน ซึ่งอาเซียนต้องการเปิดบนพื้นฐานของ negative list แต่อินเดียต้องการเปิดแบบ positive อาเซียนและอินเดียมีมูลค่าการค้าสองฝ่ายเมื่อ พ.ศ.2553 ประมาณ 51,355 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอาเซียนเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าประมาณ 5,157.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2552 ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบให้ขยายเป้าหมายมูลค่าการค้า เป็น 70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน พ.ศ.2555
ด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา อินเดียส่งเสริมความร่วมมือกับอาเซียนในสาขาที่อินเดียมีศักยภาพ เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี IT รวมทั้งการแพทย์และเภสัชกรรม อินเดียได้จัดตั้งกองทุน ASEAN-India Science & Technology Fund เพื่อพัฒนาความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งกองทุน ASEAN-India Green Fund เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในการส่งเสริมการปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค

     อินเดียยังสนับสนุนความร่วมมือด้านการแพทย์แผนโบราณและแผนปัจจุบัน โดยส่งเสริมความร่วมมือด้านการเภสัชกรรมและการผลิตยาเพื่อใช้ในระบบสาธารณสุขของรัฐทั้งนี้ อินเดียให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่การพัฒนาและลดช่องว่างในอาเซียน โดยได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมภาษาอังกฤษ ศูนย์ฝึกอบรมผู้ประกอบการและศูนย์ฝึกอบรมด้าน IT ในประเทศ CLMV โครงการให้บริการทางการแพทย์ และการศึกษาผ่านระบบอินเตอร์เน็ตร่วมกับ CLMV นอกจากนั้น อาเซียนและอินเดียมีโครงการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างประชาชนหลายกลุ่ม เช่นเยาวชน นักศึกษา ผู้สื่อข่าว และนักการทูต อีกทั้งกำลังจะริเริ่มให้มีการเยือนระหว่างสมาชิกรัฐสภาด้วย

     ด้านการเชื่อมโยงกับอาเซียน อินเดียให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงแบบรอบด้านและพยายามหาทางเชื่อมโยงกับอาเซียนผ่านทะเลอันดามันโดยใช้ทะวายของพม่าเป็นประตูสำคัญ ดังนั้นนอกจากอินเดียจะสนับสนุนการสร้างทางหลวงสามฝ่ายไทย-พม่า-อินเดีย แล้ว อินเดียยังมีสนับสนุนแนวคิดในกรอบ “อาเซียน+6” ที่มอบให้ ERIA (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia) ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา Mekong-India Economic Corridor (โฮจิมินห์-พนมเปญ-กรุงเทพ-ทะวาย-เจนไน) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับอินเดียฝั่งตะวันออก โดยใช้เป็นเส้นทางลัดสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างกันพร้อมกับพัฒนาเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมควบคู่กันไปด้วย

     อินเดียแสดงความสนใจที่จะให้ภาคเอกชนอินเดียเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการภายใต้ Master Plan on ASEAN Connectivity ในลักษณะของ Public Private Partnership (PPPs) โดยเสนอให้ ASEAN Coordinating Committee พิจารณาจัดการประชุมเฉพาะเรื่อง PPP Concession Agreements เนื่องจากอินเดียมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความประสงค์ของไทยที่ผลักดันให้อินเดียมีส่วนร่วมในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคเอเชียใต้

     สถานะล่าสุด ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับอินเดีย เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันในประเด็นต่อไปนี้ 1) เร่งรัดให้ทั้งสองฝ่ายสรุปผลการเจรจาความตกลงด้านการบริการและการลงทุนโดยเร็วที่สุด โดยไทยและอินเดียได้ผลักดันให้สรุปผลให้ได้ภายในปีนี้ และทั้งสองฝ่ายได้ผลักดันให้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากความตกลงด้านการค้าสินค้าเพื่อขยายการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน พ.ศ.2555

     2) ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังว่า ASEAN-India EPG ที่ตั้งขึ้นจะเสนอแนวทางและวิสัยทัศน์เพื่อดำเนินความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 3) ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี IT พลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการภัยพิบัติ ความร่วมมือทางการแพทย์และสาธารณสุข 4) ให้ความสำคัญกับการสานต่อบทบาทของอินเดียในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการลดช่องว่างการพัฒนาใน CLMV และ

     5) ให้ความสำคัญกับบทบาทของอินเดียในการสนับสนุนการดำเนินการตาม Master Plan on ASEAN Connectivity ทั้งด้านการคมนาคมและการพัฒนา ICT โดยเฉพาะการเร่งรัดเชื่อมโยงถนนสามฝ่าย ไทย-พม่า-อินเดีย และการพัฒนา Mekong-India Economic Corridor นอกจากนั้น ลาว กัมพูชา และเวียดนามได้ย้ำให้พิจารณาการสร้างทางหลวงสายใหม่เชื่อมโยง อินเดีย พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา (เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ภายใต้ Master Plan) ซึ่งอินเดียได้ตอบรับสนับสนุน รวมถึงสนับสนุนข้อเสนอของสิงคโปร์ที่จะให้มีการจัด Workshop เรื่องความร่วมมือระหว่างอาเซียน-อินเดีย ในลักษณะ Public-Private Partnership ทั้งนี้ อินเดียได้ย้ำให้เร่งรัดการเจรจาความตกลงว่าด้วยความร่วมมือการเดินอากาศระหว่างอาเซียน-อินเดียด้วย

     อาเซียนและอินเดียได้จัดให้มีการประชุม ASEAN-India EPG ครั้งแรกระหว่าง วันที่ 2-3 สิงหาคม พ.ศ.2554 โดยได้วางกรอบเวลาการทำงานและโครงสร้างของการจัดทำรายงานซึ่งจะประกอบด้วยการทบทวน/ประเมินความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย 20 ปีที่ผ่านมา และข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์สำหรับทิศทางความสัมพันธ์ในอนาคต ในอีก 10 ปี ข้างหน้า โดยกำหนด priority areas ในความสัมพันธ์ทางการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม/วัฒนธรรม รวมทั้งโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงสถาบัน

     ทั้งนี้ มุ่งเน้นข้อเสนอแนะที่ balanced and practical รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการประชาชนของทั้งสองฝ่าย โดยมีข้อเสนอแนะสำหรับเป้าหมาย 3 ระยะเวลา คือ สั้น กลาง และยาว ซึ่งเสนอรายงานฉบับสุดท้ายต่อผู้นำในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดียครั้งที่ 10 ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2555 ที่กัมพูชา และจัดทำวิสัยทัศน์จากรายงานของ EPG เสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดียสมัยพิเศษเพื่อฉลองการครบรอบยี่สิบปีของความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2555 ที่ประเทศอินเดีย

 


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ siamrath.co.th ดูทั้งหมด

379

views
Credit : siamrath.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน