ว่าด้วย 'อาเซียน': ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับภายนอก (1)

เก่ง วงศ์กล้า

keng_wongkla@hotmail.com


    นอกจากสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ แล้ว อาเซียนยังมีโครงการความร่วมมือในสาขาต่างๆ กับเพื่อนที่ตั้งอยู่นอกภูมิภาค หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า “คู่เจรจา” (Dialogue Partners) ของอาเซียน


    ใน พ.ศ.2515 ภายหลังการก่อตั้งอาเซียน 5 ปี อาเซียนเริ่มมีความสัมพันธ์กับประเทศนอกกลุ่มเป็นครั้งแรก กับ “สหภาพยุโรป” และมีเพื่อนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงปัจจุบัน อาเซียนมีเพื่อนที่เรียกว่าคู่เจรจาแล้ว จำนวน 9 ประเทศ กับอีก 1 องค์กร ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา อินเดีย รัสเซีย และสหภาพยุโรป


     นอกจากนี้ อาเซียนยังมีความร่วมมือเฉพาะทางในบางสาขา กับองค์การสหประชาชาติ และปากีสถาน รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ เช่น ความร่วมมือของ รัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ซึ่งเป็นองค์กรของประเทศที่มีน้ำมันเป็นสินค้าส่งออกหลัก ประกอบด้วย บาห์เรน รัฐกาตาร์ รัฐคูเวต รัฐสุลต่านโอมาน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation: SAARC) ซึ่งมี บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน และ ศรีลังกา เป็นสมาชิก


     เป้าหมายที่อาเซียนต้องการมีเพื่อน คือการขอให้เพื่อนที่มีสถานะดีกว่า ให้ความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนา แก่อาเซียน ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับเพื่อนๆ ในช่วงแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา จึงอยู่ในสถานะ “ผู้ให้กับผู้รับ”


     เมื่ออาเซียนเติบโต และมีระดับการพัฒนาที่ดีขึ้น ความสัมพันธ์กับเพื่อน ได้ค่อยๆ เปลี่ยนจาก “ผู้รับ” มาเป็น “หุ้นส่วน” ไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนา หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ หุ้นส่วนทางด้านความมั่นคง รวมถึงการต่อต้านการก่อการร้าย หรือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ


     โดยมีการประชุมในระดับต่างๆ เป็นกลไกขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา ไม่ว่าจะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม หรือการประชุมระดับผู้นำประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เรียกว่า “อาเซียน + 3” ซึ่งจัดขึนเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม


      ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับเพื่อนๆ ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดผลในด้านต่างๆ มากมาย อาทิ การเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน เพื่อป้องกันข้อพิพาทที่อาจมีขึ้น การที่ประเทศเพื่อนๆ ของอาเซียน ให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านการเงินและเทคนิค แก่โครงการเพื่อการพัฒนาของอาเซียน โดยเฉพาะโครงการลดช่องว่างระดับการพัฒนา ระหว่างประเทศสมาชิกดั้งเดิม กับกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งเป็นสมาชิกที่เข้าร่วมอาเซียนในภายหลัง


     รวมไปถึงความพยายามในการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ร่วมกันระหว่างอาเซียน กับประเทศคู่เจรจาหลายประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หรือสหภาพยุโรป ส่งผลให้ ประชาชนของอาเซียน ได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพดี ในราคาที่ถูกลง


     ขณะนี้ อาเซียนกำลังอยู่ในระหว่างการจัดตั้ง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ภายใน พ.ศ.2558 เพื่อให้อาเซียน เป็นสังคมที่เอื้ออาทรต่อกัน ประชากรมีความมั่นคง มีระดับการพัฒนา และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับเพื่อนๆ ในอนาคต จึงเน้นที่การประสานความร่วมมือระหว่างกันในกิจกรรม และโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย การเป็นประชาคมอาเซียน


     “กรอบความร่วมมืออาเซียน+3” เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2540 ในช่วงวิกฤตทางการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยการพบหารือระหว่างผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้นำของจีน ญี่ปุ่น รวมถึง เกาหลีใต้ ครั้งแรกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2540 นับจากนั้น จึงมีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ขึ้นทุกปี ในช่วงเดียวกับการประชุมสุดยอดอาเซียน


      กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 ถือกันว่าเริ่มเป็นรูปร่าง ภายหลังการออกแถลงการณ์ร่วม ว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออก เมื่อ พ.ศ.2542 และการจัดตั้ง “กลุ่มวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก” (East Asia Vision Group - EAVG) ในปีเดียวกัน เพื่อวางวิสัยทัศน์ความร่วมมือในเอเชียตะวันออก ซึ่งใน พ.ศ.2544 ได้มีข้อเสนอให้จัดตั้ง “ประชาคมเอเชียตะวันออก” (East Asian community - EAc) และกำหนดมาตรการความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง ในอนาคต


     (เหตุที่คำว่า community ในบริบทนี้ใช้ c ตัวเล็ก ก็เพราะ EAc เป็นยังจัดเป็นแต่เพียงเป้าหมายระยะยาว ที่ยังไม่มีการกำหนดรูปแบบ หรือโครงสร้างที่ชัดเจน ขณะที่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) มีความชัดเจนแล้ว ทั้งในด้านโครงสร้าง องค์ประกอบ และเงื่อนเวลา)


     การประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 9 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อ พ.ศ.2548 ผู้นำของแต่ละประเทศ ได้ลงนามใน “ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ ว่าด้วยการประชุมสุดยอดอาเซียน+3” (Kuala Lumpur Declaration on the ASEAN+3 Summit) ซึ่งกำหนดให้การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก เป็นเป้าหมายระยะยาว และให้กรอบอาเซียน+3 เป็นกลไกหลัก ในการนำไปสู่เป้าหมายระยะยาวดังกล่าว


      นอกจากนี้ ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของกรอบอาเซียน+3 เมื่อ พ.ศ.2550 ยังมีการออกแถลงการณ์ร่วม ว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออก ฉบับที่ 2 และแผนงานความร่วมมืออาเซียน+3 (พ.ศ.2550-2560) ระบุถึงแนวทางความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ภายใต้กรอบอาเซียน+3 ส่งผลให้ปัจจุบัน ความร่วมมือในกรอบอาเซียน+3 ครอบคลุมสาขาต่างๆ มากกว่า 20 สาขา ภายใต้กรอบการประชุมในระดับต่างๆ ประมาณ 60 กรอบการประชุม


     ซึ่งไทยเห็นว่ามีศักยภาพสำคัญ ในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ตลอดจนผลักดันการดำเนินการตาม “แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน” (Master Plan on ASEAN Connectivity - MPAC) อันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการเป็นประชาคมอาเซียน การรวมตัวกันในภูมิภาค และการลดช่องว่างด้านการพัฒนา


     โดยประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้เห็นชอบข้อริเริ่มของไทย ในการออก “แถลงการณ์ผู้นำ ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนความเชื่อมโยงอาเซียน+3” (Leaders’ Statement on ASEAN Plus Three Partnership on Connectivity) ในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา


uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ siamrath.co.th ดูทั้งหมด

310

views
Credit : siamrath.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน