ซีเค พาวเวอร์ กำไรโตก้าวกระโดด พร้อมขายหุ้นไอพีโอเดือนมิถุนานี้
ซีเค พาวเวอร์ ผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของไทยและอาเซียน เผยผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2556 แข็งแกร่ง กำไรสุทธิเติบโต 182% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากการรับรู้ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าแผนเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 220 ล้านหุ้นในเดือนมิถุนายนนี้
ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทมีรายได้รวมกว่า 1,200 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิในส่วนที่เป็นของบริษัทประมาณ 92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีกำไรสุทธิประมาณ 33 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาสนี้บริษัทรับรู้รายได้จากการลงทุนในโรงไฟฟ้าต่างๆ อย่างเต็มที่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 กำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ปักธงชัย กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นครราชสีมาโซล่าร์ กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ และเป็นไตรมาสแรกที่บริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าเชียงรายโซล่าร์กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ซึ่งเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
นอกจากโครงการที่เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว บริษัทยังมีโครงการโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น โครงการ 1 (BIC1) กำลังการผลิตติดตั้ง 117.5 เมกะวัตต์ จะเริ่มจ่ายไฟภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีอายุ 25 ปี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจำนวน 90 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน โดยโรงไฟฟ้า BIC 1 จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตสำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งหลังของปี 2556 นี้
รวมถึงโครงการในอนาคตต่างๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น โครงการ 2 โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำบาก และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ก็ยังดำเนินการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมแบบโคเจเนอเรชั่น รวมถึงพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตในระยะยาวให้กับบริษัทต่อไป
“ธุรกิจไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่แน่นอนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ส่งผลให้มีรายได้ที่แน่นอนและสม่ำเสมอในแต่ละปี ทำให้บริษัทมีการเติบโตในอนาคตที่ดี” ดร.สุภามาส กล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการนำบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 และจะเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชน (IPO) จำนวน 220 ล้านหุ้น แบ่งออกเป็นการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 180 ล้านหุ้น และการเสนอขายหุ้นสามัญเดิม 40 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ จะนำมาชำระคืนเงินกู้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยคาดว่าจะมีการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเดือนมิถุนายน 2556 นี้ โดยมี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด และบริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน 5,500 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 1,100 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท และมีทุนเรียกชำระแล้ว 4,600 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 920 ล้านหุ้น หลังเสนอขาย IPO ในครั้งนี้จะมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 5,500 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 1,100 ล้านหุ้น
เกี่ยวกับซีเค พาวเวอร์
บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ หรือเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการลงทุนและพัฒนาโครงการที่มีความหลากหลายเพื่อบริหารความเสี่ยง ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อน โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประกอบด้วย บมจ.ช.การช่าง (CK) บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) และบมจ.น้ำประปาไทย (TTW)