‘SANKO’ รองรับออเดอร์ AEC ดันอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตระยะยาว ทุ่มงบ 30 ล้านบาท เร่งลดค่าใช้จ่าย เพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น

“SANKO” มองการณ์ไกลหวังคว้าโอกาสหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 เนื่องจากอาเซียนมีประชากรในวัยแรงงานมากกว่า 100 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านฐานการผลิต ทำเลเหมาะสมติดกับประเทศเกิดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง อาทิ พม่า ลาว กัมพูชา เตรียมทุ่มงบจำนวน 30 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการซื้อและติดตั้งเตาหลอมใหม่ระบุทำให้ค่าใช้จ่ายลด เน้นเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) พร้อมตั้งเป้าสร้างเสถียรภาพในอนาคต

 

นายรัฐวัฒน์ ศุขสายชล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซังโกะ ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอลูมิเนียมและสังกะสีฉีดขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ ฉีดหล่อความดันสูง (High-Pressure Diecasting หรือ HPDC) ให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกลเกษตร และอื่นๆ เปิดเผยว่า จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 บริษัทฯ มองว่า เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ยอดขายของบริษัทฯ เพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถกระบะขนาด 1 ตัน อันดับ 1 ของโลก และยังครองอันดับ 9 ของประเทศผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ มีการประเมินกันว่า ในปีนี้ยอดผลิตรถยนต์ประเทศไทยจะอยู่ที่ 2.55 ล้านคัน และจะเพิ่มเป็น 3 ล้านคันในปี 2560

 

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีทำเลที่ดี เนื่องจากมีพรมแดนติดกับประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งเป็น ตลาดเกิดใหม่และมีโอกาสขยายตัวสูง ประกอบกับประเทศในอาเซียนเป็นประเทศเกษตรกรรมเหมือนกับ ประเทศไทย ทำให้เชื่อว่า นักลงทุนต่างชาติจะสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์มากยิ่งขึ้น เพราะประเทศในอาเซียนมีประชากรรวมกันทั้งหมดเกือบ 600 ล้านคน และเป็นประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานมากกว่า 100 ล้านคน ทำให้ความต้องการมีอยู่และมีโอกาสเติบโตสูงมากในอนาคต

 

ทั้งนี้ จากโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว บริษัทฯ จึงได้นำเงินบางส่วนจำนวน 30 ล้านบาท จากที่ได้ จากการระดมทุนจำนวน 57.20 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัทฯ ได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 44 ล้านหุ้น ราคาเสนอขายอัตราหุ้นละ 1.30 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ0.50 บาท เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา

 

โดยบริษัทฯ จะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการซื้อและติดตั้งเตาหลอมใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลดลงไปด้วย รวมถึงทำการทดลองติดตั้งเครื่องหล่อแบบ Gravity Feed Diecasting และติดตั้งเครื่องกลึงที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อลดปริมาณการว่าจ้างบุคคลภายนอกในการตกแต่งชิ้นงานซึ่งบริษัทฯ มุ่งหวังจะเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น(Gross Profit Margin) รวมถึงตั้งเป้าให้มีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต โดยผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2552 -2555 อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 17%, 15.5%, 12.5% และ 15.5% ตามลำดับ

 

“อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ของบริษัทฯ มีการแกว่งตัวขึ้นลงมาโดยตลอด ทำให้เรามุ่งเน้นเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นเป็นสิ่งแรก ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และจะเลือกผลิตสินค้าที่มีอัตรากำไร ขั้นต้นสูง และเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทฯ ก็ตั้งเป้าจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นมีเสถียรภาพในอนาคต อย่างไรก็ตาม เงินส่วนที่เหลือจากการระดมทุน บริษัทฯ จะนำไปซื้อที่ดินเพิ่มเติม เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต” นายรัฐวัฒน์กล่าว

 

สำหรับผลการดำเนินปี 2556 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเติบโต ตามภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจาก ลูกค้าหลักอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์คิดเป็น 60% ของยอดขายทั้งหมด และที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ 20% อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า 10% และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตรและอื่นๆ

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ ryt9.com ดูทั้งหมด

310

views
Credit : ryt9.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน