กระทรวงเกษตรฯ นับถอยหลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปูความรู้การเกษตรรอบด้านสู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานด้านเกษตรกรรมของชาติ ได้ตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของเจ้าหน้าที่ สถาบันที่เกี่ยวกับการเกษตรต่างๆ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มบทบาทของประเทศไทยให้เป็นนานาชาติขึ้น โดยได้จัดทำแผนการปฏิบัติงานขับเคลื่อน ความร่วมมือด้านเกษตรผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนให้กับเจ้าหน้าที่ สถาบันเกษตรกรรมต่าง ๆ รวมถึงเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมในภาคการเกษตรทั่วประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558

นอกจากนี้ได้พัฒนาศักยภาพของข้าราชการ เจ้าหน้าที่เกษตรกร สถาบันเกษตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในภาคเกษตรกรรมให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่เหมาะสมในการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างรอบด้าน เช่น การให้ความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับแผนการพัฒนาในส่วนของเครือข่ายเกษตรกร องค์กรและสถาบันที่เกี่ยวข้อง มีการพัฒนาด้านทักษะความชำนาญที่สอดคล้องกับการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและการเพิ่มโอกาสในการทำงานของประชาชนต่อยอดไปถึงการพัฒนามาตรฐานการผลิต และการพัฒนามาตรฐานคุณภาพ ตลอดสายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การรักษาสมดุลในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด เพื่อให้เกิดการยอมรับมาตรฐาน ในผลิตภัณฑ์ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมทั้งส่งเสริม และเพิ่มพูนความรู้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของประเทศสมาชิกอาเซียน

ขณะเดียวกัน ได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดการค้าเสรีต่าง ๆ เพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขันของประเทศ และที่สำคัญที่สุดในการเตรียมความพร้อมสำหรับภาคการเกษตร คือ การพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักสำคัญในการดำเนินกิจกรรมภาคการเกษตร โดยเน้นให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือนำทาง ซึ่งในการพัฒนาเกษตรกรจะพิจารณาถึงความสอดคล้อง เหมาะสมกับทุนทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและทุนทางปัญญาที่สั่งสมสืบทอดกันมาอย่างยาวนานของเกษตรกรเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการใช้และการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร การใช้แรงงานในภาคการเกษตร การเปลี่ยนแปลงทางการตลาดของสินค้าเกษตร เนื่องจากการพัฒนาตามลำดับอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้เกษตรกร มีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดให้กับพี่น้องเกษตรกร เพราะเมื่อเกษตรกรเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก็จะสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

"การพัฒนาเกษตรกรตามแนวทางดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสร้างให้เกิดความมั่นคงแก่ตัวเกษตรกร ในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดจากมาตรการต่าง ๆ ในการเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ยังสอดคล้องกับการพัฒนาส่งเสริมเกษตรกรสู่การเป็นเกษตรปราดเปรื่อง หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Smart Farmer ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรให้ดีขึ้นอีกด้วย" นายฉลอง กล่าว

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ ryt9.com ดูทั้งหมด

272

views
Credit : ryt9.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน