[INFOQUEST] ย้านฐานผลิตไปอินโดฯ-พม่า-เวียมนาม-คาดไทยสูญตลาด23สินค้า นักลงทุนหอบเงินหนี
ประเทศไทยหมดสภาพ หลังเปิดเออีซีจะเสียสูญตลาดใน 23 สินค้า ให้กับเวียดนาม และจีดีพีจะต่ำสุดในอาเซียน ส่วนปัญหาการเมือง จะทำให้นักลงทุนจัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นมากขึ้น สูญเม็ดเงินลงทุนโดยตรงเกือบ 2 แสนล้านบาท กลุ่มหลักๆที่ย้านไปได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม, ค้าปลีกค้าส่ง ,คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ , เคมีภัณฑ์,อสังหาฯ และสิ่งทอ
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัญหาการเมืองไทยในขณะนี้ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะเหมือนผู้ป่วย ที่มีปัญหาเรื่องความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง และมีปัญหาเรื่องความเชื่อมันจากนักลงทุนทั้งในประทศและต่างประเทศ โดยการประเมินการขยายฐานการลงทุนของไทยในอาเซียนปี57 ภายใต้ปัญหาทางการเมือง นักลงทุนไทยจะไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านถึง 123,716 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ากรณีที่ไม่มีปัญหาทางการเมืองถึง 46,610 ล้านบาท ซึ่งประเทศที่ผู้ประกอบการต้องการไปมากที่สุดคือประเทศ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการกลุ่ม อาหารและเครื่องดื่ม, ค้าปลีกค้าส่ง, การเงินและประกันภัย, คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์, เคมีภัณฑ์,อสังหาฯ และสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม
ทั้งนี้ในสถานการณ์ปกตินักธุรกิจขนาดกลางและใหญ่กว่า 480 ราย เตรียมจะขยายฐานธุรกิจไปยังประเทศในอาเซียนอยู่แล้ว โดยคิดเป็นมูลค่า 23,423 ล้านบาท แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองไทยยังยืดเยื้อถึงสิ้นปีนี้ ก็จะเป็นการเร่งให้นักธุรกิจขยายฐานไปยังอาเซียนเร็วขึ้น รวมแล้วกว่า 1,440 รายมูลค่า 123,716 ล้านบาท แต่หากการเมืองยืดเยื้อไปถึงปี 58 ก็จะเป็นการเร่งให้นักธุรกิจเร่งขยายฐานธุรกิจเพิ่ม 2,800 รายที่จะขยายฐานไปเพื่อนบ้านในอัตราแบบก้าวกระโดด คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินการลงทุนดังกล่าวอาจเป็นการลงทุนจากนักธุรกิจไทยโดยตรง หรืออาจเป็นการร่วมลงทุนกับนักธุรกิจต่างชาติด้วย
“กรณีที่ไม่มีปัญหาการเมืองธุรกิจไทย 480 ราย จาก 4,000 ราย ก็เตรียมไปลงทุนในอินโดนีเซีย พม่า และเวียดนาม มูลค่า 77,000 ล้านบาท แต่เมื่อปัญหาการเมืองยืดเยื้อและอาจถึงสิ้นปี 2557 ทำให้การย้ายฐานไปลงทุนเพิ่มเป็น 1,440 ราย หรือมูลค่า 123,000 ล้านบาท และหากปัญหาการเมืองยืดเยื้อถึงปี 2558 จำนวนธุรกิจจะย้ายไปลงทุนนอกไทยเพิ่มเป็น 2,800 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7 เท่า “
นอกจากนี้จากปัญหาการเมืองไทยและความไม่พร้อมหลายด้านของประเทศไทย ทำให้หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ในปี 58 ไทยอาจต้องสูญเสียตลาดสินค้า 23 รายการจากทั้งหมด 96 รายการให้กับประเทศเวียดนาม เช่น ข้าว ยาสูบ รองเท้า สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม, อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง, พืชผัก, กระดาษ, พลาสติกและสารเคมีต่างๆ, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยคิดเป็นมูลประมาณปีละ 29,254 ล้านบาท และประเมินว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเฉลี่ยต่อปี(จีดีพี)ของไทยในช่วงปี 54-58 จะอยู่ที่ประมาณ 3.1 % ต่ำกว่าเวียดนามที่เติบโตเฉลี่ย 5.3 % และจีดีพีเฉลี่ยของไทยอาจต่ำที่สุดในอาเซียนด้วย
“ในปี 58 สินค้าไทยจะเสียเปรียบเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 24% จากเดิมที่เสียเปรียบอยู่แล้ว 13% โดยเหตุผลที่ทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดให้เวียดนาม เพราะ ต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าเวียดนาม 2-3 เท่า เช่น ข้าวไทย แพงกว่าข้าวเวียดนาม 2 เท่า ค่าแรงขั้นต่ำไทยอยู่ที่วันละ 300 บาท แต่เวียดนามอยู่ที่วันละ 102 บาท เป็นต้น, การเมืองไทยที่ไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนอย่างมาก นโยบายทางเศรษฐกิจและนโยบายส่งเสริมของภาครัฐบาลต่อเนื่อง และราคาสินค้าไทยแพงกว่าเวียดนาม”
นอกจากนี้สิ่งที่น่ากังวลว่าในอนาคต ประเทศเวียดนามอาจจะแย่งเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) จากไทยไป ซึ่งคาดว่าในปี 57 ไทยจะมีมูลค่าลงทุนสะสมจากเอฟดีไอ 158,858 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าเวียดนามที่มีมูลค่าสะสม 124,321 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไทยมีมูลค่ามากกว่าเวียดนามถึง34,538 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปี 63 เชื่อว่าไทยจะมีมูลค่าลงทุนเอฟดีไอสะสม 241,797 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเวียดนามจะมีมูลค่าลงทุนเอฟดีไอสะสม 247,338 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเวียดนามจะมีมูลค่าเอฟดีไอสะสมมากกว่าไทยถึง 5,541 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่อย่างไรก็ตามการที่ประเทศเวียดนามจะสามารถเบียดขึ้นแซงไทยในส่วนของเอดีไอได้นั้น เวียดนามยังต้องมีการปรับปรุงถึง 12 เรื่อง เช่น ระบบคมนาคม ข้อจำกัดด้านสาธารณูปโภค ประสิทธิภาพแรงงาน ปริมาณวัตถุดิบ ภัยธรรมชาติ การลักลอบค้าชายแดน เป็นต้น
“กลุ่มอุตสาหกรรมที่เวียดนามจะดึงเงินลงทุนเอฟดีไอไปจากไทยหลังปี 58 คือ สิ่งทอฯ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องหนัง อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ประมงแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ เหล็ก อัญมณีและเครื่องประดับ กระดาษ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ธุรกิจในโรงพยาบาล เป็นต้น”
ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ลงอีก จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.8% เนื่องจากมองว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้วันเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ จะส่งผลให้ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จะยังไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ส่งผลให้ปัญหาทางการเมืองยืดเยื้อซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ
"มั่นใจว่าจีดีพีปีนี้จะต่ำกว่า 2.8% แน่นอน และคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะมีการเติบโตได้เพียง 0.6 % อย่างไรก็ตามครึ่งหลังมองว่าน่าจะมีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้วันเลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะ จึงทำให้ไม่สามารถจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรได้ "นายศุภวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้มองว่านายกฯ มาตรา 7 อาจจะสามารถเกิดขึ้นได้ภายหลังจากที่ประเมินว่าการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในวันที่ 30 มีนาคม 2557 สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแล้ว ส.ว.มีสิทธิ์ที่จะสามารถเลือกนายกฯ และนำเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งนายกฯ ตามมาตรา 7 ได้ แต่จะไม่ได้รับการยอมรับจากในหลายๆ ฝ่ายที่มีส่วนมีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงคู่ขัดแย้ง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการคัดค้านและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ด้านนางจิราภรณ์ ลินมณีโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ภัทร จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมยอดขายกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ลดลง 18 % จากปีก่อนที่เติบโต 8 % โดยในปีนี้มองภาพรวมว่าทุกอย่างจะมีการปรับลดลงและความต้องการขายมีมากกว่าความต้องการซื้อ ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้จะมีการเปิดตัวโครงการ 85,000 ยูนิต ต่ำกว่าปีก่อนที่เปิดตัว 106,000 ยูนิต
" ปีนี้เราต้องการขายคอนโดเพิ่มขึ้น แต่กลับกันว่าความต้องการคอนโดลดลงสวนทางกับปี 56 ที่ยอดขายโตเฉลี่ย 8% ส่วนซัพพลายมีมากถึง 30% สิ่งที่เกิดขึ้นคือตัวซัพพลายไตรมาส 1/56 จะขายดีผู้ประกอบการจึงเตรียมเปิดตัวโครงการในครึ่งปีหลัง แต่เมื่อถึงครึ่งปีหลังกลับเจอเหตุการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวรวมถึงความขัดแย้งทางการกเมืองในไตรมาส 4/56 จึงส่งผลให้ยอดขายชะลอตัวลง และต่อเนื่องมาถึงปีนี้" นางจิราภรณ์ กล่าว