AEC Move 2 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2557
นายกฯ เวียดนามอนุมัติหุ้นกู้เพื่อพัฒนาชนบท
Tran Thanh Nam เวียดนามนิวส์ สื่อท้องถิ่นในเวียดนามรายงานเมื่อเร็วๆนี้ ถึงการให้ข้อมูลของ Mr.Tran Thanh Nam รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาพื้นที่ชนบทว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติการออกพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ มูลค่า 226.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7.37 พันล้านบาท) ให้กับ National Target Programme เพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่ชนบทใหม่ โดยมีการแบ่งสัดส่วนเงินทุนก้อนนี้จำนวน 32% จะนำไปพัฒนาหมู่บ้านชาวเขาทางตอนเหนือ จำนวน 29% นำไปพัฒนาหมู่บ้านในภาคกลาง จำนวน 16% นำไปพัฒนาหมู่บ้านในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta)จำนวน 12.6% พัฒนาหมู่บ้านบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง (Red River Delta) จำนวน 7% พัฒนาหมู่บ้านแถบที่ราบสูง และจำนวน 2.7% จะถูกนำไปพัฒนาหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
ธ.ยูโอบี ปล่อยกู้บริษัทลอดช่องสร้างโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์
รายงานจากเว็บไซต์ยูโอบีกรุ๊ป เมื่อเร็วๆ นี้ถึงการเปิดเผยของ Mr.Frederick Chin กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารยูโอบีว่า ธนาคารยูโอบีได้เซ็นสัญญาปล่อยกู้ให้กับบริษัท Asiatech Energy จากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Cycle Gas - Fired Power Plant)มูลค่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเมืองเมาะลำไย รัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ โดยจะมีบริษัท Myanmar Lighting IPP Co. Ltd (MLC) เป็นผู้บริหารจัดการต่อไป ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้จำนวน 230 เมกะวัตต์ เพียงพอสำหรับประชากรจำนวน 5 ล้านคนในเมียนมาร์ การสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะแบ่งเป็น 2 ช่วง และคาดว่าจะสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าในช่วงแรกได้ 43 เมกะวัตต์ ภายในไตรมาส 2 ปี 2557 และจะเสร็จสมบูรณ์สิ้นปี 2558
บริษัทมาเลย์สนใจลงทุนโรงไฟฟ้าในเขมร
เอเชีย นิวส์ เน็ทเวิร์ค สื่อออนไลน์ รายงานเมื่อไม่นานนี้ว่า GUH Holdings Bhd บริษัทสัญชาติมาเลเซียให้ความสนใจภาคพลังงานของกัมพูชาด้วยการพยายามเข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 100 เมกะวัตต์ ของบริษัท Leader Universal Holdings Bhd ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีมูลค่าในการก่อสร้างทั้งสิ้น 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท) และอยู่ในช่วงของการเริ่มดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้ทั้ง 2 บริษัทกำลังอยู่ในช่วงของการเจรจา โดยอ้างอิงจากแหล่งข่าวคาดว่าทาง GUH จะเข้าซื้อหุ้นไม่น้อยกว่า 20% ด้วยมูลค่าราว 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.44 พันล้านบาท) ซึ่งมีการประเมินเบื้องต้นว่าการลงทุนครั้งนี้จะสร้างผลตอบแทนให้กับ GUH ราว 20 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 198.44 ล้านบาท) ต่อปี
"ยิบอินซอยและแย๊คส์" เตรียมขยายฐานการผลิตรับ AEC
นายยุพธัช ยิบอินซอย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยิบอินซอยและแย๊คส์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทจะเดินหน้ารุกตลาดสินค้ากลุ่มเคมีเกษตรและอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ชูนวัตกรรมสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม เน้นจุดยืนที่คุณภาพและบริการตั้งเป้าขยายฐานการผลิตและการส่งออกสู่ประเทศแถบอินโดไชน่าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและรองรับตลาดจากกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีสินค้าหลักในกลุ่มเคมีเกษตรที่เน้นตลาดกลุ่มพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ อาทิ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ยาสูบ ผลไม้ และพืชผักต่างๆ ซึ่งบริษัทจะใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมืองขยายเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านตามแถบชายแดนก่อนเป็นอันดับแรก และมีแผนที่จะร่วมมือกับบริษัท ยิบอินซอย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศเมียนมาร์ในการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสู่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง
สมอ. ติวเข้มแนวทางการตรวจรับรองอาหารฮาลาล
นายญาณพัฒน์ อู่ทองทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวถึงการอบรม "Train the Trainer แนวทางการตรวจรับรองฮาลาลสำหรับผู้ตรวจรับรอง" ซึ่งร่วมจัดกับทางสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ว่าอาหารฮาลาลมีแนวโน้มการเติบโตและการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประชากรมุสลิมทั่วโลกมีประมาณ 1,800 ล้านคน โดยอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 300 ล้านคน เอเชียใต้ 400 ล้านคน เอเชียเหนือ 100 ล้านคน และคาดว่าภายในปี 2030 จะมีจำนวนชาวมุสลิมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26.4 ของจำนวนประชากรทั้งโลก และตลาดอาหารฮาลาลมีขนาดใหญ่มูลค่าประมาณ 6 - 8 ล้านล้านบาท ดังนั้นต้องดำเนินกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลามเพื่อสร้างความเชื่อมั่น