ไทยยืนอันดับ 18 ของโลกประเทศน่าลงทุน เร่งยกเครื่องติด 1 ใน 10 ภายใน 2 ปี

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยถึง รายงานผลการจัดอันดับความยากง่าย ในการประกอบธุรกิจ 2557 (Doing Business 2014: Understanding Regulations for Small and Medium-Size Enterprises) จากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศและธนาคารโลก ซึ่งเป็นรายงาน ล่วงหน้า 1 ปี ผ่านระบบ Video conference จากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ผลการจัดอันดับปรากฏว่า ประเทศไทยยังคงรักษาอันดับในกลุ่ม 20 ประเทศแรกของโลกที่ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ โดยรักษาอันดับที่ 18 เท่ากับปีก่อน จาก 189 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ พิจารณาตามปัจจัยการให้คะแนนทั้ง 10 ด้าน พบว่า หน่วยงานของรัฐประเทศไทยมีการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ ลดขั้นตอน ระยะเวลาดำเนินการ พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ แก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบให้เอื้อต่อความสะดวกของผู้ประกอบธุรกิจ โดยตัวชี้วัดที่ดีขึ้น คือ ไทยปรับให้บริษัทมีภาระการชำระภาษีลดน้อยลง โดยการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของฝ่ายนายจ้าง

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ยังอยู่ในอันดับที่ 91 ยังต้องมีการปรับปรุงโดยควรลดระยะเวลาการอนุมัติข้อบังคับการทำงาน โดยประเทศไทยใช้เวลาในการอนุมัติให้เริ่มต้นธุรกิจถึง 27.5 วัน หากเทียบกับสิงคโปร์ที่ใช้เวลาเพียง 3วัน ซึ่งประเทศไทยต้องมีการปรับปรุงต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยขณะนี้กรมที่ดินกำลังรวบรวมข้อมูลการจัดเก็บรายได้เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาลดค่าธรรมเนียม ขณะเดียวกัน จะเร่งจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (one stop shop) สร้างระบบไอทีเชื่อมโยงทั่วประเทศ ด้วยระบบเดียวกัน เชื่อว่าเดือนหน้าจะเห็นผล เร่งทำการค้าระหว่างประเทศเป็น national single window และเพิ่มความคล่องตัวด้านการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งหวังว่าการสำรวจในปีต่อไป อันดับประเทศไทยจะดีขึ้น เหมือนกับมาเลเซียที่อันดับปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือ อยู่อันดับ 6 ในปีนี้ จากปีก่อนอยู่ในลำดับที่ 12

ก.พ.ร. จะดูงานในเชิงโครงสร้าง เพื่อปรับปรุงอันดับให้ดีขึ้น โดยจะดูแลการยกเครื่อง 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่
1. ระบบการรับและจ่ายเงินของรัฐบาลที่มีอยู่อย่างจำกัด
2. ระบบไอทีต้องเชื่อมโยงให้เป็นหนึ่งเดียว
3. การทำให้การค้าที่เชื่อโยงกันระหว่างประเทศมีความคล่องตัวมากที่สุด โดยมีกรมศุลกากร เป็นแม่ข่ายเรื่องนี้ ส่วนกระทรวงต่างๆ และอีก 35 กรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก สามารถทำเอกสารให้เป็นชุดเดียวผ่านอิเล็กทรอนิกส์
4. การลงทุน ทั้งไทยลงทุนในไทยหรือต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย ให้เกิดความคล่องตัวเพื่อลงทุนในการลงทุนในอาเซียน

ถ้าทำได้ 4 ข้อนี้ ไทยจะติด 10 อันแรก ภายใน 2 ปีแน่นอน

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผลการศึกษาในปีนี้พบว่า สิงคโปร์ยังคงรักษาแชมป์อันดับ 1 ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 8 ในขณะที่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงยังคงรักษาอันดับ 2 โดยประเทศอื่นๆ ที่ติดอันดับ 10 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) จอร์เจียนอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ

นายออกุสโต โลเปซ-คลารอส ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ และกลุ่ม ตัวชี้วัด กลุ่มธนาคารโลก เปิดเผยว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมและกฎระเบียบข้อบังคับที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการท้องถิ่นมากที่สุด ตามด้วย ฮ่องกง นิวซีแลนด์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ต่างติดอันดับ 1 ใน 10 อันดันแรกเช่นกัน และในปีนี้มีประเทศเศรษฐกิจในเอเชีย ตะวันออกและแปซิฟิก 15 ประเทศมีการปฏิรูปกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการอย่างน้อย 1 รายการส่วนจีนซึ่งไม่ค่อยพอใจที่อยู่ในอันดับ 91 เมื่อปีที่แล้ว

ที่มา :  แนวหน้า

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thai-aec ดูทั้งหมด

494

views
Credit : thai-aec


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน