แพทย์และพยาบาลความท้าทายในตลาดศูนย์กลางสุขภาพ AEC

การเปิดเสรีการค้าด้านบริการของอาเซียน ประกอบกับนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติของประเทศไทยประกอบกับนั้นมีประเด็นปัญหาด้านบุคลากรเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการแข่งขันในตลาดแรงงาน และการทําธุรกิจการลงทุนในด้านต่างๆ ประเทศไทยต้องมีการ เตรียมความพร้อมในด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง การลงทุนในมนุษย์เป็นการลงทุนด้านทรัพยากรที่สําคัญ โดยเฉพาะด้านการบริการทางการแพทย์ทางทันตกรรม ทางการพยาบาลเนื่องจากมีการลงทุนที่สูงและมีการอบรมขั้นสูงต่อเนื่องโดยต้องอาศัยร่างกายมนุษย์ประกอบการศึกษาและอบรม การพัฒนาทางเทคโนโลยีทางการแพทย์และยา ต่างก็มีต้นทุนที่สูงทั้งการลงทุนในภาคเอกชนและรัฐ อัตราค่าตอบแทนในภาครัฐที่ไม่สมดุลไม่สะท้อนต่อตลาดแรงงาน จึงเป็นประเด็นที่ทําให้เกิดความ ขัดแย้งในสังคมในปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติอันดับต้นๆ ของเอเชีย มีผู้ป่วยชาวต่างชาติมารับบริการรักษา พยาบาลไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคนโดยเฉลี่ย ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งมีส่วนสร้างรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ แต่มีความ จําเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบสุขภาพ และส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพตลอดจนส่งเสริมให้ภาคเอกชนและชุมชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุขนอกเหนือจากความจําเป็นที่จะต้องสนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือทรัพยากรด้านสุขภาพของประเทศมีอยู่อย่างจํากัด และปัจจุบันบุคลากรสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล มีความขาดแคลนในภาพรวม อีกทั้งมีการ กระจายตัวทางภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้การผลิตบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลเกือบทั้งหมดอยู่ในภาครัฐ ซึ่งได้รับงบประมาณจากเงินภาษีของแผ่นดิน บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล จึงมีพันธกิจหลักในการให้บริการสุขภาพเพื่อประชาชนคนไทยเป็นสําคัญ

อย่างไรก็ตาม การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติถึงแม้อาจมีส่วนทําให้แพทย์ไทยที่ทํางานต่างประเทศจํานวนหนึ่งกลับเข้ามาทํางานในประเทศไทย ขณะเดียวกันนโยบายนี้และระบบที่เป็นอยู่ทําให้เกิดการดึงแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาล ที่เป็นโรงเรียนแพทย์ไปสู่สถานพยาบาลในภาคเอกชน ส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาล การเรียนการสอน และภาระงานในภาครัฐ

ในปัจจุบัน การเปิดเสรีทางการศึกษาและบริการสุขภาพและการย้ายถิ่นให้บริการทางวิชาชีพระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นยังมีขอบเขตจํากัด มีการกีดกันภายในประเทศ นอกเหนือจากอุปสรรคในประเทศปลายทางด้านภาษาและปัญหาเกี่ยวกับ ข้อตกลงในสัญญาว่าจ้าง ในขณะเดียวกันสําหรับในประเทศไทยในฐานะประเทศต้นทางนั้น ความต้องการในการโยกย้ายถิ่นฐานไปให้บริการในต่างประเทศยังไม่ใช่กระแสหลัก เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งที่สําคัญได้แก่ความต้องการทํางานเพื่อ รับใช้คนในชาติยังเป็นจุดยืนสําคัญของบุคลากรทั้งทางการแพทย์และพยาบาล ความรู้สึกว่าไม่ต้องการแยกจากครอบครัว ยังคงพบได้ทั่วไป ข้อจํากัดด้านความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานนอกประเทศ และอายุ ทั้งนี้หลักสูตรและเงื่อนไขภายหลังจบการศึกษาของไทย ยังไม่เอื้อต่อการแข่งขัน เชิงธุรกิจการศึกษาระดับภูมิภาคเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งสําคัญอย่างสิงคโปร์หรือฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ตาม ในการเตรียมความพร้อม ที่เหมาะสมรองรับการเปิดเสรีการค้าบริการของอาเซียนและการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติของไทยพบว่า กลุ่มผู้จ้างงานต้องการให้บุคลากรทั้งทางการแพทย์และพยาบาลของไทยมีทักษะและองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการรักษาและบริการ มีทักษะด้านภาษาและ การสื่อสารที่ดีเข้าใจกฎหมาย มีพฤติกรรมในการให้บริการที่ดีและที่มีจรรยาบรรณ ในขณะที่กลุ่มผู้ผลิตบุคลากรทั้งทางการแพทย์และพยาบาลของไทยเห็นว่า การเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมรองรับการเปิดเสรีการค้าบริการของอาเซียนและการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติของไทยจําเป็นต้องเน้นที่การปรับปรุงหลักสูตรตามมาตรฐานสากล และการเป็น Thailand Nursing Education Hub ส่วนกลุ่ม

นักศึกษาแพทย์และพยาบาลวิชาชีพ เห็นว่า ในการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมรองรับการเปิดเสรีการค้าบริการของอาเซียนและการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติของไทยนั้น ต้องการผู้รู้มาชี้แนะช่องทาง ให้เห็นโอกาสที่ดีกว่าของความเป็นนานาชาติและการพัฒนาภาษาอังกฤษของผู้ให้บริการวิชาชีพนี้

ข้อค้นพบข้างต้นเป็นผลจากวิธีวิจัยแบบผสม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยการวิจัยเชิงคุณภาพได้ใช้ข้อมูลทั้งในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิประกอบด้วยการวิจัยเอกสารและการวิจัยภาคสนามรวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมระดมสมอง ในโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาและการผลิตบุคลากรในการให้บริการสุขภาพเพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียนภาคการค้าบริการ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 5 ประการคือ

1.เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานด้านแนวทางและกรอบกติกาการเปิดเสรีทางการศึกษาและการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของบุคลากร การบริการสุขภาพด้านการแพทย์และพยาบาลในกรอบความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (AFAS)

2.เพื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวทางการผลิตบุคลากรวิชาชีพทางการแพทย์และพยาบาล ของสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขัน

3.เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยดึงดูดในประเทศไทยที่มีผลต่อการเข้ามาให้บริการทางวิชาชีพของแพทย์และพยาบาลต่างชาติรวมถึงการวิเคราะห์ปัจจัยผลักในประเทศไทยที่ส่งผลต่อการออกไปแข่งขันให้บริการทางวิชาชีพในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นของแพทย์และพยาบาลไทย

4.เพื่อศึกษาแนวทางทางการเตรียมความพร้อมของสถาบันการศึกษาและหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการแพทย์และพยาบาลของไทยรองรับทางการเปิดเสรีทางการศึกษาและการบริการสุขภาพ

5.เพื่อเสนอแนวทางเชิงนโยบาย ต่อการปรับตัวของสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์และพยาบาลของไทยรองรับตลาดแรงงานทางวิชาชีพด้านบริการสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปในบริบทการเปิดเสรีทางการศึกษาและการบริการสุขภาพของประชาคมอาเซียน

โดย : พัชราวลัย  วงศ์บุญสิน และคณะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยฝ่ายนโยบายชาติ และความสัมพันธ์ข้ามชาติ สกว.

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thai-aec ดูทั้งหมด

796

views
Credit : thai-aec


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน