ค้าชายแดนช่องทางอนาคตเศรษฐกิจไทย ในอาเซียน

ในการเปิด AEC แน่นอนว่าย่อมมีทั้งผลดีและผลเสียแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เชื่อว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องย่อมไม่ยินดีที่จะเห็นประเทศของตนเสียเปรียบแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เชื่อว่า ผู้เกี่ยวข้องจะมีการเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงไว้โดยเฉพาะในเรื่องของภาษา ที่เป็นตัวกลางหลักในการสื่อสารระหว่างกัน

แต่หากหันกลับมามองในเรื่องความได้เปรียบของประเทศไทยในตอนนี้สิ่งแรกก็คือ ความได้เปรียบของประเทศไทย ในด้านภูมิประเทศ เพราะประเทศไทยถือว่ามีทําเลที่ตั้งอยู่ในจุดซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้มีพื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยทางด้านทิศเหนือ และตะวันตก ติดต่อกับเมียนมาร์ตะวันออกติดกับ สปป.ลาว และกัมพูชา ทิศใต้ติดกับมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่ดีสําหรับด้านโลจิสติกส์ที่นอกจากจะเชื่อมต่อไปประเทศเพื่อนบ้านได้แล้ว ยังเชื่อมไปยังประเทศที่ 3 อย่าง จีน อินเดีย เวียดนาม สิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ได้อีกด้วย

ในขณะเดียวกันสินค้าหลายชนิดของประเทศไทย ก็เป็นที่ยอมรับจากทั้งในอาเซียนและทั่วโลกเพราะคุณภาพ มาตรฐาน ของสินค้าที่มีภาพลักษณ์ที่ดีทําให้ได้รับความนิยมในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก จึงไม่แปลก หากได้เดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านแล้วจะเห็นสินค้าไทยหลายชนิดวางจําหน่ายอยู่ในชั้นวางของตามร้านค้าต่างๆ โดยสินค้าที่ได้รับความสนใจส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภค บริโภคโดยเฉพาะอาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ได้รับความนิยมมาก

สําหรับการค้าชายแดนของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ (มาเลเซีย-เมียนมาร์-สปป.ลาว-กัมพูชา) ในปี 2557 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1,100,000 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกที่สําคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์น้ำมันเบนซิน เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และผ้าผืน เป็นต้น ขณะที่สินค้านําเข้าที่สําคัญของประเทศไทยได้แก่ก๊าซธรรมชาติโคกระบือสุกรแพะแกะสัตว์น้ำ ไม้ซุง พืชน้ำมันและผลิตภัณฑ์เป็นต้น

อีกทั้งจะเห็นได้ว่าทางรัฐบาลยังได้เลือกพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก ช่วงปี 2558-2559โดยเลือกประตูการค้าหลักที่มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนสูงสุดของประเทศไทย และอาจเรียกว่าเป็นเมืองหน้าด่านรองรับการเข้าสู่ AEC 5 พื้นที่การค้า จาก 12 พื้นที่ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้แก่ ด่านศุลกากรแม่สอด อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งติดกับประเทศเมียนมาร์ ด่านศุลกากรอรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ และ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ติดกับประเทศกัมพูชา, ด่านศุลกากรบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ติดกับประเทศกัมพูชา, ด่านศุลกากรมุกดาหาร อ.เมืองอ.หว้านใหญ่ และ อ.ดอนตาล ติดกับ สปป.ลาว และด่านศุลกากรสะเดา ด่านปาดังเบซาร์อ.สะเดาจ.สงขลา ซึ่งติดกับประเทศมาเลเซีย

โดยล่าสุดรัฐบาลและหอการค้าไทย เริ่มผลักดันด่านแม่สอด-เมียวดีเป็นจุดนําร่องไปบ้างแล้วและเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ก็เป็นการเริ่มต้นที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนด้านการปฏิบัติของเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ยังคาดว่าภายในปี 2558 ภูมิภาคอาเซียนจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษรวมทั้งสิ้น 60 แห่ง โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษประมาณ 54 แห่ง จะตั้งอยู่ในประเทศ สปป.ลาว และกัมพูชา

ที่มา :  อัมพิกา ศรีโพธา

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thai-aec ดูทั้งหมด

803

views
Credit : thai-aec


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน