หลากทรรศนะ - พัฒนาไทยสู่ยุคอาเซียนภิวัตน์

 

 

UploadImage

ปี 2558 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งประเทศไทยได้มีการศึกษา วิเคราะห์ และพูดคุยเพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมในหลายด้านเพื่อหาแนวทางและทิศทางในการกำหนดยุทธศาสตร์ อาทิ
  นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนระยะแรกจะเกิดปัญหาหลายด้าน จึงจำเป็นต้องมีกรอบข้อบังคับและข้อตกลงร่วมกัน สำหรับประเทศไทยนั้นได้เปรียบในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการคมนาคม เห็นได้จากผู้นำหลายประเทศต่างพุ่งเป้ามายังประเทศไทย แต่ไทยติดปัญหาเรื่องความพร้อมและปัญหาด้านภาษา ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านนอกจากพูดภาษาอังกฤษได้แล้วยังสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ด้วย ในขณะที่ไทยไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาเขมร ลาว หรือเวียดนามได้ ดังนั้น คนไทยควรเริ่มศึกษาภาษาประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม โดยเฉพาะภาษาจีน เพราะต่อไปจีนจะเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจโลก
  นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ยุทธศาสตร์ไทยจะอยู่บริเวณชายแดนจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งลักษณะทางภูมิศาสตร์เมื่อรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วจะอยู่ใกล้ทะเลแทบทุกจุด ไทยอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศที่มีพลัง เป็นประเทศมหาอำนาจในอนาคตคือ ประเทศจีนและประเทศอินเดีย และยังสามารถกระจายการค้า การลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว พม่า เวียดนามได้อีกด้วย ดร.วิทยา อินาลา สมาชิกวุฒิสภา รองประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ กล่าวถึง ๓ เสาหลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า ประกอบด้วยประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจการค้าที่จะต้องมีอำนาจการต่อรอง ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญ สำหรับประเทศไทยเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วจะต้องพบกับปัญหาอย่างแน่นอน
  นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สิ่งที่ตามมาหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนประเด็นแรกคือจะเกิดการย้ายถิ่น ประชากรจะเข้ามาหาอาชีพมากขึ้น ประเด็นที่สอง จะเกิดความขัดแย้งขึ้น โดยเฉพาะตามเส้นชายแดนซึ่งเป็นความขัดแย้งสะสมทั้งบนบกและทะเล โดยเฉพาะปัญหาชายฝั่งทะเลที่จะเพิ่มมากขึ้น ทางแก้คือ การใช้ความร่วมมือของภาคประชาชนที่อยู่ร่วมกัน โดยไม่มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์จากภาครัฐ
  ทางด้าน ดร.ภูวนิดา คุนผลิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานกรรมการที่ปรึกษาด้านต่างประเทศของประธานรัฐสภา ให้ข้อมูลว่า การรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีการวางยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนประเทศ 8 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน
  -เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้า บริการ และการค้า การลงทุน โดยเฉพาะการขยายโอกาสด้านการผลิต
  -การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองทางสังคม เป็นแรงจูงใจให้มีแรงงานจากเพื่อนบ้านไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น สะท้อนว่าไทยจะไม่ขาดแคลนแรงงาน
  -การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ระบบการคมนาคม
  -การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยพัฒนาด้านภาษา พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และขยายหลักสูตรอาเซียนในสถาบันการศึกษา
  -การพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบ การปรับรูปแบบและศึกษาการร่างกฎหมายเพื่อให้สอดรับกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
  -การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความเป็นประชาคมอาเซียน
  -การเสริมสร้างความมั่นคง การร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติร่วมกัน เพื่อป้องกัน แก้ไข และลดความรุนแรง ความเสียหายในกลุ่มอาเซียน
  -การเพิ่มศักยภาพของเมือง เพื่อเชื่อมโยงโอกาสจากการรวมประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะเมืองที่มีขอบเขตติดชายแดน ที่เรียกว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษอาเซียน ยุทธศาสตร์พัฒนาไทยสู่ยุคอาเซียนภิวัตน์ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างแน่นอน   เรียบเรียงโดย พรรณี ตั้งใจสถาปัตย์ ส่วนการประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ eduzones ดูทั้งหมด

2454

views
Credit : eduzones


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน