จับตาอนาคต อุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยวพม่า
นับตั้งแต่พม่าเปิดประเทศและอานิสงส์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจพม่าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพม่ามากขึ้น ในบรรดาธุรกิจที่มีศักยภาพการลงทุนในพม่า ธุรกิจท่องเที่ยวนับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน
ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของภาคการท่องเที่ยวของพม่าอย่างแท้จริง ปี 2551 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 193,000 คน เพิ่มขึ้นเป็น 391,000 คนในปี 2554 เฉลี่ยร้อยละ 26.5 ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2552-2554 และในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเยือนพม่ากว่า 1 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 534 ล้านดอลลาร์ (ราว 16,020 ล้านบาท)เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าพม่า ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเอเชีย ได้แก่ จีน ไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมีประมาณร้อยละ 66.4 โดยผ่านด่านที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และพุกาม มีระยะเวลาเฉลี่ยของการเข้าพักคือ 11 วันและมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ทั้งนี้ไม่รวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ข้ามชายแดนการที่พม่าปิดประเทศมานาน ส่งผลให้พม่าเป็นประเทศที่มีความโดดเด่น ในเรื่องการมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมในเชิงพุทธศาสนา ปัจจัยบวกที่สนับสนุนความน่าลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพม่านั้น มีหลายประการ เป็นต้นว่า รัฐบาลพม่ามีนโยบายเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว อาทิ การสนับสนุนแพ็คเกจทัวร์ในหลายเมืองของประเทศในราคาประหยัดการให้บริการขอวีซ่าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต(E-Visa) การเร่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่การเปิดสายการบินและเส้นทางบินใหม่
รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวให้ได้ร้อยละ 7 ต่อปี ดังนั้นจึงเร่งการพัฒนาบุคลากร สถานที่ท่องเที่ยว ระบบคมนาคมขนส่ง และการโรงแรมเมืองที่น่าลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น ย่างกุ้ง หงสาวดี พุกาม มัณฑะเลย์ ทะเลสาปอินเล สามเหลี่ยมทองคำ เมาะละแหม่งเมืองตากอากาศชายทะเล เกาะสองแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และส่งเสริมสุขภาพ เมืองตานต่วยที่มีหาดงาปาลีเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ เมืองพีนอูหวิ่นเมืองตากอากาศในอดีตของชาวอังกฤษ มีสภาพอากาศที่ดีคล้ายยุโรป
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญคือจำนวนโรงแรมและที่พัก เนื่องจากในช่วงปี 2556-2558 นี้พม่าจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน การแข่งขันซีเกมส์และการประชุมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ คาดว่าความต้องการที่พักจะสูงขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนโรงแรมที่พักให้เพียงพอต่อความต้องการและรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในเดือนพ.ย.ไปจนถึงมี.ค.ปีถัดไปห้องพักในโรงแรมที่ได้มาตรฐานไม่เพียงพอต่อความต้องการ
จากข้อมูลของทางการพม่าระบุว่า ปัจจุบันพม่ามีโรงแรมที่ต่างชาติลงทุนมากกว่า 36 แห่งซึ่งบางส่วนกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง มีห้องพักทั้งสิ้น 28,291 ห้อง ในจำนวนนี้8,000 ห้องอยู่ในนครย่างกุ้ง ซึ่งได้มาตรฐานสากลเพียง 1 ใน 4 โดยเขตโรงแรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในกรุงเนปิดอว์ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค ยะไข่ เมาะละแหม่ง พุกาม ตองยี ชองตา สามเหลี่ยมทองค า และเงวซอง ซึ่งทางการพม่าวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนเขตโรงแรมที่พักและร่วมพัฒนาโครงการโรงแรมให้ได้มาตรฐานสากลกับบริษัทต่างชาติพม่านั้นยังขาดโรงแรมที่มีคุณภาพดีและให้บริการครบวงจร เช่น สปา ฟิตเนส และร้านขายสินค้าที่ระลึก เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนไทยมีความชำนาญอยู่แล้ว
จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของพม่ามีแนวโน้มที่สดใสและนับว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจของธุรกิจท่องเที่ยวไทยและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ที่จะไปลงทุนในพม่าในช่วงเวลาภายใน 3 ปีนี้แม้โอกาสทางธุรกิจในพม่ายังมีอยู่มาก แต่ปัจจุบันยังมีข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการตัดสินใจลงทุนน้อย ต้นทุนในการลงทุนที่สูง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจยังไม่มี
อย่างไรก็ตาม ในอีก 3 ปีข้างหน้าทุกอย่างจะค่อยๆ คลี่คลายไปในทางที่ดี หากไม่เข้าไปลงทุนในช่วงเวลานี้ ต่อไปอาจจะต้องเจอคู่แข่งที่น่ากลัวมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา : จิราวดี รัตนไพฑูรย์ชัย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)