สำรวจความเป็นไทยกลางกระแสอาเซียน
เครือข่ายเยาวชนนักศึกษาอาเซียนแห่งประเทศไทยได้จัดเสวนาหัวข้อ “ต่อให้นานเพียงใด ไทยแท้ก็ยังคงเป็นไทยแท้?
“กนกรัตน์ เลิศชูสกุล” อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็นชวนคิดว่า คนไทยควรทำความเข้าใจกับความเป็นไทยจากแง่มุมที่หลากหลาย เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความเชื่อแบบยกยอตัวเอง วางตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทั้งที่ความเป็นไทยก็เป็นมรดกจากการสร้างรัฐชาติใหม่หลังตะวันตกแผ่อิทธิพลเข้ามา ซึ่งความเข้าใจเรื่องนี้จะช่วยทำให้เข้าใจเพื่อนบ้านและยอมรับสิ่งที่เขาเป็นซึ่งจะทำให้อยู่ร่วมกันได้
โดยอธิบายว่า เมื่อก่อนนี้บริเวณที่เรียกว่าสุวรรณภูมิประกอบด้วยอาณาจักรและเมืองใหญ่น้อยอยู่ร่วมกันมากมาย ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบรักสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว แต่ผลัดกันมีอิทธิพลเหนือกันและกัน ขณะที่ศูนย์กลางของอาณาจักรมีอำนาจจำกัด ซึ่งอำนาจจะแผ่วเบาลงตามระยะทางที่ไกลออกไป
แนวคิดนี้ตรงข้ามกับความเข้าใจในปัจจุบันที่รัฐมีอำนาจหนึ่งเดียว ซึ่งมาพร้อมเทคโนโลยีการเขียนแผนที่ของตะวันตก ทำให้การตีเส้นแบ่งประเทศเป็นมรดกจากยุคอาณานิคม ความเป็นไทยเริ่มเกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อฝรั่งเศสและอังกฤษพยายามขีดเส้น ประเทศให้เกิดความเป็นรัฐชาติในพื้นที่นี้
แม้ไทยจะไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของเจ้าอาณานิคม แต่ก็รับแนวคิดนี้มาและเมื่อตะวันตกออกไปแล้วไทยก็ไม่ได้กลับมาเป็นรัฐแบบเก่า ยังคงมีวิธีคิดที่จะเป็นรัฐแบบอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นรัฐชาติแบบใหม่ที่กลุ่มชนชั้นนำพยายามสร้างให้ทุกอย่างเป็นไทยตั้งแต่อาหารไทย ขนมไทย ชุดไทยซึ่งความเป็นไทยนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ ไม่ได้เกิดมาดั้งเดิมและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา รวมทั้งอาจหายไปหากไม่สอดคล้องกับสังคม
ดำรง พุฒตาล สื่อมวลชนและอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ปัจจุบันเราไม่ได้เป็นไทยแท้เหมือนในอดีต ดูจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น การแต่งกาย ใส่สูทแม้แต่ในงานแข่งขันกีฬา ขณะที่ลาวใส่ผ้าซิ่นที่มีเสน่ห์ความเป็นลาว หรือภาษาไทย ซึ่งแม้จะมีอักษรของตัวเอง แต่กลับใช้ภาษากันผิดๆ
“พรรณิการ์ วานิช” จากช่องวอยซ์ทีวี มองว่า สังคมไทยยังมีความเป็นชาตินิยมสูง และคนไทยมีความเข้าใจผิดๆ ต่ออาเซียน 5 ประการ ได้แก่
1. คนไทยคิดว่าตัวเองเป็นพี่ใหญ่ของอาเซียน ซึ่งอาจเป็นจริงในอดีตที่ไทยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง แต่ทุกวันนี้ผู้คนต่างก็นึกถึงสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย คนไทยต้องตื่นได้แล้ว
2.มักคิดว่าเพื่อนบ้านเห็นคนไทยเป็นแบบอย่างซึ่งแม้คนลาวและกัมพูชาจะชอบดูทีวีและใช้สินค้าไทยแต่ก็มีความรู้สึกไม่ชอบไทย
3. ยึดติดภาษาไทยเป็นหลักทั้งที่มีคนใช้อยู่แค่ 67 ล้านคน ดังนั้น จึงควรรีบเรียนภาษาอังกฤษหรือมลายู จะได้สื่อสารกับคนอื่นได้
4. เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนไทยจะเป็นศูนย์กลาง(ฮับ) ด้านต่างๆ แม้ในแง่ภูมิศาสตร์จะเป็นอย่างนั้นได้แต่การเป็นฮับก็ส่งผลทั้งดีและเสีย เราต้องรู้ว่าจะปรับตัวอย่างไร
5. หลงผิดว่ามหาวิทยาลัยของไทยดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียนที่อื่นหรือนิยมเรียนต่อที่สหรัฐอังกฤษ ทั้งที่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนหลายแห่ง
ที่มา : โพสต์ทูเดย์