ผลวิจัยเด็กเชียงใหม่พร้อมเข้าสู่อาเซียนแต่เรื่อง'ภาษา'ยังน่าห่วง

 

 

UploadImage

คณะสังคมศาสตร์ฯ ม.พายัพ เผยผลวิจัยเยาวชนเชียงใหม่มีความพร้อมเข้าสู่อาเซียนในระดับที่น่าพอใจ แต่ควรเสริมเรื่องภาษา ชี้การสร้างสภาพแวดล้อมในสถานศึกษามีส่วนสำคัญที่สุด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.วีรวรรณ  วงศ์ปิ่นเพ็ชร์  หัวหน้าสาขาวิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ เผยว่า  สาขาวิชาจิตวิทยา  คณะสังคมศาสตร์ฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษา  อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ในจังหวัดเชียงใหม่  จึงได้ทำงานวิจัยเรื่อง “ความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงสาเหตุของความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนของเยาวชน อ.เมือง จ.เชียงใหม่”  เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ความใฝ่รู้ใฝ่เรียน เจตคติต่อการเข้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนและความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนของเยาวชน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  รวมทั้งศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุของความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนของเยาวชน กลุ่มดังกล่าวอีกด้วย
           สำหรับผลการศึกษาพบว่า  กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 3 และระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ในสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,200 คนส่วนใหญ่เห็นว่าสถานศึกษาของตนมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในระดับมาก ทั้งในด้านของบรรยากาศของสถานศึกษา บุคลิกภาพและเทคนิคการสอนของครูอาจารย์ และหลักสูตรการเรียนการสอน นอกจากนี้เยาวชนในเขตอำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ ยังมีความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ทั้งองค์ประกอบของความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับอาเซียนและความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนผ่านเกณฑ์ ยกเว้นกลุ่มนักศึกษาอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)   ชั้นปีที่ 3 
          ด้านความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่มีการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านเทคโนโลยี ด้านการประกอบอาชีพและด้านสังคมวัฒนธรรมในระดับมาก ส่วนด้านภาษาพบว่ามีการเตรียมความพร้อมในระดับปานกลาง 
           ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงได้เสนอข้อเสนอแนะที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพและความพร้อมของเยาวชนเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น   เช่น  ผู้บริหารสถานศึกษาควรให้ความสำคัญกับการจัดสภาพแวดล้อมภายในสถานศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน ให้มากขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีผลต่อการรับรู้ของเยาวชนมากที่สุด  ควรกำหนดยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมของเยาวชนและจัดกิจกรรมเพื่อให้บรรลุตามแผนยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมของนักเรียน  นักศึกษา ในสถานศึกษาอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผล อาทิ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนหรือการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน จัดให้มีแหล่งสำหรับสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนด้วยสื่อและเทคโนโลยีที่น่าสนใจและทันสมัย  ส่งเสริมให้นักเรียน/นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
           ส่วนครูอาจารย์ก็ต้องมีความรู้ ทักษะ และความสามารถในด้านต่างๆ เพื่อให้พร้อมต่อการเข้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน ทั้งทางด้านภาษา ด้านเทคโนโลยี ด้านสังคมวัฒนธรรม  ควรมีการสอดแทรกเนื้อหาหรือจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรนอกหลักสูตรต่างๆ เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนในวิชาที่สอน
                 ที่น่าเป็นห่วงคือการเตรียมความพร้อมด้านภาษาของเยาวชนในอ.เมือง จ.เชียงใหม่ ยังอยู่ในระดับปานกลาง  ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานักเรียนนักศึกษาควรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมด้านภาษา ซึ่งอาจทำได้โดยการพัฒนาทักษะทางด้านภาษา เช่น การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน การเข้าค่ายร่วมกับเยาวชนของประเทศสมาชิกอาเซียน และการเรียนรู้ผ่าน ภาพยนตร์และสื่อต่างๆ  อย่างต่อเนื่อง   ซึ่งหากสามารถทำให้เป็นรูปธรรม มีการติดตามวัดผลอย่างสม่ำเสมอ  คาดว่าจะช่วยสร้างความตื่นตัวด้านการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนได้มากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เยาวชนชาวเชียงใหม่สามารถเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ที่กำลังใกล้เข้ามาถึงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน

ที่มา - ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยพายัพ

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ eduzones ดูทั้งหมด

762

views
Credit : eduzones


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน