โพลล์เผยคนกรุงเกินครึ่งไม่รู้AEC ย่อมาจากอะไร แถมกลัวถูกต่างชาติแย่งงาน
สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผยคนกรุงเกินครึ่ง หรือร้อยละ 54.28 ไม่ทราบว่า AEC ย่อมาจากอะไร 1 ใน 3 กลัวการถูกต่างชาติแย่งงานทำ เร่งพัฒนาทักษะด้านภาษา ฝีมือแรงงานมาก เพื่อเตรียมตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC นายศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความรับรู้ของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ระหว่างวันที่ 1-5 กรกฎาคม 2556 จำนวน 1,098 คน ในเขตกรุงเทพฯ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 54.28 ไม่ทราบว่า AEC ย่อมาจากอะไร นายศรีศักดิ์ กล่าวต่อว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกือบ 3 ใน 4 หรือคิดเป็นร้อยละ 74.41 ทราบว่า AEC จะเริ่มมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.36 ซึ่งมีจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีความพร้อมในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC แต่ร้อยละ 30.15 หรือประมาณเกือบ 1 ใน 3 ยังไม่มีความพร้อม นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 86.25 ระบุว่า AEC ในความเข้าใจของตนเองคือ การที่ประชาชนเดินทางไปลงทุน ดำเนินธุรกิจ หางานทำ หรือศึกษาต่อในประเทศอื่นๆ ในกลุ่มได้อย่างเสรี กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 83.42 และร้อยละ 81.15 ระบุว่า AEC ในความเข้าใจของตนคือ การที่รัฐบาลของประเทศในกลุ่มได้ต่อรองผลประโยชน์ในด้านต่างๆ และการที่รัฐบาลของประเทศในกลุ่มได้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจร่วมกัน ตามลำดับ สำหรับสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่าตนเองต้องพัฒนามากที่สุดเพื่อเตรียมตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC ได้อย่างมีคุณภาพคือ ทักษะทางด้านภาษา โดยคิดเป็นร้อยละ 35.79 รองลงมาคือทักษะทางด้านฝีมือแรงงาน คิดเป็นร้อยละ 17.94 และคุณวุฒิทางการศึกษา ร้อยละ 15.39 ส่วนผลดีที่กลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะได้รับเมื่อเข้าสู่ AEC คือ มีโอกาสหางานทำได้ง่ายขึ้น คิดเป็นร้อยละ 76.78 มีโอกาสได้ไปศึกษา/ทำงานยังประเทศอื่นในกลุ่ม AEC ได้ง่ายขึ้น คิดเป็นร้อยละ 75.68 และมีสินค้าและบริการให้เลือกได้มากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 74.59 ส่วนผลเสียที่กลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะได้รับเมื่อเข้าสู่ AEC คือ ถูกชาวต่างชาติจากประเทศอื่นในกลุ่ม AEC แย่งงานทำ ได้ใช้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพด้อยลง และรายได้จากการประกอบอาชีพลดลง โดยคิดเป็นร้อยละ 77.87 ร้อยละ 71.04 และร้อยละ 66.76 ตามลำดับ
เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ eduzones ดูทั้งหมด
581
views
Credit : eduzones
News