ข้อคิดจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่หงสาวดี ประเทศพม่า

ในการเก็บข้อมูลที่เมืองผาอัน (Hpa-An) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐกะเหรียง แต่การไปที่ผาอันนั้น ต้องผ่านเมืองพะโค หรือที่คนไทยรู้จักดีในนามของ “หงสาวดี” ซึ่งมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าของต่างประเทศมาลงทุน ในพะโคอยู่หลายโรง

เขตพะโคมีประชากรจำนวน 6 ล้านคน เฉพาะที่เมืองพะโคมีประชากร 3 แสนคน เมืองพะโคอยู่ห่างจากย่างกุ้ง 90 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์ 1.30 ชั่วโมง และจากพะโคไปเมืองพะยายี (Payagyi) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ของเขตพะโค ระยะทาง 20 กิโลเมตร จากพะยายีไปยังตะโถ่ง (Thaton) ระยะทาง 150 กิโลเมตร ตะโถ่งเป็นเมืองอยู่ในรัฐมอญ ก่อนที่จะไปที่พะโค ขอนำไปทำความรู้จักกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของพม่าว่าเป็นมาอย่างไร

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าของพม่าเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1990 ในระยะแรกๆ ของการพัฒนาอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของพม่า มีผู้เล่นอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มทุนจากรัฐบาลพม่าและกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลพม่าตั้ง Myanmar Textile Industry หรือ MTIซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจพม่า และตั้งบริษัทUnion of Myanmar Economic Holdings Limited หรือ UMEHLเพื่อทำการร่วมทุนกับกลุ่มทุนของเกาหลีใต้และฮ่องกง จึงไม่แปลกใจว่าทาไมปัจจุบันจึงมีบริษัทเกาหลีใต้ไปเปิดโรงงานผลิตเสื้อผ้าในพม่ามากมายหลายโรง ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวตลาดส่งออกหลักเสื้อผ้าจากพม่าคือ สหรัฐร้อยละ 65 ตามด้วยตลาดยุโรปร้อยละ 10 หลังจากนั้นช่วงปี 1994-1997 รัฐบาลพม่าได้อนุญาตให้บริษัทเกาหลีและฮ่องกงสามารถเข้าถือหุ้นได้ 100% ในช่วงระยะเวลานี้ตลาดส่งออกหลัก ยังคงเป็นสหรัฐ ร้อยละ 55 และตลาดยุโรปร้อยละ 30 และช่วงที่มีอัตราการขยายตัวมากที่สุด ถือได้ว่าเป็น “ยุคทองอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของพม่า” คือ ช่วงปี 1998-2001 บริษัทต่างชาติที่มีเข้าทำธุรกิจส่วนใหญ่เน้นการผลิตเสื้อผ้า “แบบ CMP (Cutting Making และ Packaging)” ตลาดส่งออกยังเป็นสหรัฐ ร้อยละ 45 และ ตลาดยุโรปร้อยละ 45

ช่วงนี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นของโรงงานการผลิตจำนวนมากถึง 400 โรง มีการจ้างแรงงาน 300,000 คน (ปัจจุบันเหลือเพียง 250 โรงงาน จ้างแรงงาน 30,000 คน) แต่หลังจากช่วงนี้แล้ว อุตสาหกรรมเสื้อผ้าของพม่าก็เข้าสู่ “ยุคตกต่ำ” เป็นเพราะถูกสหรัฐ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ สินค้าพม่าที่ส่งไปขายในตลาดสหรัฐ จึงเป็น “0 %” แต่ยังดีมียังขายในตลาดยุโรปได้อยู่ หลังจากถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ พม่าจึงหันมาให้ความสำคัญในตลาดเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น มูลค่าการขายในตลาดญี่ปุ่นจึงเพิ่มจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 60 ในปัจจุบัน

ปัจจุบันมีโรงงานเสื้อผ้าที่ตั้งอยู่พม่า ส่วนใหญ่ตั้งอยู่รอบๆ เมืองย่างกุ้ง เขตอิระวดี เขตพะโค และเขตกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ก็เพราะเหตุผลของการขนส่งที่ไม่ไกลจากท่าเรือย่างกุ้งมากนักในเขตพะโคมีโรงงานเสื้อผ้าทั้งหมด 7 โรงงาน ได้แก่ บริษัท Myanstarบ ริษัท Inlay Shoe บริษัท Sun Star บริษัท Peacock บริษัท Shinshung ทั้ง 4 บริษัทเป็นของนักลงทุนเกาหลี ส่วนอีก 2 บริษัทคือ บริษัท Cap1 และ Top Myanmar เป็นของนักลงทุนท้องถิ่นพม่า

โรงงานที่มีโอกาสเข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสและอุปสรรคของการลงทุนในพม่า ในฐานะนักลงทุนต่างชาตินั้น ก็คือ โรงงานเสื้อผ้าที่ชื่อว่า “Shinshung” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมพะโคเก่าสำหรับเขตอุตสาหกรรมพะโคใหม่นั้นห่างออกไปจากโรงงานเสื้อผ้าแห่งนี้ 5 กิโลเมตร ยังไม่มีโรงงานตั้งอยู่มีเพียงการปรับพื้นถนนเท่านั้น โรงงาน “Shinshung” แห่งนี้ มีคนงานจำนวน 1,300 คน ทุกตำแหน่งเป็นคนงานชาวพม่า ยกเว้นเจ้าของค่าจ้างที่บริษัทจ่ายให้กับคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ที่ 125 บาทต่อวัน นอกจากนี้บริษัทยังจัดการที่พักและบริการขนส่งในการเดินทางระหว่างบ้านกันโรงงานอีกต่างหาก

หากนักธุรกิจไทยต้องการลงทุนอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่เมืองพะโค ต้องคิดให้รอบด้าน เพราะขณะนี้ต้นทุนในการทำธุรกิจของพม่าสูงลิ่วมาก สิ่งที่เจ้าของโรงงานแห่งนี้ไม่ได้พูดก็คือ ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น 200-300 % แม้ว่าราคาที่ดินจะสูงมากขนาดนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาที่ดิน หากที่ดินไกลออกไปจากตัวเมือง ความไม่พร้อมด้านน้ำ การขนส่ง และไฟฟ้าก็จะเป็นปัญหาตามมา ทางออกก็ต้องลงทุนในเขตอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ปัจจุบันที่ดินในเขตอุตสาหกรรมไม่รู้พอจะเหลือให้ นักลงทุน SMEs ไทยหรือไม่ เพราะหน่วยงานราชการของพม่าบ่นว่า “นักธุรกิจไทยตัดสินใจช้า”

ที่มา : ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ศูนย์ข้อมูลการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thai-aec ดูทั้งหมด

685

views
Credit : thai-aec


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน