เข้าสู่AC 'สุรินทร์' ชี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิเคราะห์เป็น เชี่ยวชาญสาขาวิชา
ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ก้าวย่างที่มั่นคงของประเทศไทยกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยนในทศวรรษหน้า” ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการจัดตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อ 11 มิถุนายน 2556 รองศาสตราจารย์ ดร. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต้อนรับว่า การจัดปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้ จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีแห่งการก่อตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2546 มหาวิทยาลัยได้รับเกียรติอย่างสูงจากองค์ปาฐกที่มีประสบการณ์การทำงานในฐานะ ผู้กุมบังเหียนการสร้างประชาคมอาเซียนมาเป็นเวลา 5 ปี นับเป็นการเปิดมิติใหม่ทางวิชาการเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้านการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยกับภูมิภาค อาเซียนและสังคมโลกในอนาคต และเป็นการเปิดโลกทัศน์ ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในทศวรรษหน้า และเป็นแนวทางในการปรับตัว เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ที่จะส่งผลกระทบต่อองค์กรและสังคม ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวถึง “ประชาคมอาเซียน” ว่า มาจากความคิดทางการทูตของคนไทย คือ พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยในขณะนั้น การเข้าสู่ “ประชาคมอาเซียน” เป็นทั้งโอกาสและสิ่งท้าทาย แม้ว่าจะมีการเปิดเสรีในการประกอบอาชีพใน 8 สาขา คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก การท่องเที่ยว บัญชี และ นักประเมินทรัพย์สิน แต่ถ้าคนไทยขาดความพร้อมและขาดความสามารถก็จะไม่ได้ประโยชน์จากการรวมตัว ครั้งนี้ กลับทั้งยังเปิดโอกาสให้ชาติอาเซียนอื่นๆ เข้ามาแข่งขันในการประกอบอาชีพในประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาอีกเพียง 2 ปีก่อนการรวมตัวในปี 2558 คนไทยส่วนหนึ่งกลับเตรียมรับมือด้วยความ “ตื่นตระหนก” มากกว่า “ตื่นตัว” และยังขาดความพร้อมอยู่หลายด้าน เช่น ภาษาอังกฤษ ซึ่ง “ประชาคมอาเซียน” จะใช้เป็น “working language” หรือใช้ในการสื่อสาร การประชุม และกิจกรรมที่เป็นทางการอื่นๆ และความพร้อมในการออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่คือการต่อสู้ในเวทีประชาคมโลก ดร. สุรินทร์ กล่าวถึงการเตรียมตัวในการก้าวสู่ประชาคมอาเชียน นั้น ต้องปรับตัวในด้านต่างๆ สิ่งแรก ต้อง เปลี่ยนทัศนคติ เพื่อพร้อมออกไปหาโอกาส แสวงหาการลงทุนในเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน เป็นโอกาสของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ต้องไปลงทุนหาลูกค้ากลับเข้ามาในไทย ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวอย่างดียิ่ง ถัดมา ต้อง มีความเชี่ยวชาญเป็นเลิศในสาขาวิชานั้นๆ การอยู่รอดของประเทศต้องไปสู่เวทีภูมิภาคนอกประเทศ จึงต้องรีบเร่งเป็นเลิศให้ได้ในทุกสาขาวิชา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง และ ครู ที่จะต้องสร้างความพร้อม ความเป็นเลิศให้กับเด็ก รวมทั้งเด็กต้องพร้อมที่จะท้าทาย รู้จักคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ในการตัดสินใจ เป็นการเรียนแบบสอนให้คิดไม่ใช่เรียนแบบสอนให้จำ ต้องมีทักษะในการใช้ภาษาและการสื่อสาร ทั้งภาษาอังกฤษและภาษามลายู เพื่อการเจรจาต่อรองเป็นทุนทางสังคม ภาษาต่างประเทศเป็นภาษาที่สำคัญมากในเวทีอาเซียน และ เวทีโลก ต้องพูดให้ชัดเจน น่าเชื่อถือ มีน้ำหนัก โน้มน้าวผู้อื่นได้ ภาษาจีนก็สำคัญ ภาษามาลายู เป็นภาษาที่ใช้ในประชาคมอาเซียน เช่นกัน ต้องมีการเปลี่ยนวิธีการทำงาน ข้อมูลต่างๆ ต้องแบ่งปัน และบูรณาการเข้าหากัน สังคมและประเทศไทยจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด อีกทั้ง ระเบียบ วินัย กฏเกณฑ์ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ต้องโปร่งใสเป็นไปตามข้อตกลง ดำเนินการต่างๆ ต้องตรงไปตรงมา ตามสัญญาประชาคม ต้องรักษามาตรฐาน สังคมใดคิดว่าเงินและวัตถุเป็นมาตรวัด สังคมนั้นจะล่มสลายเนื่องจากต้องแสวงหาโอกาสอย่างไม่สิ้นสุด สุดท้าย ต้องมีความเสมอภาคในสังคม และ ความเสมอภาคในระบบเศรษฐกิจ อย่าให้เลื่อมล้ำกันมาก ให้โอกาสบนพื้นฐานของความเหมาะสมและถูกต้อง อย่ายอมจำนนต่อข้อจำกัดของชีวิตและอย่าเห็นความสำเร็จของผู้อื่นเป็นเรื่อง ยากที่ไม่สามารถก้าวตามได้ ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า การที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ต้องเตรียมสำหรับการประกอบอาชีพ มากกว่า 1 อาชีพ โดยพร้อมที่จะออกจากงานเดิมเพื่อไปทำในสิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่า และพร้อมในการทำหน้าที่หลายอย่าง หลายบทบาทพร้อมกัน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด มุมมอง และ การวิเคราะห์ ต้องมีความพร้อมและตั้งใจจริง ประเทศไทยเรามีอุตสาหกรรมเด่น อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ ท่องเที่ยว และ อาหาร ดังนั้นเราจะต้องมี ความพร้อม ก้าว กล้า เผชิญ และ ยิ้มได้ ในระบบพื้นฐานของเหตุและผล สอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ เรียนรู้ และ แก้ปัญหาได้ เตรียมพร้อมที่จะสามารถทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ภารกิจ พร้อมกันหลายอย่างได้ “ความ พร้อมที่กล่าวมานี้จะพบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายในอีกกี่ปีไม่ใช่เรื่อง สำคัญ เพราะไม่มีที่ใดที่เขียนพิมพ์เขียวแล้วสามารถก่อสร้างได้ในทันที แต่ขอให้ตื่นขึ้นและเริ่มก้าวเดินสู่จุดหมายเสียแต่บัดนี้ บนพื้นฐานของเหตุและผล ให้สมกับที่อยู่ในประเทศซึ่งเป็นเจ้าของความคิด ในการจัดตั้ง “ประชาคมอาเซียน” อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวในที่สุด
ข้อมูลโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ eduzones ดูทั้งหมด
555
views
Credit : eduzones
News