การก้าวเข้าสู่ AEC ผลกระทบที่ไม่มีใครบอก

อีกไม่กี่ปี ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หน่วยงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ต่างเร่งเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อรับการเปิดประเทศ แต่การเปิดประเทศเพื่อรับประชาคมอาเซียนนั้น ไทยเราใช่ว่าจะ “ได้” เพียงสถานเดียว เรื่องทุกเรื่องมี “ได้” ย่อมมี “เสีย” หลายคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “ประชาคมอาเซียน” หรือ “เอซี” (ASEAN Community) คืออะไร

ในเวที ASEAN Forum ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ การคุ้มครองทางสังคมกับอาเซียน : ข้อกังวล โอกาส และข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน

ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามองการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเพียงด้านเดียว คือด้านเศรษฐกิจ ทั้งที่ยังมีอีกถึงสองด้าน ให้เราต้องนึกถึง คือ ด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน และด้านสังคมและวัฒนธรรม แต่ก่อนที่เราจะก้าวเข้าไปเป็นAECอย่างเต็มตัวนั้น เราควรจะต้องเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ทำความเข้าใจถึงวัฒนธรรม ความแตกต่างในด้านต่างๆ ระหว่างประเทศในอาเซียนเสียก่อน

อาเซียนนั้นมีประเทศที่มีภูมิศาสตร์แตกต่างกันอยู่ 2 แบบคือ อาเซียนภาคพื้นทวีป อาทิ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอาเซียนภาคพื้นทะเล อาทิ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ซึ่งนอกจากจะมีความแตกต่างทาง ด้านภูมิศาสตร์แล้ว ยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องสมาชิกใหม่และสมาชิกเก่าอีกด้วย

การเป็นAECจะทำให้เกิดการไหลเวียนของสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงาน ซึ่งต้องถามต่อไปว่าเมื่อมีการไหลเวียนของสินค้า อย่างนี้ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ใคร เพราะสินค้าที่จะไหลเข้ามาก็คือด้านการเกษตรที่ราคาถูกกว่าสินค้าเกษตรภายในประเทศ แต่สินค้าที่จะไหลออกก็คือด้านอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรม ขนาดใหญ่” ผศ.ดร.บัญชรกล่าว และว่า รวมทั้งการไหลเวียนของการลงทุน เมื่อภาคธุรกิจสามารถย้ายการลงทุนได้อย่างอิสระ ก็ย่อมเลือกประเทศ ที่ค่าแรงถูกที่สุดเพื่อให้ต้นทุนราคาถูกที่สุด เรียกได้ว่าเป็นการย้ายทุนหาแรงงาน ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบต่อแรงงานไทยแน่นอน ซึ่งนอกจากจะกระทบแรงงานไร้ฝีมือแล้ว ยังกระทบถึงแรงงานฝีมืออย่างแพทย์ พยาบาล หรือสายสุขภาพ จากประเทศฟิลิปปินส์ก็เริ่มทยอยเข้ามาในไทยแล้ว

นอกจากนี้ ธุรกิจภาคSMEsนั้นน่าเป็นห่วงมาก เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น เป็นกลุ่มทุนย่อย ศักยภาพการแข่งขันน้อย เมื่อเทียบกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งยังมีความซ้ำซ้อนของสินค้าและบริการ ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ซึ่งที่ผ่านมาเรามองแต่การแข่งขันระหว่างประเทศในอาเซียน คิดว่าจะเอาชนะกันอย่างไร ซึ่งแค่คิดก็ผิดแล้ว แทนที่จะช่วยกันคิดว่าร่วมกันสู้กับภูมิภาคอื่นอย่างไร

หากเราหันกลับมามองโอกาสที่ชุมชนจะได้รับจะพบว่าเรามีโอกาส ทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย สินค้าเกษตรราคาถูกที่เข้ามาอาจทำให้เรา มีวัตถุดิบราคาถูก แต่เราจะสามารถพัฒนาและยกระดับได้หรือไม่ และ เรายังมีโอกาสได้แรงงานไร้ฝีมือในราคาถูกลงเพราะแรงงานจากประเทศ อื่นเข้ามาในไทยอย่างเสรีมากขึ้น

ดังนั้น เราควรใช้โอกาสนี้ในการเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่นใน อาเซียน เช่น เสริมสร้างความมั่นคงชุมชนตามแนวชายแดน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดีความเข้มแข็งก็จะตามมา ที่สำคัญอีกประการคือ เรื่องของคน ที่ต้องยกระดับชีวิตและความ เป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น รวมทั้งต้องใส่ใจต่อสุขภาวะ สวัสดิการต่างๆ นอก จากนั้นก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยมั่นคง ปราศจากสิ่งเสพติด

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธีชีววิถี กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์การเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา มีบางอย่างที่ทำให้อาเซียนต้องร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องมีความร่วมมือทางการเมืองบางอย่างร่วมกัน อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กล่าวคือ โลกของเรากำลังเข้าสู่ยุควิกฤตของ อาหารและพลังงาน ทวีปเอเชียกลายเป็นเป้าหนึ่งในการจัดการเรื่องพลังงานและเรื่องการใช้ที่ดินทางการเกษตรในระดับโลก การลงทุน ขณะนี้ไม่ใช่การเก็งกำไรในตลาดหุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นการเก็งกำไรในเรื่องการลงทุนด้านการเกษตรและอาหาร

จะเห็นว่าพื้นที่จำนวนมากของเอเชียเป็นพื้นที่สัมปทานการเกษตรของทุนต่างชาติ รองจากทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในลาวที่มีสถิติการครอบครองที่ดินของชาวต่างชาติสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งหากมองอีกด้านหนึ่งก็ เป็นโอกาสของภาคเกษตร แต่หากเราจัดการหรือฉวยโอกาสตรงนี้ไม่ได้ก็จะกลายเป็นโอกาสของบริษัทขนาดใหญ่ และอาจนำมาสู่การล่มสลายของเกษตรกรรายย่อยในที่สุด นอกจากนี้ เราต้องมองความแตกต่างในอาเซียนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเอง เราใช้ชุดความคิดว่าประเทศไทยผลิตข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ไม่มองความจริงว่า เกษตรกรที่ไร้ที่ดินเพิ่มขึ้น

วิไลวรรณ แซ่เตีย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานไทยไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในการเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งอยากให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบว่าทำข้อตกลงอะไรอย่างไรกับประเทศต่างๆ เพื่อให้ประชาชนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ถูก นักวิชาการบางคนบอกว่าจะเกิดผลกระทบแต่บางคนบอกว่าไม่ ปัญหาคือเราไม่รู้ รัฐบาลควรแก้กฎหมายให้เหมาะสม ในเรื่องข้อจำกัดต่างๆ ให้เหมาะสมกับวิถีที่จะมีการเปิดเสรี รวมทั้งจะทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิที่เหมาะสม ได้รับการดูแล ข้อเท็จจริงคือรัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน เราไม่มีพลังในการต่อรองกับภาครัฐ เท่ากับภาคธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลควรให้สัตยาบรรณ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติ ตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและร่วมเจรจาต่อรอง

ที่มา : มติชน

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thai-aec ดูทั้งหมด

533

views
Credit : thai-aec


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน