การหลั่งไหลอย่างเสรีของทักษะแรงงาน
เรื่องประชาคมอาเซียนนี้ ที่เก่ามากที่สุดในเมืองไทยก็แต่เรื่องเสาหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จนคนทั่วไปแทบลืมกันไปว่า ประชาคมหนึ่งเดียวของอาเซียนนั้น ประกอบด้วย 3 เสาหลักสำคัญ คือ เสาหลักประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม นี่เป็นประกาศชัดเจนในอารัมภบทที่ปรากฏอยู่ในกฎบัตรอาเซียน ต่อการพัฒนาสมาคมอาเซียนไปเป็นประชาคมอาเซียน คงจะต้องย้าอีกครั้งว่า แต่เดิมที่อาเซียนประกาศในการประชุมสุดยอดของอาเซียน ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ.2007 (2550) นั้น ตั้งเป้าหมายของกำหนดเวลาที่จะให้อาเซียนเป็นประชาคม เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 เปลี่ยนแล้ว เพราะเมื่อมีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ที่กรุงพนมเปญของกัมพูชานั้น มีประกาศของที่ประชุมนี้ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 นี้เองว่า ขอเลื่อนการเป็นประชาคมอาเซียนต่อไปอีกหนึ่งปี ซึ่งจะด้วยเหตุผลของความไม่พร้อม อย่างไรก็แล้วแต่ ท้ายสุดก็คือ ประชาคมอาเซียนเริ่มต้นในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 แล้ว
การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีจุดน่าสนใจหนึ่งที่เป็นเป้าหมายและเป็นหัวใจของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจ ก็คือแนวคิดสร้างประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียนให้เป็นตลาดหนึ่งเดียว เป็นฐานการผลิตหนึ่งเดียว และให้เกิดการหลั่งไหลอย่างเสรีของสินค้า บริการ และการลงทุน ที่สำคัญที่อยากพูดถึง ณ จุดนี้ คือการหลั่งไหลอย่างเสรีของฝีมือแรงงานจากจุดมุ่งหมายนี้เอง มีข้อตกลงในระหว่างอาเซียนด้วยกันที่เรียกว่า “ข้อตกลงร่วมกันด้านคุณสมบัติในสาขาวิชาชีพ” (Mutual Recognition Arrangement = MRA) ซึ่งตามข้อตกลงนี้ยอมรับให้มีการเคลื่อนย้ายอาชีพด้วยกัน 7 อย่าง คือ แพทย์ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักสำรวจ นักบัญชีและกำลังทำความตกลงเรื่องอาชีพการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาอีก
อาชีพต่างๆ ที่ตกลงร่วมกันนี้ จะไปทำงานได้อย่างเสรีในอาเซียน 10 ประเทศสมาชิกที่รวมตัวกันเป็นประชาคม มีอยู่สองสามกระบวนการง่ายๆ ที่ต้องดำเนินการไปตามข้อตกลงนี้ คือ
1.ต้องขึ้นทะเบียนวิชาชีพ (รับรองคุณสมบัติวิชาชีพ) ซึ่งอาจต้องมีการสอบมาตรฐานที่กำหนดในประเทศปลายทาง
2.ต้องได้รับอนุญาตทำงานในประเทศที่ไปทำงาน
3.ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศที่เข้าไปทำงาน
อย่างเช่นกรณีของประเทศไทย กำหนดวิชาชีพแพทย์ ต้องมีประสบการณ์ 5 ปี หรือพยาบาลต้องมีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้ว 3 ปี เป็นต้น จะสังเกตเห็นได้ว่า นอกเหนือจากกลุ่มอาชีพดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังไม่ได้รวมเอาเรื่องแรงงานทั้งระดับกลาง ระดับต่ำเข้าอยู่ในข้อตกลงร่วมกันด้านคุณสมบัติวิชาชีพ ซึ่งเป็นจุดน่าสนใจว่า จะเปิดให้เกิดการหลั่งไหลอย่างเสรีของทักษะแรงงานแล้วแรงงานเหล่านี้จะทาอย่างไร เพราะหากเมื่อไม่ได้อยู่ในข้อตกลงร่วมกันอย่างนี้ การเข้าไปทำงานต่างๆ ของแรงงานระดับกลาง หรือระดับต่ำ ก็คงต้องเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติแบบเดิมๆ นั่นเอง ส่วนแรงงานเหล่านี้ก็จะเข้าไปทำงานได้ โดยเป็นไปตามความต้องการแรงงานเหล่านี้ ในประเทศนั้นๆ ซึ่งก็จะผ่านกระบวนการขั้นตอนในแต่ละประเทศที่จะไปทำงาน คือในที่สุดก็จะต้องได้รับใบอนุญาตให้ทำงานก่อนนั่นเอง ใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศนั้น ส่วนใหญ่เป็นกระบวนการยุ่งยาก และมักจะมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่เสมอๆ เช่นต้องผ่านนายหน้าที่ส่งแรงงานไปต่างประเทศ ซับซ้อนไปถึงขั้นโกงค่านายหน้าและเป็นจุดหนึ่งของคอร์รัปชั่นการออกใบอนุญาตไปด้วย
ประเด็นของกลุ่มอาชีพที่ทำความตกลงด้านคุณสมบัติวิชาชีพนั้น ดูว่าไม่น่ามีปัญหามากนัก หรือหากจะมีจะเป็นปัญหาอันจะเกิดการไหลออกของกลุ่มอาชีพทั้ง 7 หรือ 8 กลุ่มนี้ ซึ่งก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ ตื้นๆ คือได้เงินเดือนมากกว่าที่ตัวเองทาอาชีพนั้นอยู่ในประเทศของตัวเอง แต่สำหรับกลุ่มแรงงานระดับกลาง และแรงงานระดับต่ำนอกจากปัญหาดังกล่าวข้างต้น จะมีปัญหาเรื่องทักษะของแรงงานกลุ่มนี้ โดยเฉพาะคือจะมีปัญหาเรื่องภาษา คือภาษาอังกฤษซึ่งประชาคมอาเซียนตกลงให้เป็นภาษากลางของอาเซียน เริ่มต้นแค่เรื่องภาษา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ก็เอาไปรับประทานก่อนเรียบร้อยแล้ว
ตรงจุดนี้จึงมีคำถามว่า ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น หน่วยงานหรือองค์กรใด ควรรับผิดชอบจัดการต่อยอด เพิ่มเติม เสริมทักษะให้กับกลุ่มแรงงานทั้งระดับกลาง และระดับล่าง เพื่อที่จะให้เขาไปทำงานได้อย่างเสรีในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน หน่วยงานด้านการศึกษา เช่น สถาบันอาชีวศึกษาหรือภาคเอกชน หรือหน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นเล่า มีการเตรียมการ มีการเตรียมพร้อม ในเรื่องนี้ได้อย่างไร และวางแผนวางยุทธศาสตร์สร้างทักษะแรงงานเข้าสู่บูรณาการของประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียนแล้วอย่างไรบ้าง
จุดอ่อนแอและอุปสรรคอย่างหนึ่งของประเทศไทยก็คือความอ่อนแอของระบบการศึกษา ที่ไม่ว่าจะปฏิรูปกันอย่างไรแต่คุณภาพการศึกษาของไทยก็ยังต่ำเตี้ยไล่เลี่ยประเทศเพื่อนบ้านไม่ทัน และด้วยเหตุนี้หรือไม่ที่ประเทศไทย ก็ยังไม่สามารถจัดการบริหารการศึกษา ให้เกิดสัมฤทธิผลได้อย่างน่าพอใจ ปัญหาระยะยาวจะเกิดขึ้น คือไทยผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ทัน
เหตุที่ค้นพบว่า คุณภาพการศึกษาของคนไทยยังต่ำอยู่นี้เอง เป็นสาเหตุอีกด้านหนึ่งหรือไม่ ที่พลอยทำให้เห็นกันว่าคุณภาพของการอาชีวะศึกษาของไทยโดยทั่วไป อ่อนแอพร้อมกันไปด้วย และจุดนี้หรือเปล่าที่พลอยทำให้การผลิตบุคลากรที่เป็นแรงงานระดับกลาง และระดับต่ำ ด้อยคุณค่าด้อยคุณภาพลงไปด้วยและทำให้ขาดแคลนแรงงาน ไม่มีงานทากัน สภาพเหล่านี้ ยังมองเห็นและยังเป็นอยู่ กลายเป็นจุดด้อยจุดหนึ่งและเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงกับการเตรียมตัวเตรียมพร้อมสู่การเป็นประชาคมที่เป็นเสาหลักเศรษฐกิจของอาเซียน
ที่มา : สยามธุรกิจ